“อำนาจที่ยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง”
ในปี ค.ศ.1944 ทอมมี่ ฟาวเวอร์ วิศวกรชาวอังกฤษสร้าง “โคลอลซัส” ดิจิทัลคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลก โดยมีจุดประสงค์เพื่อถอดรหัสลับการสื่อสาร ระหว่างฮิตเลอร์และกลุ่มนายพลที่กองบัญชาการใหญ่แห่งแวร์มัคท์

ทอมมี่ ฟาวเวอร์ (Tommy Flowers) | alumni.gre.ac.uk
“อำนาจการคำนวณ” ที่ยิ่งใหญ่ของโคลอลซัสนี่เอง ทำให้โลกต้องพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูลขึ้นมาใหม่
ในปี ค.ศ.1977 โลกได้รู้จักกับระบบ RSA ออกโดยมหาวิทยาลัยแมสซาซูเซตส์หรือ MIT ซึ่งใช้เป็นรากฐานความปลอดภัยดิจิทัลจนถึงปัจจุบัน

คอมพิวเตอร์โคลอลซัส (Colossus) | Britannica
จะเห็นว่า สิ่งแรกที่เกิดขึ้นในยุคดิจิทัล คือ ‘การทำลายล้างระบบความปลอดภัยข้อมูล’ ในยุคก่อนหน้า
คำถามคือ เมื่อเราผ่านยุคดิจิทัลเข้าสู่ยุคควอนตัม ระบบ RSA หรือระบบอื่นๆ ที่ใกล้เคียง จะถูกทำลายเช่นเดียวกันหรือไม่
คำตอบคือ “ใช่”
ในยุคดิจิทัล คอมพิวเตอร์ทำงานบนระบบเลขฐานสอง ที่ไม่เป็น 0 ก็เป็น 1
ส่วนในยุคของควอนตัม คอมพิวเตอร์จะถูกสร้างใหม่โดยอาศัยฟิสิกส์ควอนตัม และสามารถเก็บข้อมูลที่เป็น 0 และ 1 ในเวลาเดียวกันได้

คอมพิวเตอร์ vs ควอนตัมคอมพิวเตอร์ | The Stated Truth
คุณสมบัติที่แปลกประหลาดนี้ ทำให้ควอนตัมคอมพิวเตอร์สามารถแก้ปัญหา “บางอย่าง” ได้เร็วกว่าคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันเป็นทวีคูณ
โชคร้ายว่าการแฮกระบบ RSA ก็เป็นหนึ่งในปัญหานั้น
ระบบบล็อกเชนและบิตคอยน์ตั้งอยู่บนระบบความปลอดภัยที่เรียกว่า Elliptic Curve Cryptography ซึ่งแตกต่างจาก RSA อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ.2003 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู ประเทศแคนาดา ได้พิสูจน์ว่า Elliptic Curve นั้นสามารถแฮกได้ โดยใช้ควอนตัมอัลกอริทึมเดียวกับที่ใช้แฮก RSA แถมยังแฮกง่ายว่าเกือบสองเท่า!
ดังนั้น ถ้าวันนี้เรามีควอนตัมคอมพิวเตอร์อยู่ในมือ เราจะสามารถแฮกบิตคอยน์ได้สองแบบ คือ “แบบเล็กๆ” และ “แบบใหญ่ๆ ”
“แบบเล็กๆ” คือการแฮกระดับตัวบุคคล ซึ่งทำได้โดยใช้ควอนตัมคอมพิวเตอร์ในการขโมยสิ่งที่เรียกว่า private key หรือ “รหัสลับส่วนบุคคล” จากนั้นใช้ private key นี้ ในการแสดงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของบิตคอยน์ แทนเจ้าของที่แท้จริง
พูดถึงตรงนี้ คอบิตคอยน์บางท่านอาจแย้งว่า การได้มาซึ่ง private key นั้นไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะต้องผ่านระบบความปลอดภัยอีกหลายขั้น ไม่ว่าจะเป็น hash function, การเปลี่ยน address และอื่นๆ อย่างไรก็ตามระบบเหล่านั้น ก็ “เอาไม่อยู่” เมื่อควอนตัมคอมพิวเตอร์สมบูรณ์แบบเพียงพอ โดยท่านที่สนใจสามารถศึกษาได้จากรายงานเรื่อง “ควอนตัมคอมพิวเตอร์และบิตคอยน์ บล็อกเชน”
ของบริษัทดีลอยต์ ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านการเงินชั้นนำของโลก
การแฮกแบบที่สอง หรือ “แบบใหญ่ๆ” คือการแฮกแบบ “ล้มกระดาน” ซึ่งการจะเข้าใจการแฮกแบบนี้ ผู้อ่านจำเป็นต้องเข้าใจการทำงานของบล็อกเชนเสียก่อน
บล็อกเชนคือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จำลองระบบ ซึ่งประกอบไปด้วยกล่องที่เรียงต่อกันเป็นแถว โดยแต่ละกล่องจะเก็บข้อมูลการโอนย้ายบิตคอยน์ หรือ “transactions” ทั้งหมดในระบบที่เวลาหนึ่งๆ นอกจากนี้ผู้ใช้งานบิตคอยน์แต่ละคนจะต้องเก็บข้อมูลของกล่องทั้งหมดไว้ นั่นหมายความว่าคนคนหนึ่งไม่สามารถแก้ไขข้อมูลในกล่องได้ เนื่องจากจะ “โดนตรวจสอบ” จากคนอื่นในระบบที่เก็บข้อมูลไว้เหมือนกัน
ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเราต้องการที่จะเพิ่มกล่องใหม่เข้าไปที่ปลายแถว โดยหลักการแล้วทุกคนสามารถใส่ข้อมูลในกล่องใหม่ให้เป็นอย่างไรก็ได้ตามใจนึก อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในกล่องใหม่นั้น จะต้องได้รับ “การพิสูจน์” จากคนส่วนใหญ่ในระบบ ซึ่งขั้นตอนนี้เรียกว่า Proof of Work หรือ PoW ซึ่งเกิดขึ้นทุกๆ 10 นาที โดยประมาณ
ปัจจุบัน PoW ทำโดยการให้คนในระบบรันคอมแข่งกัน โดยถ้าหากคอมของคนใดคนหนึ่ง ไม่มีพลังการคำนวณมากกว่าครึ่งหนึ่งของคอมทั้งระบบ คนคนนั้นก็จะไม่สามารถเขียนข้อมูลในกล่องใหม่แบบตามใจตัวเองได้
แต่จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าคนที่มีควอนตัมคอมพิวเตอร์ มี “อำนาจการคำนวณ” มากกว่าดิจิทัลคอมพิวเตอร์ทั้งหมดในระบบรวมกัน
คนคนนั้นย่อมสามารถเขียนข้อมูล ให้ตัวเองใช้บิตคอยน์อันเดิมไปทำหลายๆ ธุรกรรมได้ในเวลาเดียวกัน (Double Spending) หรือแม้กระทั่งป้องกันไม่ให้คนอื่นทำธุรกรรม
การโจมตีแบบที่สองนี้ ถือเป็นการ “ล้มทั้งกระดาน” เพราะจะทำให้ระบบบิตคอยน์หมดความน่าเชื่อถือลง
ในยุคดิจิทัล การโจมตีแบบที่สองนี้ มักจะถูกมองว่าเป็นเรื่อง “ยุ่งยากและซับซ้อน” จนไม่น่าจะมีใครอยากทำ แต่ด้วยมูลค่าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของบิตคอยน์ บวกกับอำนาจการคำนวณใหม่ในยุคควอนตัม สมมุติฐานนี้ก็อาจไม่เป็นจริงอีกต่อไป เช่นเดียวกับยุคดิจิทัลช่วงแรกเริ่ม ที่ประเทศมหาอำนาจทุ่มงบมหาศาลเพื่อสร้างเจ้าโคลอลซัส มาถอดรหัสที่ “ยุ่งยากและซับซ้อน” ในสมัยสงครามโลก
เมื่อแรงบันดาลใจมากพอ มนุษย์ก็พร้อมจะทำทุกอย่าง
สุดท้ายแล้ว ถ้าเราย้อนมามองภาพใหญ่ คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนัก ที่เทคโนโลยีใหม่ๆ จะล้มล้างเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิม อาทิเช่น ป้อมปราการเมืองที่สูงใหญ่ ก็ไม่มีความหมายอะไร เมื่อมาเจอกับเครื่องบินทิ้งระเบิด

เครื่องบินทิ้งระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง | The Conversation
ควอนตัมคอมพิวเตอร์ จึงเป็น “ความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง” ของนักพัฒนาบิตคอยน์ ที่จะต้องรับมือกับการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี
เพราะหากพลาดพลั้งแล้ว ครั้งนี้จะไม่ใช่การ “ติดดอย” แต่เป็นการที่ทั้งดอยทั้งเกาะจมลงทะเล!
เขียนโดย จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์