ส่องเอเจนซียุคใหม่ ‘Birthmark’ กับแนวคิด ‘Pressure Free’ องค์กรไร้ความกดดัน และการให้ความสำคัญในความหลากหลาย
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแนวโน้มการทำงานในยุคดิจิทัล ต้องมีการเรียนรู้เทคโนโลยีและสิ่งใหม่ๆ เพื่อการปรับตัวในการทำงานให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบริษัทดิจิทัลเอเจนซี ที่ปัจจุบันพบว่าในแต่ละปีต่างก็มีบริษัทดิจิทัลเอเจนซีหน้าใหม่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
ทำให้การแข่งขันในแวดวงนี้ มีความเข้มข้นกว่าอดีต และในหลายๆ บริษัทฯ ต่างมีนโยบายในการทำงานของพนักงานที่แตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่สิ่งที่ไม่ค่อยต่างนั่นก็คือ ‘การทำงานแข่งกับเวลา’ ซึ่งบางครั้งก็ทำให้คนทำงานอาจรู้สึกถึงความกดดัน และยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หากทำงานในช่วงที่มีความ work load สูง
วันนี้ BrandThink จึงขอชวนมาส่องแนวคิดของ ‘Birthmark’ หนึ่งในดิจิทัลเอเจนซียุคใหม่ดีกรี Agency of the Year สาขา Best Culture เมื่อปี 2021 ของ ‘เอ็ม’ ปัณณทัต นาพูนผล และ ‘ฟิว’ ธิติวัจน์ เชื้ออาษา สองผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทฯ ที่ให้ความสำคัญกับการ ‘Work-Life Balance’ รวมถึง ‘สวัสดิการ’ ที่มีคุณภาพต่อพนักงานทุกคน
เพราะแน่นอนว่าปัจจัยหลักๆ ที่เหมือนดัชนีชี้วัดให้ทุกคนได้ชั่งใจ ก่อนที่จะตอบรับข้อเสนองานหลังจากผ่านการสัมภาษณ์กับบริษัทนั้นๆ คงต้องมี 4 ปัจจัย ดังนี้ คือ เงินเดือน การทำงาน สวัสดิการ และวัฒนธรรมในองค์กร ล้วนแต่เป็นความต้องการพื้นฐานสำหรับพวกเราทั้งนั้น ทั้งยังเป็นการการันตีอีกว่า เราจะมีเงินที่สามารถใช้จับจ่ายในชีวิตประจำวันได้อย่างไม่ยากลำบาก
มาถึงยุคปัจจุบันในมุมมองสำหรับคนรุ่นใหม่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การทำงานที่ได้รับเงินเดือนสมเหตุสมผล และมีความ Work-Life Balance คือสิ่งที่ล้ำค่ากว่าหลายเท่า ซึ่งในความเป็นจริงชีวิตมันก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ใช่ว่าในทุกบริษัทฯ จะสามารถทำงานแบบ Work-Life Balance ได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งในปัจจุบันการทำงานหนักก็ยังมีให้เห็นกันอยู่เป็นปกติ โดยเฉพาะ ‘เอเจนซีโฆษณา’ ที่ยืนหนึ่งในเรื่องของการทำงานหนักกว่าชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานนอกเวลา เจอสงครามประสาทกับการประสานงานต่างๆ หรือแม้แต่การทำงานจนกินข้าวไม่เป็นเวลา เพราะมีงานด่วน งานเร่ง งานรีบ เข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน แถมบางบริษัทฯ สวัสดิการที่ให้ก็น้อยนิด ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นสรรพคุณที่ตราตรึงให้กับเอเจนซีโฆษณาทั้งนั้น
แต่ไม่ใช่กับ Birthmark Digital Agency ที่มีจุดเริ่มต้นมาจาก เอ็ม ปัณณทัต เคยทำงานเป็น Account Executive (AE) ที่เอเจนซีโฆษณาแห่งหนึ่งมาก่อน โดยจากประสบการณ์แล้วเวลาออกไปขายงานก็ได้พบปะกับลูกค้าหลากหลายประเภท
กระทั่งปิ๊งไอเดียว่าอยากได้ชื่อบริษัทที่มีความหมายในเชิงโตไปด้วยกัน เกิดมาพร้อมกับเรา เรียนรู้ไปพร้อมๆ กันได้แบบไม่มีเส้นแบ่งเรื่องอายุ จึงมีต้นกำเนิดมาจากคำว่า ‘ปาน’ ที่มีติดตัวมาแต่เกิด หลังจากนั้นได้ชวน ฟิว ธิติวัจน์ มาเป็นหุ้นส่วน และในที่สุดจึงมาเป็น Birthmark อย่างทุกวันนี้
ความน่าสนใจของ Birthmark คือ ทั้งคู่มีมุมมองตรงกันว่า การที่ได้เห็นพนักงานทุกคนทำงานอย่างไม่มีความกดดัน มีส่วนช่วยให้การทำงานมีความลื่นไหล และมีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะในงาน Agency นั้น การรับความกดดันจากความคาดหวังของลูกค้าก็หนักพอสมควรแล้ว ผู้ก่อตั้งทั้งสองคนจึงมีความคิดว่าคงจะดีกว่าถ้าให้บรรยากาศในออฟฟิศเป็นเหมือน bunker ที่ช่วยลดความกดดันในการทำงานกับพนักงานทุกคน ด้วยการจัดสวัสดิการต่าง ๆ รวมไปถึงการทำสภาพแวดล้อมของการทำงานให้เหมาะสม
เนื่องจาก Birthmark เป็นดิจิทัลเอเจนซีที่เปิดกว้างมากในเรื่องของความหลากหลาย ไม่ได้จำกัดแค่เพศ แต่ยังรวมถึงอุปนิสัยของพนักงาน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการทำงานเป็นทีม อีกทั้งเคารพในความหลากหลายของกันและกันมากขึ้น สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นตัวเอง ตลอดจนทำงานได้อย่างเต็มที่ จนเป็นที่มาของคำว่า ‘Pressure Free’ องค์กรไร้ความกดดัน และการให้ความสำคัญกับความหลากหลาย
เรียกได้ว่าความหลากหลายของ Birthmark เป็นองค์ประกอบเล็กๆ ที่เข้าไปอยู่ในทุกความสำคัญของพนักงาน อาทิ ‘ไม่ใช้คำนำหน้าชื่อในองค์กร’ เพราะการมีอยู่ของคำนำหน้าชื่อ ทำให้คนรู้สึกถูกจำกัดด้วยเพศสภาพและสถานะของคนในองค์กร บางคนอาจจะไม่สบายใจที่จะแสดงสถานะของตนเองออกมาก็ได้
นอกจากนี้ Birthmark ยังมี ‘Inclusive Benefit’ สวัสดิการที่มีการขยายขอบเขตให้กว้างมากขึ้น โดยทุกคนในองค์กรจะได้รับสิทธิ์และสวัสดิการเท่าๆ กัน อย่างสิทธิ์วันลาที่ไม่จำกัดเฉพาะชายหรือหญิง ไม่ว่าจะเป็นการคุมกำเนิด ลาบวช ลาคลอด เพราะผู้ก่อตั้งทั้งสองมองว่าเรื่องเหล่านี้สำหรับทุกเพศควรได้รับสิทธิ์อย่างเท่าเทียมกัน
รวมไปถึงยังมีสวัสดิการในเรื่องค่าใช้จ่ายการเดินทางในช่วงภาวะเงินเฟ้อ เป็นจำนวนเงิน 1,000 บาทต่อเดือน เช่น ค่าน้ำมัน ค่ารถไฟฟ้า ค่า Grab และในอนาคตอันใกล้นี้ก็อาจมีสวัสดิการเฉพาะกลุ่มเพศที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ผ้าอนามัยฟรี ลาแปลงเพศ ตามมาอีกด้วย
ทั้งนี้ในแต่ละองค์กรต่างก็มีรูปแบบการทำงานที่ง่ายและยากแตกต่างกันออกไป ซึ่ง Birthmark เป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับ Work-Life Balance ของคนในองค์กรอย่างมาก ทำให้หลายคนอาจจะสงสัย ทั้งที่เป็น ‘ดิจิทัลเอเจนซี’ ทำไมถึงสร้าง Work-Life Balance ได้
คำตอบคือ ในบริษัทฯ จะให้ความสำคัญเรื่องการวางแผนงาน และกระบวนการทำงานเป็นอย่างมาก เพราะการวางแผนที่ไม่ดีก็อาจจะส่งผลให้งานล่าช้า และอาจส่งผลให้กระทบกับเวลาที่พนักงานจะต้องพักผ่อนทั้งในช่วงวันหยุด หรือหลังเลิกงาน
อย่างไรก็ตาม ทั้ง เอ็ม ปัณณทัต และ ฟิว ธิติวัจน์ ล้วนอยากเห็นทุกองค์กรและทุกบริษัทให้ความสำคัญในเรื่องของความหลากหลายกับพนักงานในองค์กรมากขึ้น เพราะพนักงานในองค์กรทุกคนล้วนมีส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทขับเคลื่อนไปข้างหน้า และคาดหวังว่าที่ Birthmark ก็จะเป็นที่ทำงานที่ดีที่สุดของพนักงานทุกคน และเป็นบริษัท Pressure Free ของพนักงานทุกคนในองค์กรเช่นเดียวกัน