5 Min

รู้ไหมว่า Bill Clinton “เป่าแซกโซโฟน” จนได้เป็นประธานาธิบดี

5 Min
329 Views
02 Sep 2021

ถ้าใครมีความทรงจำการเมืองต่างประเทศยุค 1990’s เหตุการณ์หนึ่งที่อาจจะตราตรึงก็คือเรื่องฉาวทางการเมืองที่เด็กฝึกงานทำเนียบขาวทำ “งานเป่า” (blow job) ให้กับประธานาธิบดีอเมริกาขณะนั้นคือ Bill Clinton จนทำให้เขาถูกเสนอให้มีการโหวตถอดถอนออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี
แน่นอน เหตุการณ์ครั้งนั้นดูจะทำให้ Clinton เป็นประธานาธิบดีที่ฉาวที่สุดของศตวรรษที่ 20 จากพรรคเดโมแครตที่ตลอดศตวรรษมีประวัติค่อนข้างจะสวยงามตลอด
แต่ในความเป็นจริง เขาก็รอดจากการถอดถอนจากตำแหน่ง และลงจากตำแหน่งอย่างสวยงามหลังจากการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีครบ 2 สมัยตามธรรมเนียมอเมริกา
นี่อาจเป็นความจำอันเรือนรางที่เรามีตอนเด็ก
แต่สิ่งที่คนรุ่นเราๆ น้อยคนน่าจะมีความทรงจำคือตอนที่ Clinton ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี 1993 ซึ่งตรงนี้เราอยากจะเล่าให้ฟังว่าเขาได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีได้อย่างไร
และทำไมการเป็น “นักเป่า” ถึงทำให้เขาได้เป็นประธานาธิบดี

อเมริกายุคก่อน Clinton
ถ้าจะเล่าว่า Clinton ขึ้นเป็นประธานาธิบดีได้อย่างไร ก็ต้องเล่าย้อนไปว่าคนอเมริกันยุคนั้นรู้สึกอย่างไรกับพรรคเดโมแครต และทำไม Clinton ถึงเป็นคน “ปฏิวัติ” การเมืองของพรรค
ในอเมริกายุคก่อน Clinton ในช่วง 1980’s พรรครีพับลิกันครองตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกาได้อย่างเด็ดขาดมาก เพราะ นับจนถึงปัจจุบันนี้ผ่านมา 40 ปีนับแต่ปี 1981 ก็ไม่มีประธานาธิบดีคนไหนชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีท่วมท้นเท่า Ronald Reagan จากพรรครีพับลิกันที่ปกครองอเมริกาช่วง 1981-1989
เรียกได้ว่าชนะแทบทุกรัฐ
การที่ Reagan ชนะแทบทุกรัฐเป็นเรื่องช็อคทางฝั่งพรรคเดโมแครตมาก เพราะก่อนหน้านั้นตลอดกลางศตวรรษที่ 20 พรรคที่ครองการเมืองอเมริกันคือเดโมแครต เรียกได้ว่านับแต่ทางพรรคเดโมแครตเป็นผู้มากอบกู้วิกฤติชาติในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำใน 1930’s และครองอเมริกาตลอดช่วงสงครามโลก มันก็เปลี่ยนทิศทางเศรษฐกิจการเมืองอเมริกาไปเลย โดยหลักๆ แล้ว แนวทางที่เปลี่ยนนโยบายรัฐบาลกลางของพรรคเดโมแครตก็คือการขยายอำนาจของรัฐบาลกลางเพื่อสร้างสวัสดิการให้สังคม
ทีนี้สวัสดิการที่เพิ่มก็มาพร้อมกับภาษีที่เพิ่ม และก็เพิ่มเรื่อยๆ เรียกได้ว่ากลางๆ ศตวรรษที่ 20 อเมริกันชนเสียภาษีพอๆ กับคนยุโรปเลย
อย่างไรก็ดี ภาษีที่เพิ่มก็มากับความคาดหวังที่มากขึ้น ปัญหาคืออเมริกาเก็บภาษีแต่ไม่ได้เอามาลงสวัสดิการประชาชนแบบยุโรป เพราะงบประมาณจำนวนมหาศาลต้องเอาไปทำ “สงครามเย็น” และทำให้คนอเมริกันอึดอัดขึ้นเรื่อยๆ กับการจ่ายภาษี เพราะมันไม่ได้เอาไปเพิ่มคุณภาพชีวิต แต่เอาไปทำสงครามทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นส่วนใหญ่
แต่ประเด็นคือ ไม่มีใครกล้าพูดออกมาว่าจะลดภาษี เพราะมันเป็นธรรมเนียมทางการเมืองไปแล้วที่จะเก็บภาษีเยอะ พูดง่ายๆ คือใครจะกล้าแย้งสิ่งที่เป็น “มาตรฐาน” ไปแล้ว
และสิ่งที่ Reagan ทำและทำให้เขาชนะเลือกตั้งนั้นก็ง่ายๆ ตรงไปตรงมาเลย คือเขาประกาศจะลดภาษี จะปลดเปลื้องภาระทางภาษีให้กับประชาชน และลดขนาดภาครัฐเพื่อให้ไม่ต้องเก็บภาษีเยอะ ในจังหวะที่พอเหมาะพอเจาะ ในยุคที่อเมริกากำลังจะชนะสงครามเย็น ในยุคที่ทั้งรัสเซียและจีนไม่ใช่ภัยคุกคามที่จริงจังเหมือนเดิมแล้ว ใครมันจะอยากจ่ายภาษีเท่าเดิมไปลงในสงครามที่ชนะแน่ๆ แล้วอีก
เท่านั้นล่ะ Reagan ชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย และเรียกได้ว่าทำลายนโยบายสวัสดิการรัฐที่พรรคเดโมแครตสร้างมากว่า 50 ปีเกือบเกลี้ยง
และการยืนยันแนวทางนี้ก็ทำให้เขาชนะเลือกตั้งอีกสมัย และในปี 1989 คนที่เป็นรองประธานาธิบดีในสมัย Reagan แบบ George H. W. Bush ก็ชนะเลือกตั้ง สืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีกันไป
แต่มองอีกด้าน พรรคเดโมแดรตแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดี 3 สมัยติด หรือไม่ได้ครองอเมริกามาเกิน 10 ปี และพรรคนี้ไม่เคยแพ้ติดต่อกันมาขนาดนี้ไม่รู้กี่ปีแล้ว (ก่อนหน้านี้เคยมีช่วงที่เดโมแครตไม่ได้ครองอเมริกานานขนาดนี้คือช่วง 1921-1933)
เรียกได้ว่าถ้าดันทุรัง ก็คงจะแพ้เลือกตั้งต่อไป ดังนั้นสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 1992 จึงเป็นเรื่องใหญ่มากๆ เพราะพรรคจะแพ้ไม่ได้อีกแล้ว และพรรคต้องลองอะไรใหม่ๆ
พูดอีกแบบพรรคต้อง “รีแบรนด์” ตัวเองว่าไม่เหมือนเดิม และด้วยเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์นี้เองที่เปิดโอกาสให้ผู้ว่าการรัฐอาร์คันซอส์ซึ่งเป็นรัฐบ้านนอกเล็กๆ อย่าง Bill Clinton ได้เฉิดฉาย

เมื่อครั้ง Baby Boomer ยังเป็น “คนรุ่นใหม่”
ในสนามเลือกตั้งปี 1992 ก็แน่นอน แต่ละพรรคมีการหยั่งเสียงกันก่อนว่าจะส่งใครเป็นตัวแทน ซึ่ง Bill Clinton ก็เรียกได้ว่าเป็น “ม้ามืด” เพราะก่อนหน้านั้น คนอเมริกาไม่รู้จักเขาเลย คือคนแต่ละรัฐก็ไม่ได้รู้จักนักการเมืองนอกรัฐเท่าไรถ้าไม่ได้อยู่ในสภาคองเกรส ซึ่ง Clinton เป็นสาย “การเมืองท้องถิ่น” เขาเล่นการเมืองในรัฐจนได้ขึ้นเป็นผู้ว่าการรัฐ แต่พอดีรัฐเขาเป็นรัฐเล็กๆ ก็ไม่แปลกที่คนจะไม่รู้จักเขา
ว่าแต่ “จุดขาย” ของเขาคืออะไร?
หลักๆ คือ เขาเป็นคนรุ่น Baby Boomer แท้ๆ ซึ่งคนกลุ่มนี้คือกลุ่มประชากรที่ใหญ่ที่สุดซึ่งเกิดช่วงที่คนมีลูกกันเยอะๆ ตอนสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2
ดังนั้นเขาจึงใช้ “จุดขาย” ของความเป็นคนรุ่น Baby Boomer และเป็น “คนรุ่นใหม่” นี้ในการลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
และจริงๆ นี่เป็นสิ่งที่เขาโดดเด่นมาก เพราะเขาในวัย 40 กว่าปี ก็ถือว่า “รุ่นใหม่” แล้วในบรรดาคู่แข่งคนอื่นๆ แก่กว่าเขาทั้งหมด และอายุ 50-60 กันหมด ซึ่งคนพวกนี้ถือว่าเป็น “คนรุ่นเก่า” ที่มีประสบการณ์ชีวิตอีกแบบ ซึ่งต่างจากพวก Baby Boomers ที่มีประสบการณ์ร่วมในการเมายาและฟังเพลงไซคีเดลิคกันในช่วงตอนเป็นวัยรุ่นยุค 1960’s

Bill Clinton และ Hillary Clinton ในวัยหนุ่มสาวช่วงต้น 1970’s | The Texas Tribune
https://thumbnails.texastribune.org/_EAmgo5LCX3s9gomtGgsOYGtZBU=/850×570/smart/filters:format(webp):quality(75)/https://static.texastribune.org/media/images/2015/05/12/HIllaryAndBill.jpg

แต่เขาจะทำยังไงให้คนอเมริกันรู้ว่าเขาเป็นคนรุ่นใหม่? คำตอบคือ เล่นดนตรีออกทีวี

Clinton นักแซกโซโฟน
ในวันที่ 3 มิถุนายน 1992, Clinton ไปเป่าแซกโซโฟนออกรายการทอล์คโชว์ที่ฮิตในหมู่วัยรุ่นยุคนั้นอย่างรายการ Arsenio Hall (ตั้งชื่อตามพิธีกร ซึ่งเป็นตลกชาวอเมริกัน)

Clinton เป่าแซกโซโฟน | TVInsider
https://www.tvinsider.com/wp-content/uploads/images/content/promos/The_Arsenio_Hall_Show_Clinton_TVGM.jpg

การไปออกทีวีครั้งนั้นถือว่าเป็น “ตำนาน” มาก เพราะทำให้ Clinton เปลี่ยนจากผู้ว่าโนเนมกลายเป็นผู้ท้าชิงประธานาธิบดีที่คนรุ่นใหม่หันมามองว่าเป็นตัวแทนพวกเขาได้ และมันชัดเจนมากๆ ในสนามประธานาธิบดีในปี 1992 ว่ามันเป็นการปะทะกันของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า
เพราะประธานาธิบดี George H. W. Bush ตอนนั้นอายุปาเข้าไปเกือบ 70 ปี ถ้าเทียบกับ Bill Clinton ที่อายุ 45 ปี ก็ชัดมากว่านี่คือ “สงครามระหว่างรุ่น” จริงๆ
และไอ้การไปเป่าแซกโซโฟนออกทีวีครั้งนั้นนี่แหละที่ยืนยันว่าเขาเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ได้อย่างไม่มีข้อกังขา

คลิป Clinton เป่าแซกโซโฟนเต็มๆ | YouTube
https://www.youtube.com/watch?v=CRatTuWdT_Q

ซึ่งผลก็คือในสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีไม่กี่เดือนต่อมา คนอเมริกันเลือก Cliลnton จนชนะ Bush ผู้พ่ออย่างถล่มทลาย และทำให้ทศวรรษ 1990’s กลับมาเป็นทศวรรษที่พรรคเดโมแครตกลับมาครองอเมริกาได้ในที่สุดหลัง Clinton ได้เป็นประธานาธิบดีในสมัยที่ 2 ด้วยคะแนนที่ท่วมท้นกว่าเดิม
และนี่แหละครับ จังหวะเป่าแซกโซโฟนในตำนานที่จะพูดเวอร์ๆ คือพลิกผลเลือกตั้งได้เลย และก็ต้องเข้าใจว่าสำหรับคนยุค Baby Boomer นั้น “คนเล่นดนตรี” คือคนที่ดูเท่ห์มากๆ ซึ่งก็น่าจะต่างจากทุกวันนี้ที่ในทรรศนะของ “คน Gen Z” นั้น “คนเล่นดนตรี” ไม่ได้เท่ห์อีกแล้ว ถ้าจะเท่ห์ให้ “ถูกใจวัยรุ่น” ยุคนี้การเล่นเกมโชว์และแสดงความเป็น “เกมเมอร์” อาจจะตอบโจทย์กว่า ดังนั้นก็คงจะเป็นเรื่องของยุคสมัยจริงๆ
ทั้งนี้ คนอเมริกันก็ไม่ได้ใส่ใจว่า Bill Clinton เป็นนักเป่าแซกที่ดีหรือไม่ เพราะประเด็นคือเขาบริหารประเทศได้น่าพอใจ และคนอเมริกันก็รู้ว่าฝีมือของ Bill Clinton นั้นเป็น “แค่มือสมัครเล่น”
ที่สำคัญคือ Clintion เป็นนักการเมือง ไม่ใช่นักดนตรี แค่เขาเล่นดนตรีโชว์ได้นี่ก็ “เจ๋ง” แล้ว