งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าคนเรามักลำเอียงให้กับคนหน้าตาดี แม้ว่าคนนั้นจะเป็นคนร้ายก็ตามที โดยการลำเอียงคิดว่าคนหน้าตาดีจะเป็นคนดีและฉลาดนั้นส่งผลแม้กระทั่งในชั้นศาล ซึ่งพบว่ามีแนวโน้มพิจารณาโทษให้คนหน้าตาดีรับโทษน้อยกว่า เนื่องจากอคติทางหน้าตา
หลายครั้งหลายหน หลังจากเกิดเหตุร้ายหรือคดีความต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการลักทรัพย์ ปล้น ฆาตกรรม หรือแม้แต่การกระทำผิดบนท้องถนน เรามักเห็นการเบี่ยงประเด็นไปสนใจรูปร่างหน้าตาของผู้กระทำผิดที่ ‘หน้าตาดี’ โดยหลายความเห็นมีแนวโน้มเห็นอกเห็นใจคนร้ายที่หน้าตาดี ทั้งยังกล่าวถึงในเชิงเสียดายและ ‘ไม่น่าเชื่อ’ ว่าคนหน้าตาดีจะเป็นคนร้ายได้ด้วย
มันอาจฟังดูเป็นเรื่องที่น่าเศร้า แต่ถึงแม้มนุษย์จะพยายามอย่างยิ่งที่จะเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุมีผล สุดท้ายแล้วเรายังถูกอคติในระบบความคิดครอบงำได้ง่ายอยู่ และหนึ่งในนั้นคือมาตรฐาน ‘หน้าตา’ ที่ทำให้คนถูกปฏิบัติแตกต่างกัน
เราจะพบว่าคนที่มีรูปร่างหน้าตาดีมักได้รับความสนใจ ได้รับความช่วยเหลือ และถูกรับฟังมากกว่าในแทบทุกเรื่อง ตั้งแต่ในห้องเรียน ที่ทำงาน พื้นที่สาธารณะ มันเกิดขึ้นตามสัญชาตญาณบางอย่าง โดยที่การศึกษาเก่าในปี 1972 โดย คาเรน ดิออน (Karen Dion) เอลเลน เบอร์ชีด์ (Ellen Berscheid) และอิเลน วอลสเตอร์ (Elaine Walster) ได้เสนอว่าเรามีการเหมารวมว่าคนหน้าตาดีทางกายภาพจะมีนิสัยที่ดีเช่นกัน
โดยทั่วไปเรามักถูกอคติเชื่อมโยงว่าคนที่ดูดีน่าดึงดูดใจนั้นมีความฉลาดกว่า มีสติสัมปชัญญะ มีความสามารถ และเข้าสังคมได้ดีกว่าคนที่หน้าตาไม่ดี ทั้งยังส่งผลต่อการใช้ชีวิต โดยงานวิจัยยังพบว่าคนที่ดูดี น่าดึงดูดใจ มักมีโอกาสได้รับงานและมีค่าจ้างสูงกว่าคนที่หน้าตาไม่ดี
มีงานวิจัยมากมายที่ช่วยยืนยันว่าเรามักเผลอลำเอียงและให้ความเห็นอกเห็นใจคนหน้าตาดีมากกว่า แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่าในชีวิตประจำวันคือ งานวิจัยอีกหลายชิ้นได้พบว่าการลำเอียงด้านหน้าตามีผลต่อการตัดสินใจชั้นศาลด้วย!
อย่างไรก็ดี มีการศึกษาวิจัยประเด็นนี้โดยอิงกลุ่มข้อมูลระดับใหญ่ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งในชั้นศาลใช้ระบบลูกขุนในการพิจารณาคดี ซึ่งมีมุมมองต่อรูปคดีที่มากกว่าข้อกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ภูมิหลัง และพฤติกรรมอื่นๆ ของจำเลย โดยการสำรวจได้ศึกษาการพิจารณา 2,235 คดี พบว่าจำเลยที่หน้าตาดีมีแนวโน้มจะถูกตัดสินโทษน้อยกว่า ในขณะที่ค่าปรับและค่าประกันตัวของจำเลยที่ ‘หน้าตาไม่ดี’ มีแนวโน้มสูงขึ้น แต่แน่นอนว่าพวกเขาทั้งหมดได้รับโทษ
แม้ระบบการตัดสินในปัจจุบันจะไม่ได้ส่งให้เกิดการลำเอียงจนเห็นผลได้ชัดเจนขนาดนั้น แต่ในอดีตถึงกับเคยมีการบันทึกเรื่องราวในสมัยกรีกเกี่ยวกับการตัดสินโทษโสเภณี ฟรายนี (Phryne) ที่มีรูปร่างหน้าตางดงามอย่างมาก และคณะลูกขุนกรีกได้ตัดสินให้เธอพ้นโทษ เพราะระบุว่าเธอมีหน้าตาที่เหมือนเป็นของขวัญจากพระเจ้า
ดังนั้น ‘อคติทางหน้าตา’ สำหรับมนุษย์โดยทั่วไปนั้น ‘มีจริง’ แต่ไม่ใช่ว่าเราควรจะปล่อยตามน้ำ หรือไม่สามารถเอาชนะอคตินี้ได้ การศึกษาจากนักจิตวิทยา มาร์ค ดับเบิลยู พาทรี (Mark W. Patry) ในปี 2008 ได้เสนอว่าการตัดสินโทษในห้องพิจารณาคดีสามารถเอาชนะอคติด้านหน้าตาได้ถ้าหากว่าใช้เวลาในการพิจารณาความผิดมากขึ้นอีกเพื่อความเที่ยงธรรม
การลำเอียงให้กับคนร้ายหรือผู้กระทำผิดที่หน้าตาดึงดูดใจเกิดขึ้นจากอคติทางหน้าตาที่สังคมสร้างขึ้นและทำให้เชื่อว่าคนหน้าตาดีจะเป็น ‘คนดี’ ทั้งที่ความจริงแล้วการมองโลกด้วยกรอบที่ลำเอียงนั้นอาจส่งผลให้เกิดปัญหาในกระบวนการยุติธรรมและส่งผลกระทบต่อจิตใจของเหยื่อได้อย่างมากเช่นกัน
อ้างอิง
- Bigthink. Beauty bias: hopefully the judge finds you attractive. https://bit.ly/35by73f
- The Law Project. PHYSICAL ATTRACTIVENESS BIAS IN THE LEGAL SYSTEM. https://bit.ly/3nUqXXP
- Journals sagepub. Attractive but Guilty: Deliberation and the Physical Attractiveness Bias. https://bit.ly/3KCq6ER
- Psycnet. Natural observations of the links between attractiveness and initial legal judgments. https://bit.ly/3FVqN8z
- Wikipedia. Physical attractiveness stereotype. https://bit.ly/3GZOGgO
- Ncbi. Physical attractiveness and criminal justice processing: results from a longitudinal sample of youth and young adults. https://bit.ly/3tTQbta