ในกรุงเทพฯ ถ้าเรามองสิ่งต่างๆ รอบตัวเทียบกับเมืองใหญ่ๆ ของประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย ก็แทบเป็นเรื่องยากที่จะหาอะไรไปเชิดหน้าชูตากับเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน หรือสินค้าและบริการต่างๆ (ถ้าพิจารณาจากคุณภาพและราคา)
อย่างไรก็ดี ถ้าจะมีสิ่งหนึ่งที่จะยังพอเหลือให้ชาวไทยภาคภูมิใจ สิ่งนั้นก็อาจเป็น ‘สตรีทฟู้ด’ หรืออาหารข้างถนนของไทย ที่ทั้งหลากหลาย อร่อย และราคาถูก ระดับที่น่าจะเป็นตัวชูโรงทางการท่องเที่ยวได้ ถ้ารัฐสนับสนุน
แต่มันเป็นแบบนั้นจริงเหรอ?
ถ้าใครพอรู้ การขยายตัวของ ‘สตรีทฟู้ด’ ทั่วโลก โดยทั่วไปมันเกิดจากการขยายตัวของเมืองใหญ่ๆ ที่มาพร้อมกับความเหลื่อมล้ำ หรือพูดง่ายๆ ว่าในเมืองใหญ่ที่ค่าครองชีพไต่ขึ้นไปพร้อมกับระดับพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ก็จะมี ‘คนจน’ เข้ามาทำงานในเมืองเยอะ และคนจนเหล่านี้ก็มักจะอยู่ในห้องเช่าเล็กๆ ไม่มีครัว ขณะเดียวกันพวกเขาก็ต้องการอาหารประทังชีวิต และ ‘สตรีทฟู้ด’ ก็เลยเป็นที่พึ่งพาทางโภชนาการของบรรดา ‘คนจนเมือง’ ทั้งหลายนั่นเอง ซึ่งประเด็นนี้สารคดีชุด Street Food ของทาง Netflix ก็พูดเอาไว้อย่างซ้ำๆ ผ่านกรณีตัวอย่างของหลายประเทศ
พูดง่ายๆ เมืองที่ไม่มีคนจน ก็จะไม่มีสตรีทฟู้ดแบบที่เราเข้าใจกัน และก็ไม่แปลกที่พวกเมืองใหญ่ๆ ในประเทศพัฒนาแล้วที่มีการกระจายรายได้ดีๆ จะไม่ได้โด่งดังด้านสตรีทฟู้ด หรืออย่างน้อยสตรีทฟู้ดของเขาก็จะ ‘แพง’ กว่าของไทยแน่ๆ ดังที่เทียบได้ไม่ยากเลยว่าสตรีทฟู้ดสิงคโปร์กับญี่ปุ่นนั้นเป็นคนละโลกกับสตรีทฟู้ดของไทยและอินเดียเลย เพราะสองประเทศแรกมันไม่มีพวกแผงลอยและรถเข็นให้เห็นกันปกติแน่ๆ สตรีทฟู้ดคือร้านที่ต้องจ่ายค่าเช่าในอาคารที่เปิดหน้าร้านมาทางถนน แต่ไม่มีโต๊ะให้นั่งกิน คนกินต้องยืนกินบนถนน แต่ขณะที่สองประเทศหลัง สตรีทฟู้ดในชีวิตประจำวันไม่ได้หมายถึงร้านแบบดังกล่าว แต่หมายถึงร้านอาหารแผงลอยหรือรถเข็น (ดังนั้นจะบอกว่า ‘เจ๊ไฝ’ คือสตรีทฟู้ด คนไทยก็จะงงๆ หน่อย)
แน่นอนว่าสตรีทฟู้ดแบบไทยๆ ที่ขายกันบนทางเท้าก็ทำให้เกิดข้อโต้เถียงเรื่องการใช้พื้นที่สาธารณะ เพราะอย่างน้อยคนจำนวนมากก็คงไม่แฮปปี้ที่มีคนขายของหน้าบ้าน พร้อมทั้งก่อให้เกิดขยะเอาไว้ เราอยากจะข้ามข้อถกเถียงนี้ไป เพราะประเด็นที่เราอยากจะเล่าคือเหตุผลว่า ‘ทำไมสตรีทฟู้ดไทยราคาถูก?’
การที่สตรีทฟู้ดไทยมักเป็นรถเข็นหรือหาบเร่แผงลอย ก็คือมันไม่ต้องจ่าย ‘ค่าเช่า’ ทำให้ต้นทุนลดลง และเป็นที่มาของราคาถูก เข้าถึงง่าย และจริงๆ การขายอาหารสไตล์ ‘กองโจร’ แบบนี้ก็ยังทำให้คนขายสามารถหลบเลี่ยง ‘ภาษี’ ได้ด้วย ไม่ว่านั่นจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
จริงๆ แค่ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าและภาษี ก็เป็นเหตุผลเบื้องต้นที่พอจะอธิบายได้แล้วว่าทำไมสตรีทฟู้ดในไทยมีราคาถูกกว่าอาหารปกติทั่วๆ ไปตามร้านอาหาร และสตรีทฟู้ดในบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว แต่จริงๆ มันมีเหตุผลที่อาจ ‘ดาร์ค’ กว่านั้น
นั่นก็คือ ‘ความสกปรก’
ชาวไทยมักจะดูคลิปสตรีทฟู้ดของอินเดียด้วยความขบขันปนสมเพชใน ‘ความสกปรก’ แต่ในความเป็นจริงโดยทั่วไป ในไกด์ไลน์การท่องเที่ยวของชาวตะวันตก เขาก็แทบจะหลีกเลี่ยง ‘สตรีทฟู้ด’ ของไทยเหมือนกัน ด้วยเหตุผลว่าเขากลัว ‘อาหารเป็นพิษ’
เราอาจพูดขำๆ ว่าคนพวกนี้ ‘ธาตุอ่อน’ ซึ่งก็อาจจะจริง แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าเหตุผลที่เราคนไทยนั้น ‘ธาตุแข็ง’ ในระดับที่ไปกินอาหารที่อื่นๆ โดยไม่ต้องกลัว ‘ท้องเสีย’ (โอเค ยกเว้นอินเดียไว้สักประเทศ) ก็เพราะอาหารบ้านเราไม่ค่อย ‘สะอาด’ เท่าไหร่ และผู้นำของอาหารกลุ่มนี้ก็คือสตรีทฟู้ด
ถามว่ามันเกิดอะไรขึ้น บ้านเราไม่มีหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางอาหารเหรอ? คำตอบก็คือมีแน่ๆ เหมือนที่อื่นๆ ในโลก (รวมทั้งอินเดีย) แต่ประเด็นคือ พอพูดถึงสตรีทฟู้ด การกำกับดูแลใดๆ ของรัฐมันไม่ได้ผล เพราะเรากำลังพูดถึงธุรกิจแบบ ‘กองโจร’ ที่ไม่ต้องจ่ายภาษีด้วยซ้ำ ดังนั้นมันไม่มีใครทำตาม ‘มาตรฐานความสะอาด’ ที่ตั้งโดยรัฐหรอก
เราอาจไม่รู้สึกอะไรเวลานั่งกินอาหารข้างถนนบนฟุตบาทแล้วเห็นหนูและแมลงสาบวิ่งไปมา แต่ประเด็นคือ ไอ้ของพวกนี้มันทำให้ ‘ร้านอาหารปกติ’ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมด้านความสะอาดของรัฐถูกปิดได้แบบชั่วข้ามคืนเลยถ้าจะว่ากันในมาตรฐานประเทศพัฒนาแล้ว
ในแง่นี้ เราก็จะเห็นเลยว่าสาเหตุที่สตรีทฟู้ดบ้านเราราคาถูกนั้นเกิดจากการที่ไม่ต้องจ่ายค่าเช่า ไม่ต้องเสียภาษี ยังไม่พอ มันยังไม่ต้องรักษามาตรฐานความสะอาดใดๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นในกระบวนการเตรียมวัตถุดิบ การประกอบอาหาร หรือการซักล้างอุปกรณ์และภาชนะต่างๆ เพราะอย่างน้อยๆ การล้างหม้อกระทะจานชามบนพื้นถนนแล้วทิ้งน้ำเสียลงท่อระบายน้ำ มันก็คงจะเป็นภาพที่เราไม่ได้เห็นในประเทศพัฒนาแล้วแน่ๆ เพราะการทำแบบนั้นคงจะผิดกฎหมายหลายกระทงเลย
ที่เล่ามาแบบนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรจะ ‘กวาดล้าง’ หรือกระทั่ง ‘ปฏิรูป’ สตรีทฟู้ดทั้งแผงกันแบบถอนรากถอนโคน เพราะจริงๆ สิ่งที่คอยรับผลประโยชน์จากการกวาดล้างสตรีทฟู้ดของรัฐนั้นไม่ใช่อะไรนอกจาก ‘เครือร้านสะดวกซื้ออันดับหนึ่งของประเทศ’ ที่ทุกวันนี้เอาสตรีทฟู้ดมาขายทั้งแบบแช่เย็นและแช่แข็ง แถมบางสาขายังพัฒนาให้มี ‘อาหารตามสั่ง’ ขายด้วยซ้ำ
หรือพูดง่ายๆ ถ้าสตรีทฟู้ดหายไปจากกรุงเทพฯ ณ ตอนนี้ ผลก็คือคนกรุงเทพฯ ก็คงจะต้องไปซื้ออาหารตาม ‘เครือร้านสะดวกซื้ออันดับหนึ่งของประเทศ’ แทน เพราะเขายึดทำเลทองไว้หมดแล้ว คุณไม่มีสตรีทฟู้ดกิน คุณก็ต้องไปซื้ออาหารของเขากิน ซึ่งเราก็รู้ดีว่า เครือบริษัทนี้จะได้ประโยชน์ขนาดไหนถ้าคนไทยทั่วๆ ไปต้องมากินอาหารของเขาทั้งหมด
แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราพยายามจะเอาสตรีทฟู้ดไทย ‘เข้าระบบ’ ให้หมด ไม่ว่าจะเป็นระบบภาษีหรือความสะอาด สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ราคาจะขึ้นกันหมด และนั่นอาจทำให้ราคาสตรีทฟู้ดนั้นเท่ากับหรือกระทั่งแพงกว่าราคาอาหารตาม ‘เครือร้านสะดวกซื้ออันดับหนึ่งของประเทศ’ ซึ่งนั่นก็น่าจะเป็น ‘จุดจบของสตรีทฟู้ด’ แบบที่เรารู้จักมาทั้งชีวิตเช่นกัน
ดังนั้น ประเด็นพวกนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่จะมี ‘ทางออก’ ง่ายๆ และเอาเข้าจริงๆ หนทางหนึ่งที่อาจ ‘สมเหตุสมผล’ ที่สุดก็คือ การจัดพื้นที่ของสตรีทฟู้ดให้เป็นเรื่องเป็นราว (อาจคล้ายๆ ‘ศูนย์อาหารสาธารณะ’ หรือ Hawker Center ของสิงคโปร์) พร้อมมีมาตรการ ‘อุดหนุน’ ให้สตรีทฟู้ดนั้นสามารถขายได้ในราคาที่ไม่ได้สูงกว่าตอนนี้ ทั้งที่จะต้องเสียค่าเช่า เสียภาษี และทำตามมาตรฐานความสะอาด
เรื่องพวกนี้ไม่ได้ยากเย็นเลย ถ้ารัฐไทยมองว่า ‘วัฒนธรรมสตรีทฟู้ด’ คืออะไรบางอย่างที่ต้องอนุรักษ์ หรือแม้กระทั่งควรจะสนับสนุนเพื่อผลด้านการท่องเที่ยวหรือกระทั่งผลทางด้าน ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ของประเทศไทยในเวทีโลกอะไรก็ว่าไป
เพราะถ้ารัฐไม่แทรกแซงแบบนี้ ทางออกก็คงจะมี 2 ทาง คือ ทางแรก เป็นแบบปัจจุบันที่ขายแบบกองโจร ไม่ถูกควบคุมใดๆ โดยรัฐเหมือนที่เป็นอยู่ หรือทางที่สอง คือ รัฐพยายามเข้าควบคุมและใช้มาตรฐานการค้าและความสะอาดตามปกติกับสตรีทฟู้ด จนส่งผลให้สตรีทฟู้ดแบบเดิมๆ สูญพันธุ์ไป และคนไทยก็ต้องต่อคิวซื้ออาหารจาก ‘เครือร้านสะดวกซื้ออันดับหนึ่งของประเทศ’ แทบทั้งหมด
‘Better City – เมืองที่ดีสำหรับทุกคน’ คือแคมเปญล่าสุดของ BrandThink ที่ตั้งใจจะถ่ายทอดเรื่องราวปัญหาสุดคลาสสิกของเมืองกรุง ที่เราต้องเผชิญมาหลายทศวรรษและไม่เคยแก้ไขได้สำเร็จเสียที
มาร่วม ‘ส่งเสียง’ ของคุณ และ ‘ฟังเสียง’ ของคนอื่นไปพร้อมๆ กัน ผ่านคอนเทนต์สนุกๆ สร้างสรรค์ กระตุกต่อมคิด ในรูปแบบบทความ คลิปวิดีโอ อินโฟกราฟิก ภาพถ่ายสารคดี รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ตลอดหนึ่งเดือนเต็มนับจากนี้
เพื่อขับเคลื่อนกรุงเทพฯ ไปสู่ ‘เมืองที่ดีสำหรับทุกคน’ อย่างแท้จริง