เมื่อวงการ “เหล้าเบียร์” มาเล่าสู่กันฟัง ว่ารัฐยัดบทผู้ร้ายในเรื่องโควิดให้พวกเขาอย่างไร
หลังประกาศคลายล็อคดาวน์วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ร้านชาบูหมูกระทะที่เราคิดถึงหนักหนาก็เปิดกันสักที วิถีชีวิตคนกลางวันกลับมาเบ่งบานราวกับดอกทานตะวัน สัญญาณชีพของร้านอาหารทั่วๆ ไปกลับมาเต้นตุบๆ กันอีกหน
แต่มีกลุ่มคนเจ็บสาหัสกลุ่มหนึ่งที่รัฐยังปล่อยให้นอนรอความตายอยู่
คนกลุ่มนี้ คือ คนที่ต้องใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการทำมาหากิน
คนกลุ่มนี้ คือ คนที่สร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ๆ และเปิดประตูให้เงินมากมายไหลเข้ามาในการท่องเที่ยวไทย
แต่คนกลุ่มนี้ กลับโดนยัดบท “ผู้ร้าย” ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จนไม่สามารถประกอบอาชีพได้
และตอนนี้ พวกเขากำลังจะ “ตาย” จริงๆ หากรัฐบาลยังเลือกที่จะไม่รักษาพวกเขาต่อไป
ต่อไปนี้ คือ “ความจริง” หลายๆ เรื่องที่ผู้ประกอบการร้านอาหารกึ่งผับบาร์ หรือผู้เปิดร้านผับบาร์ทั้งหลายต้องเจอ และพวกเขามาเล่าสู่กันฟังในคลับเฮ้าส์ “คลายล็อคดาวน์ แล้วร้านเรา เอาไงดีนะ” ที่จัดขึ้นในวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา โดยมีคุณต่อ-ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี เจ้าของร้าน Penquin Eat Shabu หนึ่งในผู้ประกอบการที่เคยได้รับผลกระทบมาก่อน เป็นคนชวนพูดคุยเพื่อร่วมหาทั้งออกในวิกฤติครั้งนี้
1.แอลกอฮอล์ “ผู้ร้าย” ในเรื่องโควิด?
ถ้าพูดถึงเหล้าหรือแอลกอฮอล์ ภาพจำที่คนไทยส่วนใหญ่มักเห็นกัน คือภาพที่สุราเป็น “ตัวร้าย” ของสังคมไทย เป็นสาเหตุของวิบากกรรมหลายสิ่งอย่าง การระบาดของโควิดก็เช่นกัน ซึ่งอาจเป็นเพราะผลพวงของการดื่มสุราที่อาจทำให้ขาดสติ เกิดการรวมตัว มั่วสุมต่างๆ
แต่วงการสุราไทยมันมีแง่มุมอื่นๆ ที่คุณอาจยังไม่รู้
ผู้ร่วมสนทนาในคลับเฮ้าส์ ซึ่งหลายๆ คนคร่ำหวอดในวงการแอลกอฮอล์ไทย ต่างเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันว่า ธุรกิจการกินดื่มสุราไทย (ที่ไม่ใช่แค่ของนายทุนผูกขาดเจ้าใหญ่) เคยรุ่งเรืองอย่างมาก มีบาร์เทนเดอร์ไทยหลายคนที่ไปชนะรางวัลระดับสากล เช่น คุณณิกษ์ อนุมานราชธน ผู้ร่วมคลับเฮาส์ในครั้งนี้ บาร์จินของเขา “Teens of Thailand” เคยคว้ารางวัล Best Cocktail Bar จากเวที Bar Awards Bangkok ปี 2017
ไทยยังมีคราฟท์เบียร์ที่ได้รับการยอมรับในเวทีโลก เช่น “ศิวิไลซ์” ได้รางวัล World Beer Award ปี 2020 ที่น่าเสียดายว่าต้องรับรางวัลในฐานะเบียร์เวียดนามไปแทนเพราะติดเรื่องกฎหมายไทย
ชื่อเสียงของสุราไทยทำให้การกินดื่มยามค่ำคืนเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยว จนสร้างเม็ดเงินมหาศาลให้ไหลเข้าประเทศเล็กๆ แห่งนี้มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว
แต่ทุกอย่างต้องหยุดชะงักเมื่อเกิดโควิดขึ้น เพราะการต้องเร่งยับยั้งการระบาด ทำให้ร้านขายอาหารกึ่งผับบาร์ ผับ และบาร์เป็นกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มแรกๆ ที่โดนยิงล้ม
คุณเทพ-ภาสกร แสงรักษาเกียรติ เจ้าของ PrumPlum UMESHU BAR บอกว่าเขาก็เข้าใจในเรื่องนี้ หากต้องปิดร้านในการระบาดรอบแรกๆ เพื่อควบคุมโรคระบาด แต่การต้องปิดร้านในตอนท้ายๆ ในขณะที่ต่างประเทศเริ่มเปิดผับบาร์โดยมีมาตรการควบคุมกันแล้ว การที่รัฐบาลเหมือนหูทวนลมต่อการยื่นข้อเสนอทางออกของสมาคมเบียร์คราฟท์ไทย สวนกับรายได้ที่พวกเขาต้องเสียไปมากมาย มันทำให้เขารู้สึกเหมือนว่า “รัฐไม่แคร์” เรื่องนี้เลย
และผนวกกับกระแสผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้ลดลงเลยนับตั้งแต่ปิดผับบาร์มา ข้อเท็จจริงข้อนี้ ทำให้ต้องหันกลับมาคิดว่าแอลกอฮอล์คือต้นเหตุของการติดเชื้อจริงหรือ
คุณเทพเสริมว่า “การห้ามขายต่อไป มันไม่ได้กระทบแค่ระดับปัจเจกหรือระดับกลุ่มธุรกิจ แต่มันกระทบเรื่องวัฒนธรรมที่ยังไม่มีการประเมินมูลค่าทางการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน”
2. ปรับตัวจนตัว (ใกล้) ตายแล้ว
คุณณิกษ์ที่เคยให้ Teens of Thailand “ปรับตัว” รับมือกับโควิดมาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนบาร์ให้ไปขายกาแฟกับขนมจีบแทน และยังมีแผนจะเปลี่ยนจากขายค็อกเทลไปขาย “น้ำท่อม” แทนแล้วด้วย เขากล่าวว่ารัฐบาลจะสั่งปิดพวกเขาก็ได้ หากรัฐบาลมีมาตรการเยียวยาที่สมน้ำสมเนื้อ ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น
“คุณสั่งปิด คุณโทษเรา คุณโทษผู้ประกอบการ คุณไม่ชดใช้ คุณไม่เยียวยา คุณไม่ให้เราทำงาน แล้วคุณจะให้เราทำอะไร?” คุณณิกษ์กล่าว
คุณวิชิต ซ้ายเกล้า เจ้าของร้านคราฟท์เบียร์ไทย “CHIT BEER” เล่าถึงการลงทุนเกือบ 20 ล้านเพื่อให้ร้านได้เปิด การที่ต้องเสียเงินค่าเช่าทำเลทองเดือนละ 5 หมื่นบาททิ้งไปเปล่าๆ เพราะร้านเปิดไม่ได้ ใจหนึ่งเขาอยากล้มเลิก ปิดตายร้านไป แต่ใจหนึ่งก็ห่วงลูกน้องอีกหลายชีวิต
เบื้องหลังร้านประเภทนี้มีต้นทุนมหาศาล มีแรงงานหลายชีวิตที่ต้องแบกรับ เงินเยียวยาแรงงานหลักพันเป็นเหมือนเพียงพลาสเตอร์ปิดแผลโดนยิงเหวอะหวะเท่านั้น
ผู้ประกอบการเห็นพ้องตรงกันว่า หัวใจของร้านผับบาร์ไม่ได้มีเพียงแค่การดื่มให้เมามายอย่างเดียว ยังมีร้านผับบาร์ประเภทที่มองการดื่มเป็นเรื่องของสุนทรียะ เป็นเรื่องของการให้ความรู้ แลกเปลี่ยนเรื่องราวละเอียดลออต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในค็อกเทล เบียร์คราฟท์ เบียร์สดต่างๆ ที่นำวัตถุดิบไทยมาผสมรวมกันอย่างสร้างสรรค์ จนกลายเป็นเครื่องดื่มแต่ละแก้ว
การเหวี่ยงแหออกคำสั่งให้ทุกสิ่งอย่างต้อง “เดลิเวอรี่” และต้อง “งดการจำหน่ายและดื่มสุราในร้าน” ทำให้ร้านเหล่านี้เหมือนกำลังจมน้ำตายอย่างไร้มือยื่นเข้ามาช่วย
และคำสั่งให้ “ปรับตัว” ก็เหมือนมือที่ยิ่งกดให้พวกเขาจมลึกลงในปัญหามากกว่าเดิม การเปลี่ยนไปขายอย่างอื่นแก้ปัญหาได้เพียงชั่วคราวและผิวเผิน ท้ายที่สุดแล้ว ร้านผับบาร์ต่างๆ นั้นมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการขายตัวตนที่แท้จริง อยู่ได้เพราะบาร์เทนเดอร์ได้ทำอาชีพที่เขาร่ำเรียนมา การสั่งให้พวกเขาไปทำอย่างอื่น ก็เหมือนการบีบบังคับร้านให้ต้องปิดตัวลง
ผู้ประกอบการเหล่านี้ต่างเห็นตรงกันว่า พวกเขาอยากดำเนินกิจการของตัวเองต่อไปได้ แม้จะต้องอยู่ในกรอบการควบคุมอย่างเข้มงวด และจากกรณีตัวอย่างจากต่างประเทศมากมาย ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การเปิดร้านขายสุราคือสิ่งที่เป็นไปได้ หากร้านและรัฐบาลมีมาตรการที่วางร่วมกัน
3. อุทธรณ์ครั้งสุดท้าย ก่อนอาจได้ตายจริง
ที่ผ่านมา ผู้ประกอบร้านอาหารกึ่งผับบาร์ ผับ บาร์ รวมถึงสมาคมคราฟท์เบียร์ ดิ้นรนด้วยตัวเองมาตลอด นอกเหนือไปจากการปรับตัวที่ทำจนตัวเจียนตายแล้ว พวกเขายังพยายามหาทางแก้ที่เหมาะกับไทยโดยอิงกรณีศึกษาจากต่างประเทศ มีการยื่นข้อเสนอ เรียกร้องตามกระบวนประชาธิปไตยมาตลอด
อย่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ของปีนี้ สมาคมคราฟท์เบียร์เคยนัดเทเบียร์หน้ากระทรวงสาธารณสุข และยื่นข้อเสนอต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขอให้ดื่มได้ในร้านโดยมีมาตรการคัดกรอง ขอให้แก้กฎห้ามเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์เพื่อให้ซื้อกลับไปดื่มที่บ้านได้ ขอให้จำหน่ายสินค้าผ่านออนไลน์ได้โดยมีการตรวจสอบผู้ซื้อ เป็นต้น
“ทุกอย่างมีทางแก้ของมันอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ปิดช่องทางจนทำมาหากินไม่ได้เลย” คุณเทพกล่าว
คุณไก่-สุกฤษฎิ์ ผ่องคำพันธุ์ เจ้าของร้าน “JIM’s Burgers & Beers” ยอมรับว่าแอลกอฮอล์มีข้อเสียของมัน และจำต้องเป็นเครื่องดื่มควบคุม แต่ก็ต้องมองด้วยว่า แอลกอฮอล์ไม่ได้มีแค่ด้านไม่ดีด้านเดียว สุราไทยควรถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อดึงเม็ดเงินเข้ามาในประเทศด้วย ไม่ใช่เอาคำว่า “ศีลธรรม” มากดทับกันอย่างเดียว
ด้านคุณณิกษ์ก็อยากให้เปิดใจว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นแค่ “สินค้า” ไม่ใช่ “สาเหตุ” ของการแพร่ระบาดทั้งหมด เพราะถ้าการปิดบาร์ช่วยให้โควิด-19 หายไปจริงๆ การแพร่ระบาดคงไม่มาถึงขั้นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แปลว่าสาเหตุของการแพร่ระบาดไม่ได้อยู่ที่แอลกอฮอล์
และที่ผ่านมา คุณณิกษ์ยังเล่าให้ฟังว่า เขาเคยมีข้อเสนอมาตรการที่ร่วมทำกับสมาคมคราฟท์เบียร์ที่เคยเสนอให้กับทางสธ. ไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นมาตรการประยุกต์ใช้มาจากร้านอาหารทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกำหนดระยะห่าง กำหนดเวลาการนั่งในร้าน กำหนดปริมาณการดื่มของลูกค้า หรือแม้กระทั่งมาตรการที่ให้ลูกค้าสามารถตรวจสอบรวมถึงรายงานร้านที่ไม่ทำตามข้อกำหนดได้
“เราอยู่ในจุดที่ต้องยอมรับว่าเราต้องทำงานร่วมกัน เพราะโรคโควิดคงจะอยู่กับเราไปอีกสักพัก” คุณณิกษ์กล่าว
4. หนทางที่ “คุณ” พอช่วยได้
ปัญหาของวงการสุราไทยเป็นแผลใหญ่ที่ต้องแก้ไขตั้งแต่ต้นเหตุ แต่ถ้าหากถามว่า ในระหว่างนี้ ประชาชนสามารถช่วยเหลือกันและกันได้อย่างไรบ้าง ผู้ประกอบกิจการทั้งหลายก็เสนอว่า การเข้ามาอุดหนุนสินค้าในร้านเพื่อช่วยระบายสต็อคเครื่องดื่มที่อายุค่อนข้างสั้น ก็สามารถช่วยต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการได้
อีกข้อเสนอหนึ่งจาก “คุณชล” หนึ่งในผู้ผลักดันแฮชแท็ก #เปิดบาร์ได้แล้วไอหอก ก็เสนอว่า การพูดคุย ให้ความรู้กันในสังคม ว่าวงการสุรา คราฟท์เบียร์ หรือค็อกเทลไม่ใช่เรื่องผิดบาป ไม่ใช่เรื่องไม่ดี หากแต่เป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่ง ก็จะช่วยให้วงการนี้สามารถเติบโตในระยะยาว สร้างเงิน สร้างชื่อเสียงให้ประเทศได้ต่อไป
แม้กระทั่งการรีวิวเล็กๆ น้อยๆ การชื่นชมร้าน คุณไก่ก็คิดว่ามันช่วยสร้างกำลังใจให้เขาได้มากๆ เหมือนกัน
5. ฝากความหวังไว้กับอนาคต
ล่าสุดในวันนี้ 27 กันยายน ทางศบค.ได้แถลงผลการประชุมชุดใหญ่ มีมติเห็นชอบให้คลายล็อกดาวน์เพิ่มเติม แต่ผู้ประกอบการร้านอาหารที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และร้านผับบาร์ยังเป็นกลุ่มที่ต้องปิดกิจการต่อไปโดยไม่มีกำหนด
การพูดถึงปัญหาเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการเหล่านี้ทำมาโดยตลอด สิ่งที่ยังขาดอยู่ คือการ “รับฟัง” จากรัฐบาล วิเคราะห์รอบด้านว่าอะไรคือปัญหา และแก้อย่างตรงจุด โดยไม่ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เหมือนที่ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารกึ่งผับบาร์ กำลังเจออยู่ในขณะนี้
เสียงที่เปล่งออกมาในคลับเฮ้าส์ครั้งนี้ เป็นเสียงของผู้ประกอบการส่วนหนึ่งที่ออกมาสะท้อนความเดือดร้อนจากมาตรการล็อกดาวน์ในปัจจุบัน สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการทุกคนมีเหมือนกันหมด คือความอยากทำงานร่วมกับรัฐบาลในการทางออกร่วมกัน เพื่อให้ธุรกิจของพวกเขายังมีอนาคตได้ โดยที่ไม่ต้องทำร้ายสถานการณ์โควิดในปัจจุบัน
จึงได้แต่ฝากความหวังไว้ในอนาคต และหวังว่าในวันใดหนึ่ง ทางฝั่งผู้ประกอบการและรัฐบาลจะสามารถหาทางออกและได้มีจุดยืนร่วมกัน เพื่อเราจะได้ “ชนะ” ไปด้วยกันในสถานการณ์โควิด-19 ครั้งนี้