เห็นค่าเราหรือยังนุด! บีเวอร์ที่เคยถูกเนรเทศให้โดดร่มไปอยู่พื้นที่ห่างไกล ไปเจออีกที พวกมันกลับฟื้นฟูป่าให้สมบูรณ์อีกครั้ง

3 Min
772 Views
07 Aug 2023

เมื่อไม่นานมานี้ NASA ได้เผยภาพภูมิประเทศส่วนหนึ่งของรัฐไอดาโฮ สหรัฐอเมริกา ที่ปรากฏกลุ่มพืชพรรณเขียวชอุ่มหย่อมเล็กๆ เด่นสง่าอยู่กลางเทือกเขา Pioneer สีน้ำตาลแห้งแล้ง เปรียบราวกับว่านั่นคือ ‘โอเอซิส’ ของแถบนั้นเลยก็ว่าได้

และเป็นที่น่าสนใจว่า เดิมทีพื้นที่ตรงนั้นเป็นเพียงลำน้ำสาขาของแม่น้ำ Little Wood ไม่เคยมีพุ่มไม้เขียวๆ เช่นในภาพมาก่อน สิ่งนี้เพิ่งถูกสร้างในช่วงประมาณ 60 ปีที่ผ่านมา และมันก็เกิดขึ้นเพราะเรื่องดราม่าระหว่าง ‘คน’ กับ ‘บีเวอร์’

เรื่องของเรื่องต้องย้อนกลับไปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ผู้คนเริ่มขยายการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่แถวๆ ทะเลสาบ Payette และ McCall ของรัฐไอดาโฮ ซึ่งมีเจ้าบีเวอร์เป็นเจ้าถิ่นครองทำเลอยู่มานานนับร้อยๆ ปี 

แต่ด้วยความที่ตอนนั้นเรายังมองสัตว์เป็นส่วนเกินของระบบนิเวศชุมชน ก็เลยมีไอเดียการย้ายบีเวอร์ออกไปให้ไกลจากเขตที่อยู่อาศัย เพราะหากยังมีบีเวอร์อยู่ เจ้าสัตว์ฟันแทะพวกนี้ก็จะรบกวนต้นไม้ที่ปลูก รั้วที่สร้าง อีกทั้งเขื่อนที่บีเวอร์ก่อก็ทำให้เกิดน้ำท่วมรอบๆ บ้านอีก

ในตอนนั้นชุมชนมีความคิดอยากเอาบีเวอร์ไปปล่อยกลางลำน้ำสาขาของแม่น้ำ Litlle Wood เพราะมันไกลจากชุมชนดี อีกทั้งพื้นที่แถบนั้นก็ออกแนวทุรกันดาร คิดว่าคงไม่มีมนุษย์ย้ายไปอาศัยแน่นอน หรือเจ้าบีเวอร์ก็คงไม่กล้าเดินฝ่าป่าเขากลับมาอยู่ที่เดิมแน่ๆ ดังนั้นแล้วพื้นที่ที่ว่าจึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด

แต่มันก็ติดปัญหาตรงความทุรกันดารที่ว่าคือการไร้ซึ่งถนนหนทาง การขนส่งเป็นไปค่อนข้างยาก จะให้แบกบีเวอร์ไปอีกก็ดูจะเป็นงานที่สาหัสสากรรจ์เกินไป 

หลังคิดไปมาหลายตลบ เรื่องก็มาลงเอยด้วยวิธีบินพาเจ้าบีเวอร์ไปโดดร่มเอาละกัน ไหนๆ ช่วงหลังสงครามร่มชูชีพในคลังของรัฐก็เหลือเยอะ เอาออกมาทำประโยชน์ช่วยเหลือผู้คน (ให้พ้นจากบีเวอร์) ก็คงดีกว่าเก็บไว้ให้ฝุ่นเขรอะ ปฏิบัติการเนรเทศบีเวอร์ด้วยการโดดร่มจึงได้เริ่มขึ้น

แน่นอนว่างานนี้มีการทดสอบก่อน และก็ไม่ใช่การให้เจ้าบีเวอร์ใส่ชูชีพตรงๆ แต่เป็นการขนส่งโดยการออกแบบกล่องวัสดุแบบพิเศษผูกติดไว้กับร่ม ที่เมื่อกระแทกลงพื้นแล้ว กล่องจะเปิดออกให้บีเวอร์สามารถออกไปใช้ชีวิตในบ้านหลังใหม่

ปฏิบัติการเนรเทศบีเวอร์ด้วยการโดดร่มได้ส่งบีเวอร์จำนวน 76 ตัวไปยังบ้านใหม่ไกลปืนเที่ยง มีรายงานว่าการขนส่งเป็นไปด้วยดี ไม่มีบีเวอร์ตัวไหนเสียชีวิตระหว่างลงสู่พื้น

นับจากนั้นมาคนก็อยู่ส่วนคน ส่วนบีเวอร์ที่ถูกย้ายไปอย่างงงๆ ก็เริ่มตั้งถิ่นฐานใหม่ ไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนภูมิทัศน์ด้วยการสร้างเขื่อน จนพื้นที่รอบๆ ลำน้ำสาขาสายเล็กๆ เกิดความอุดมสมบูรณ์ มีพืชน้ำ พุ่มหญ้า พุ่มไม้ขึ้นเต็มไปหมด กลายเป็นจุดสีเขียวแห่งเดียวกลางถิ่นกันดารดังภาพที่ NASA ได้เผยแพร่ออกมา

โดยในช่วงปี 2018 มีไฟป่าลุกท่วมทั่วพื้นที่แถบนั้น แต่ก็มีเพียงจุดสีเขียวตรงนั้นจุดเดียวที่ไม่เป็นอะไร กลายเป็นแหล่งหลบภัยของสิงสาราสัตว์ จนถูกเรียกว่า ‘Emerald Refuge’

ทั้งหลายทั้งปวง เปรียบได้กับคำตอบของคำถามว่า “ทำไมโลกนี้ต้องมีบีเวอร์” การคงอยู่ของสัตว์ชนิดนี้คือหนึ่งในผู้สร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับระบบนิเวศ ด้วยผลงานทางวิศวกรรมธรรมชาติ แม่น้ำที่มีบีเวอร์อาศัยอยู่จะรองรับความหลากหลายทางชีวภาพได้มากขึ้น ทนทานต่อภัยแล้งได้ดีกว่าพื้นที่รอบข้าง

อย่างไรก็ตาม มันก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะส่งบีเวอร์ไปอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ได้ทั้งหมด บางพื้นที่อาจจะเหมาะกับการมีบีเวอร์ (เอามาปล่อย) แต่บางแห่งที่ภูมิทัศน์ถูกเปลี่ยนจนไม่เหลือเค้าโครงเดิมแล้ว ก็คงจะเป็นงานยากเกินกว่าพละกำลังที่บีเวอร์ตัวน้อยมี

ปัจจุบันเรื่องราวการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างคนกับบีเวอร์ยังคงมีอยู่ในหลายๆ พื้นที่ที่คนกับสัตว์ตั้งถิ่นฐานอยู่ด้วยกัน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าที่อยู่อาศัยของบีเวอร์ที่เป็นป่าและแหล่งน้ำได้ลดลงไปมาก ในบางพื้นที่มันจึงเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ หากจะมีบีเวอร์มาขอแชร์ทรัพยากรป่าไม้และแหล่งน้ำร่วมกับคน 

อ้างอิง