ขาว = สวย = รวย? บิวตี้สแตนดาร์ดเสี่ยงตาย สมัยควีนเอลิซาเบธที่ 1

3 Min
3388 Views
22 Mar 2022

‘ขาวเท่ากับสวย’ ค่านิยมนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่นักในสังคมไทย บ้างก็เห็นด้วย บ้างก็ไม่เห็นด้วย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นหนึ่งในรสนิยมความงามยอดนิยมของคนบ้านเรา ดูตามชั้นขายโลชั่นทาผิวในร้านเสริมความงาม โฆษณาจำนวนไม่น้อย ต่างก็ชู ‘ความขาว’ เป็นจุดมุ่งหมายของความสวย

ชอบผิวขาว อยากผิวขาว คงไม่สามารถชี้นิ้วระรานกันได้ เพราะอย่างที่กล่าวว่ามันเป็น ‘รสนิยม’ ส่วนตัว แต่จะเป็นอย่างไร…หากรสนิยมนั้นเข้าขั้น ‘คลั่ง’ บานปลายจนกลายเป็นทางบั่นทอนอายุขัย

คลั่งขาวจนเสี่ยง (หรือเสีย) ชีวิตนั้นมีอยู่จริง อย่างในไทย ราวๆ เดือนตุลาคม ปี 2564 ก็เคยมีดราม่าบนโลกอินเทอร์เน็ตหลังผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งโพสต์ว่าตนนิยม ‘ปรอทเพื่อนรัก’ เพราะช่วยให้เธอขาวจริง แบบไม่สนจะเป็นมะเร็งหรือไม่ [https://bit.ly/3Jm8ko6] ส่วนในโลกตะวันตก ความ ‘นิยมขาว’ ก็เคยเป็นสาเหตุให้หญิงชายหลายคนเสียชีวิตมาแล้ว และอาจไม่เว้นกระทั่ง ‘ราชินี’

ใช่แล้ว กระทั่ง ‘ฝรั่งผิวขาว’ ก็เคย ‘คลั่งขาว’ ไม่ต่างจากบางคนในยุคสมัยนี้ และทัศนะความงามเสี่ยงอันตรายนี้เกิดขึ้นจริงเมื่อราวๆ 500 ปีที่แล้ว

ขาว = สวย = รวย ในสมัยเอลิซาเบธ

ทัศนะความงามที่เชื่อว่า ‘ขาว คือ สวย ดูดี มีกะตัง’ นี้เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 1500 หรือในสมัยเอลิซาเบธ (Elizabethan Era) ซึ่งพสกนิกรอังกฤษอยู่ภายใต้การปกครองของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งราชวงศ์ทิวดอร์

ความมีอิทธิพลของอลิซาเบธที่ 1 นั้นลามไปถึงเรื่อง ‘แฟชั่น’ ซึ่งรูปลักษณ์ของเธอที่มีผิวซีดขาว ปากแดง ผมแดง ก็สอดคล้องกับ ‘บิวตี้สแตนดาร์ด’ ของคนยุคเรอเนสซองซ์ (Renaissance) ที่นิยมการมีผมสีอ่อน ผิวสีซีด ตาสีอ่อน และปากสีแดงอยู่แล้ว แต่เธอก็ยิ่งทำให้มาตรฐานนั้นเป็นสิ่งที่น่าไขว่คว้าในบรรดาชนชั้นสูง เมียพ่อค้าวาณิช เหล่าผู้ดีมีฐานะเข้าไปอีก ด้วยเชื่อว่ารูปลักษณ์เช่นนั้นช่วยบ่งบอกถึงความร่ำรวย ไม่ต้องตากแดดตากลมจนผิวคล้ำเหมือนชนชั้นกรรมาชีพและชาวบ้านทั่วไป

แต่ความงามตามมาตรฐานนั้นก็ต้องแลกมาด้วย ‘ความพยายาม’ ที่มากล้นจนกลายเป็นอันตรายต่อชีวิต…

ตะกั่วขาว รองพื้นสุดปังที่พังผิวและพรากชีวิต

เครื่องสำอางยอดนิยมของอลิซาเบธที่ 1 มีชื่อว่า ‘Venetian Ceruse’ หรือในอีกชื่อ ‘พลังแห่งดาวเสาร์’ และคำว่า ‘Ceruse’ ก็หมายถึง รองพื้นผิวขาวยอดนิยมของคนยุคนั้นที่ทำจาก ‘ตะกั่ว’ เป็นหลัก ผสมกับน้ำส้มสายชู อีกทั้งยุคนั้นยังไม่มีสารกันแดดที่ช่วยป้องกันฝ้าบนใบหน้า เครื่องสำอางที่ใช้กลบสีฝ้าหรือรักษาฝ้า ก็มักจะผสมกำมะถัน น้ำมันสน และ ‘ปรอท’

เครื่องสำอางเหล่านั้นทำให้ผิวขาวซีดดั่งใจก็จริง แต่ในขณะเดียวกันก็ทำร้ายผิวจนแห้งเหี่ยว ซึ่งคนก็ยิ่งพยายามกลบร่องรอยเหล่านั้นด้วยการโปะให้หนาเข้าไปอีก ผสมกับการใช้ ‘ไข่ขาวดิบ’ พยายามเคลือบผิวให้เรียบเนียนเหมือนหินอ่อน

การใช้เครื่องสำอางนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในวงผู้หญิง ผู้ชายสมัยนั้นเองก็ใช้เพื่อให้ตัวเองดูขาวซีดมากที่สุด กลายเป็นภาพความงามผิดธรรมชาติ และด้วยความนิยมโปะ แต่ไม่นิยมล้างออก สารเคมีเหล่านั้นก็พอกพูนสะสมในร่างกายและเป็นยาพิษพรากชีวิตของชนชั้นสูงไปหลายคน

สวยจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต

หลักฐานต่อความหมกมุ่นในผิวขาวและความเยาว์วัยของราชินีเอลิซาเบธที่ 1 ปรากฏชัดอยู่บนรูปวาดของเธอ ซึ่งนิยมวาดเส้นเลือดบริเวณหน้าผาก ขับเน้นว่าเธอ ‘ขาวใส’ ไร้ที่ติ

ควีนเอลิซาเบธที่ 1 เสียชีวิตในวันที่ 24 มีนาคม ปี 1603 ที่พระราชวังริชมอนด์ ศพของเธอได้รับการบันทึกว่ามีเครื่องสำอางเคลือบหนาเป็นนิ้ว กลายเป็นหลักฐานความพยายามของเธอที่จะปกปิดความพังของผิวที่โดนสารเคมีมาตลอด ปกปิดความป่วยไข้จากโรคฝีดาษ และปกปิดชัยชนะของธรรมชาติที่ต่อสู้เอาความเยาว์วัยที่เธอคลั่งไคล้ไปจนหมด

หลายคนเชื่อว่า หนึ่งในสาเหตุการตายของเอลิซาเบธที่ 1 มาจากเครื่องสำอางผสมตะกั่วที่เธอพอกผิวมาค่อนชีวิต แต่ด้วยเพราะเธอไม่อนุญาตให้มีการชันสูตรศพ สาเหตุการตายที่แท้จริงของเธอจึงไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่ามันมาจาก ‘พลังแห่งดาวเสาร์’ หรือรองพื้นสุดรักของเธอจริงๆ หรือไม่

แต่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ยังมีหญิงอีกหลายคนที่ปิดไม่มิดว่าตายเพราะตะกั่วพอกผิว เช่น มาเรีย กันนิ่ง (Maria Gunning) หรือ เคาน์เตสแห่งโคเวนทรี หนึ่งในหญิงสังคมชื่อดังของอังกฤษในศตวรรษที่ 18 เธอเสียชีวิตเพียงอายุได้ 28 ปี และตามบันทึก เธอไม่ใช่หญิงชั้นสูงเพียงรายเดียวที่สังเวยชีวิตให้เครื่องสำอางมรณะดังกล่าว

ในทุกอารยธรรมบนโลกนี้มีสิ่งที่เรียกว่า ‘มาตรฐานความงาม’ พร้อมกลวิธีพยายามเพื่อให้คนได้ไปยืนอยู่บนตั่งสูงนั้น ไม่เว้นกระทั่งในประเทศไทย และประวัติศาสตร์ ก็เป็นเครื่องมือชั้นดีที่ช่วยฉายแสงให้เห็นความคลั่งไคล้ของมนุษย์ที่มีต่อ ‘ความงาม’

ความอยากสวยอยากงามไม่ใช่เรื่องผิด แต่การถลำลึกเสี่ยงชีวิตเพียงเพราะคิด ‘อยากขาว’ อาจเป็นเรื่องไม่คุ้มสำหรับบางคนก็ได้นะ

อ้างอิง