รู้ไหม ‘กะเพรา’ คือพืชศักดิ์สิทธิ์ในอินเดีย

2 Min
10892 Views
30 Jan 2021

Select Paragraph To Read

  • ความเป็นพืชของกะเพรา
  • ความเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของกะเพรา
  • ปริศนาเรื่อง ‘กะเพรา’ ในเมืองไทย

ชอบกินผัดกะเพรากันไหมครับ?

แน่นอนคนไม่น้อยก็คงจะชอบ และก็ไม่แปลกเลยที่ “ผัดกะเพรา” จะนับเป็นอาหารจานเดียวระดับคลาสสิคของสังคมไทยร่วมสมัยไปแล้ว ไม่ว่ามันควรจะใส่ถั่วฝักยาวหรือไม่ก็ตาม

อย่างไรก็ดี รู้ไหมว่าพืชชนิดนี้มีต้นกำเนิดมาจากอินเดีย และคนที่โน่นเขาไม่กินกัน แถมยังมีพิธีรีตองมากมาย เพราะคนอินเดียถือว่ากะเพราเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์

หลายคนอาจเริ่มสนใจกะเพรากันมากขึ้นแล้ว เอาล่ะ เรามาทำความรู้จักกะเพรากันก่อน

ความเป็นพืชของกะเพรา

ต้นกะเพรา | Wikipedia

กะเพราเป็นพืชที่ในโลกภาษาอังกฤษจัดว่าเป็น Perennial Plant ซึ่งคำนี้ไม่มีคำแปลไทยชัดๆ เพราะไทยจะจัดประเภทพืชอีกแบบตามลักษณะภายนอกว่าเป็นไม้ล้มลุกกับไม้ยืนต้น แต่ฝรั่งจะจัดตามอายุขัยของพืชเป็นหลัก เช่น ถ้าวงจรชีวิตพืชปีเดียวจะเรียก Annual Plant ส่วนสองปีจะเรียก Biennial Plant และมากกว่านั้นจะเรียก Perennial Plant

กะเพรานี่เป็น Perennial Plant หมายความว่าเป็นไม้ล้มลุกก็จริง แต่มันอายุยืนยาวมากๆ ไม่ใช่ “ไม้ล้มลุก” แบบที่เราเข้าใจทั่วไปในความหมายตรงตัวว่าอยู่แป๊บเดียวก็ตาย

ซึ่งความอายุยืนยาวของกะเพราก็เอื้อให้คนอินเดียสามารถปลูกเอาไว้บูชาได้อย่างยาวนาน

จริงๆ ชื่อภาษาอังกฤษของกะเพรานั้นชัดมากว่ามันศักดิ์สิทธิ์ เพราะคนเรียกว่า Holy Basil (ส่วนที่อินเดียจะเรียกว่า Tulsi)

แล้วทำไมกะเพราถึงศักดิ์สิทธิ์?

ความเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของกะเพรา

ในอินเดียมีตำนานหลายเวอร์ชันที่บอกว่ากะเพราคือร่างอวตารของพระลักษมี ซึ่งเป็นมเหสีของพระวิษณุ

อ่านถึงตรงนี้หลายคนอาจจะงง (อีกแล้ว) เพราะคนไทยอาจไม่คุ้นกับระบบเทพอินเดีย ถ้าจะอธิบายสั้นๆ เทพสูงสุดในบรรดาเทพมากมายมหาศาลของอินเดียมี 3 องค์ ได้แก่ พระพรหม เทพผู้สร้างโลก พระวิษณุ เทพผู้ปกปักรักษาโลก และพระศิวะ เทพผู้ทำลายโลก

ซึ่งในที่นี้คนอินเดียถือว่ากะเพราเป็นพืชที่มีความใกล้ชิดกับพระวิษณุมากๆ เพราะเป็นอวตารของมเหสีของพระองค์ ซึ่งในแง่นี้ เราจะบอกว่ากะเพราเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของอินเดียก็พอได้ เพราะอินเดียไม่ได้ถือว่าพืชชนิดอื่นเป็นตัวแทนของเทพเจ้าในระดับนี้

และถ้ายังไม่คุ้นอีก พระวิษณุเนี่ย บางทีคนไทยจะคุ้นกันในชื่อพระนารายณ์มากกว่า ซึ่งถ้าพูดถึงเรื่องราวการอวตารของพระนารายน์ เราย่อมนึกถึงพระรามในรามเกียรติ์ ซึ่งในเรื่องนั้น ร่างอวตารของพระลักษมีก็คือนางสีดา หรือพูดง่ายๆ สำหรับคนอินเดีย ‘กะเพรา’ นั้นมีสถานะเทียบเท่า ‘นางสีดา’ คือเป็นร่างอวตารของชายาของเทพสูงสุด

ข้อเท็จจริงข้างต้นทำให้คนอินเดียเคารพกะเพรามาก และบางแห่งจะปลูกกะเพราไว้บูชาแถววัดที่มีการบูชาพระวิษณุ หรือปลูกไว้บูชาในบ้าน

ซึ่งในความเชื่อของอินเดีย เขาจะห้ามเอาสิ่งสกปรกไปรดต้นกะเพราเด็ดขาด เท่านั้นยังไม่พอ คนอินเดียยังห้ามตัดกิ่งหรือถอนต้นกะเพราอีกด้วย ต้องปล่อยให้ตายไปตามธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งต้นกะเพราที่แห้งตายก็อาจเอามาทำเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้อีก

ต้นกะเพราที่แท่นบูชาในวัดที่อินเดีย | Wikipedia

หรือถ้าจะพูดกันแบบเข้าใจง่าย กะเพราในอินเดียคือพืชศักดิ์สิทธิ์ในเลเวลเดียวกับวัวเลย ซึ่งของพวกนี้เขาไม่เอามากิน แต่เอาไว้บูชาอย่างเดียว และนี่เป็นสาเหตุว่า แม้อาหารอินเดียจะใส่เครื่องเทศเผ็ดร้อนแค่ไหน แต่เขาจะไม่ใส่กะเพราเด็ดขาด

ปริศนาเรื่อง ‘กะเพรา’ ในเมืองไทย

ตัดภาพมาที่ประเทศไทย กะเพราเข้ามาในไทยได้อย่างไรไม่ทราบแน่ชัด แต่อย่างน้อยๆ หมอบรัดเลย์ก็บันทึกเอาไว้ว่าคนไทยกินกะเพรากันเป็นปกติมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 แล้ว โดยสมัยก่อนคนใช้กะเพราใส่แกงกัน

ถ้าจะถามต่อว่าอาหารจานฮิตที่มีกะเพราเป็นพระเอกแบบ “ผัดกะเพรา” นี่เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ทุกวันนี้ก็ยังไม่อาจสรุปได้เช่นกัน เพราะสังคมไทยไม่ได้มีการบันทึกอะไรละเอียดขนาดจะตอบคำถามแบบนี้ได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในปัจจุบันนี้ คนไทยไปอินเดียแล้วเห็นคนอินเดียบูชากะเพราก็น่าจะงงพอๆ กับที่คนอินเดียมาไทยแล้วเห็นคนไทยเอากะเพรามาผัดกินราดข้าวกันอย่างเอร็ดอร่อย

การบูชากะเพราของคนอินเดีย | Dailyhunt

อ้างอิง:

  • USA Today. What you need to know about this sacred herb from india. http://bit.ly/2Mu7Y6r
  • Wikipedia. Tulsi in Hinduism. http://bit.ly/2YneeQ4
  • หมอชาวบ้าน. กะเพรา ผักพื้นบ้านและพืชศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู. https://bit.ly/36hyNlk