8 Min

Bangkok Survival Guidebook แคมเปญที่เกิดจาก 2 ครีเอทีฟจากบ้าน BrandThink ที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้กรุงเทพฯ อีกต่อไป

8 Min
440 Views
28 Aug 2022

ถ้าสังเกตให้ดี ‘ผู้คน’ และ ‘กรุงเทพฯ’ นับว่ามีสายสัมพันธ์ที่ซับซ้อน ถามว่ารักเมืองนี้ไหม ก็คงรักและผูกพันในระดับหนึ่ง แต่ถ้าถามต่อว่า มีสิ่งที่ไม่ชอบไหม ก็คงมีมากมายเต็มไปหมด

เป็นความสัมพันธ์หวานๆ ขมๆ ที่เราอดทนกันมาเนิ่นนาน

บางวัน กรุงเทพฯ ก็เหมือนจะใจดี มีของกินยั่วน้ำลาย มีผู้คนที่น่าหลงใหล มีความหวือหวาให้ออกค้นหา แต่บางครั้งกรุงเทพฯ ก็เหมือนจะใจร้าย เป็นเหมือนด่านสุดอันตรายที่เราต้องต่อสู้และผ่านพ้นไปให้ได้ในทุกวัน

แต่วันนี้เราจะไม่ยอมอ่อนข้อให้กรุงเทพฯ อีกต่อไป เราจึงชวน 2 ครีเอทีฟจากบ้าน BrandThink มาร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการริเริ่มการทำแคมเปญสุดเทพซ่า จากเมืองเทพสร้างนี้กับ Bangkok Survival Guidebook

ที่ไม่ว่าคุณจะเทพ จะซ่า จะบ้าแค่ไหน ขอแค่สร้างผลงานเล่าทางรอดของปัญหาใดๆ ก็ได้ในกรุงเทพฯ ที่เห็นแล้วต้องว้าวจนถุงกับข้าวอาจารย์ชัชชาติร่วงก็พอ เกี่ยวอะไรกับอาจารย์น่ะเหรอ ก็เรามีมิชชั่นคัดเลือกผลงานสุดเจ๋งจากพวกคุณ รวมเล่มเป็นไกด์บุ๊คส่งตรงถึงมืออาจารย์แบบที่คุณไม่ต้องดักรอตามรูทวิ่ง แต่เราจะร่วมเปลี่ยนกรุงเทพฯ ด้วยการวิ่งพาปัญหาไปหาอาจารย์ชัชชาติให้คุณเอง

แคมเปญนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

มีเนื้อหาแบบไหน

เราให้ ‘ณ​’ และ ‘เอม’ พาเราไปทำความเข้าใจแคมเปญนี้กัน!

แนะนำตัวเองให้เรารู้จักสั้นๆ

ณ: นฤพล เปาอินทร์ เคยทำงานอยู่เอเจนซี ตอนนี้มาเป็นครีเอทีฟที่ BrandThink ทำในส่วนการรับงานลูกค้า เพื่อคิดแคมเปญขายของต่างๆ ให้กับลูกค้า

เอม: มานะ ขวัญเมือง เป็นครีเอทีฟอยู่ที่ BrandThink ก่อนหน้าที่จะมีแคมเปญนี้ ได้คิดแคมเปญต่างๆ ของลูกค้ามา พูดให้ง่าย คืออยู่ฝ่ายดูแลลูกค้า

Thinkster คืออะไร

ณ: BrandThink อยากจะสร้างแพลตฟอร์มให้ทุกคนมาร่วมสนุกกัน ซึ่ง Thinkster จะเป็นเหมือน Community ของครีเอเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นสายวาด สายเขียน สายถ่ายภาพ สายทำวิดีโอ ซึ่งมันน่าสนใจตรงที่เป็นพื้นที่สำหรับครีเอเตอร์หน้าใหม่ ไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และได้มาเริ่มตั้งไข่การเป็นครีเอเตอร์ที่นี่

เอม: Thinkster เปรียบเสมือนวงในของชาวนักคิดสร้างสรรค์ ซึ่งใน Thinkster จะมีแกนหลัก คือ Creator Network เป็นเหมือนศูนย์กลางให้กับนักสร้างสรรค์ โดยที่ไม่จำเป็นว่าเราต้องเป็นคนทำแคมเปญอย่างดียว แต่เราสามารถคิดแคมเปญเอง และมี Creative Brief มาแจกโจทย์ เพื่อให้คนที่เข้ามาใน Thinkster ได้ทั้งพื้นที่สร้างสรรค์ รวมถึงผลประโยชน์อื่นๆ กลับไปด้วย

แล้วทำไม Thinkster ต้องทำ ‘Bangkok Survival Guidebook’

ณ: ในช่วงหนึ่งที่มีกระแสอาจารย์ชัชชาติเข้ามา เราจึงอยากใช้กระแสนี้ให้เป็นประโยชน์ในการสร้างแคมเปญใหม่ขึ้นมาเป็นแคมเปญแรกของ Thinkster คืออยากให้เป็นพื้นที่ที่สรรหาครีเอเตอร์หน้าใหม่ ให้เข้ามาร่วมสนุกกับแคมเปญและคอนเทนต์ต่างๆ โดยเราเริ่มคิดจาก Creator Insight ว่า ลึกๆ แล้ว สิ่งที่ครีเอเตอร์ต้องการคืออะไร นั่นก็คือ ‘ความสนุก’ เริ่มแรกเลยคือการ อยากทำเพราะมันสนุก อย่างการสร้างมีมที่ทุกคนสามารถทำได้ แค่นี้ก็เรียกว่าเป็นครีเอเตอร์อย่างหนึ่งแล้ว อยากทำเพราะอยากให้คนอื่นได้เห็น มันคือ insight หนึ่งของครีเอเตอร์ที่เวลาสร้างสรรค์ผลงานอะไรออกไป เราก็อยากให้คนได้เห็นในวงกว้าง สุดท้ายคือ อยากทำเพราะอยากได้โอกาส คืออย่างเวลาคนที่ชนะการเข้าประกวดรางวัล แคมเปญนี้ก็เช่นกัน ครีเอเตอร์จะได้ลุ้นร่วมเวิรค์ช็อป เพื่อที่จะพาตัวเองเข้าไปสู่โอกาสใหม่ในวงการนั้นๆ เพราะงานเวิร์คช็อปพวกนี้จะให้ประสบการณ์กับเรา ซึ่งเรามองว่าคนที่เป็นครีเอเตอร์ ก็อยากหาโอกาสให้กับตัวเองและถูกมองเห็นจากคนภายนอกอยู่แล้ว

ที่มาที่ไปของชื่อ และ Artwork ของ ‘Bangkok Survival Guidebook’

ณ: การเป็นครีเอเตอร์ที่เก่ง สำหรับเราคือ การที่มองเรื่องเดิมๆ ในมุมใหม่ได้ ซึ่งเราก็เลยมองว่าโจทย์ของแคมเปญนี้ต้องเป็นเรื่องที่เปิดกว้างและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราทุกคน เพื่อให้ได้ไปสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานออกมาในรูปแบบต่างๆ ได้

เอม: เราอยากให้มันสัมพันธ์ไปกับงานของอาจารย์ชัชชาติ ถ้าทุกคนจำได้คือ ก่อนที่เขาจะลงสมัครตำแหน่งผู้ว่าฯ เขาได้ลงประกาศนโยบาย 214 ข้อ พอเราเห็นแล้วก็รู้สึกว่า มันเยอะมาก เลยอยากหยิบปัญหาพวกนี้มาทำให้มันมี ‘ทางรอด’ เพราะจริงๆ แล้วชีวิตของคนในกรุงเทพฯ มันก็ survival กันอยู่แล้ว

ส่วนอาร์ตเวิร์คก็อยากให้สอดคล้องกับแง่มุมของอาจารย์ชัชชาติ เพราะเขามักจะใช้วิธีการเข้าถึงผู้คนอย่างเป็นกันเอง ในอาร์ตเวิร์คจะเห็นว่ามีความเป็นตัวการ์ตูนและมีองค์ประกอบของการปลุกระดม โดยจะหยิบกลิ่นของ Thinkster แต่ละแขนง มาเป็นตัวแทนของครีเอเตอร์แต่ละแบบของเหล่าครีเอเตอร์ที่มาร่วมสร้างสรรค์

ทำไมเลือกรูปแบบการนำเสนอเป็นแบบ Guidebook

ณ: เรานึกถึง ‘Lonely Planet’ ที่เป็น Guidebook แบบพกพา ที่จะนำเสนอในมุมใหม่ โดยคิดจากมุมมองของคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้จริงๆ กับการเอาตัวรอดในแบบของตัวเอง เป็นเหมือน tips and tricks ตลกๆ ที่เรามองว่ามันจะได้เห็นมุมมองที่หลากหลายของคนที่อยู่กับปัญหานั้นจริงๆ

เอม: คือเราอยากทำเป็นหนังสือ เพราะอาจารย์ชัชชาติเคยพูดถึงหนังสือชื่อ ‘Livable Japan’ มันเป็นหนังสืออารมณ์เหมือน Guidebook ด้วยความที่เราอยากให้มันสอดคล้องกับเขา ก็เลยดึงส่วนตรงนี้มาเป็นกิมมิคในแคมเปญนี้ด้วย

มีมุมมองอย่างไรต่อการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ

เอม: เราไม่อยากอยู่ ยกตัวอย่างจากน้องสาวเราทำงานที่ญี่ปุ่น ชีวิตมันดีกว่ามากๆ หรือแม้แต่เราดูในสื่อโซเชียลที่เห็นการใช้ชีวิตในเมืองนอกมันดีกว่ากรุงเทพฯ แต่ในโลกของความเป็นจริง เราก็ต้องอยู่กับมัน ตอนนี้ทุกคนแทบจะทำงาน 2-3 อาชีพเป็นเรื่องปกติกันแล้ว คนที่ทำงานอาชีพเดียวกลายเป็นเรื่องแปลก ซึ่งชีวิตของเราเจอทั้งเรื่องค่าครองชีพ การเดินทาง ที่ทำให้เราเองต้องพยายามมากขึ้นในทุกวัน เพื่อที่จะอยู่กับมันให้ได้

ณ: เราว่าการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ มันมีความยากและง่ายในแบบของมัน ซึ่งเรามองว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่เมืองอย่างเดียว แต่อยู่ที่มุมมองของเราด้วย เราไม่ควรโทษไปที่ข้างนอกอย่างเดียว วิธีการที่ง่ายที่สุดในการเปลี่ยนโลกคือการเปลี่ยนมุมมองของตัวเองที่มีต่อโลก เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนโลกได้ ไม่สามารถเปลี่ยนนายกฯ ได้ภายในวันนี้ มันเป็นสิ่งที่เกินการควบคุมของเราไปแล้ว มันก็เลยกลับมาที่ ‘Bangkok Survival Guidebook’ ที่เราอยากให้ทุกคนมองกรุงเทพฯ ในมุมที่มันอาจจะลำบาก แต่มันลำบากแบบท้าทายที่เราจะสนุกไปกับมันได้

เอม: ตัดคำตอบเราออกไปเลยก็ได้นะ ดาร์คเกิน (หัวเราะ)

เคยพบเจอปัญหาอะไรบ้างในกรุงเทพฯ

เอม: ปัญหาของเราคือ ‘การจราจร’ เพราะมันส่งผลแทบจะทุกอย่างเลยในชีวิต เพราะแค่ทำงานมันก็เหนื่อยแล้ว ถ้าการเดินทางยังเหนื่อยอีก มันยิ่งเสียสุขภาพกายและสุขภาพจิตไปตามกัน แล้วเราเองไม่เคยรู้สึกปลอดภัยกับขนส่งมวลชนสักเท่าไหร่ ตัวอย่างที่เห็นคือการนั่งเรือที่คลองแสนแสบน้ำก็สาด นั่งรถตู้ที่ไม่มีเข็มขัดนิรภัย นั่งแท็กซี่ที่ซิ่งจัด เราเลือกที่จะซื้อมอเตอร์ไซค์ขี่เข้าไปในเมืองเองดีกว่า เพราะท้ายที่สุดอันตรายแค่ไหนก็ขอให้อยู่ในมือของเราเอง

ณ: ปัญหาที่เราเจอมันเป็นเรื่องที่เล็กมาก แต่มันทำให้เรามึนหัวได้ทั้งวัน คือเราจะนั่งรถเมล์จากพระราม 2 มาอนุสาวรีย์แล้วระหว่างทางมันก็จะผ่านประตูน้ำ ซึ่งจะเป็นถิ่นของแขก แล้วตอนเช้าที่เรานั่งรถเมล์มาเราจะเจอแขกที่ไม่อาบน้ำ มันต้องนึกกลิ่นตาม คือมันแย่มาก มันเป็นกลิ่นที่จมูกเรารับไม่ไหว มันขมที่คอ (หัวเราะ) แล้วมันทำให้วันนั้นเป็นวันที่แย่ไปเลย แค่กลิ่นของเพื่อนร่วมรถเมล์

“เมืองที่ดี คือเมืองที่เซฟเวลาชีวิตให้กับคนในเมือง เพราะเวลาเท่ากับความสามารถของคนที่จะผลิตทรัพยากรต่างๆ การที่เสียเวลาบนท้องถนน นั่นจะทำให้ทรัพยากรของเมืองกำลังถูกผลาญไปโดยไร้ประโยชน์”

คำพูดนี้ไม่เกินจริงอีกต่อไป เพราะอย่างที่เราเห็นกันว่าทุกวันนี้เราแทบจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ ไปกับการเดินทางที่ไม่ได้เอื้ออำนวยต่อผู้คนในเมืองสักเท่าไหร่ หรือเรียกได้ว่าการใช้ชีวิตของเราต้องพึ่งพาอาศัยตัวเองไปซะหมด แล้วท้ายที่สุดในเมื่อไม่มีใครที่แก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ทุกปัญหาก็ต้องวนกลับมาแก้ที่ตัวเราเอง

จากปัญหาที่เล่ามา ถ้าหากให้แชร์เทคนิคเอาตัวรอดของตัวเองจะทำอย่างไร

ณ: ในปัญหาที่เรายกไป เราจะหาคำในภาษาเขาที่เป็นประโยคบอกเล่าอย่างสุภาพว่า “กลิ่นของคุณมันรบกวนการใช้ชีวิตของฉันอยู่” แต่มันก็เป็นเรื่องที่เซนซิทีฟประมาณหนึ่ง ก็ไม่รู้จะทำยังไงให้ไม่ไปบูลลี่เขา แต่ในอีกทางหนึ่งกลิ่นของเขาก็กำลังบูลลี่เราอยู่

เอม: วิธีแก้ของเราคือ ซื้อมอเตอร์ไซค์เลยทุกอย่างก็จะจบ ซึ่งการแก้ไขปัญหารถติดอาจจะทำไม่ได้โดยตรง แต่เราอาจจะเลือกทำเพลย์ลิสต์กระตุกจิตกระชากใจ ให้จิตใจเราได้พักในวันที่เราเหนื่อยมากๆ ก็ถ้าเราแก้ที่เมืองไม่ได้ อย่างนั้นก็แก้ที่เราดีกว่า

คิดว่าผู้เข้ามาร่วมแชร์เทคนิคเอาตัวรอด จะได้รับประโยชน์อะไรกลับไปบ้าง

ณ: อย่างเเรกคือ เขาคงสนุก เพราะเรามองว่าการเป็นครีเอเตอร์ มันมีความอัดอั้นอยู่ข้างในที่อยากระบายออกมา และพอได้ระบายสิ่งที่อยู่ในใจใน พื้นที่ที่จะทำให้พวกเขามีตัวตนมากขึ้น มันก็เหมือนเป็นพอร์ตโฟลิโอที่จะทำให้คนมองเห็นว่า เรามีฝีมือเเละอาจจะได้โอกาสในอนาคตต่อไป

เอม: เเค่เอาความโกรธ เอาความไม่ชอบ หรือเอาความเซ็ง มาเเปรเปลี่ยนเป็นไอเดีย ยังไงมันก็คือกำไร อย่างที่ ณ บอกคือกำไรในเเง่ของผลงานที่จะเป็นที่รู้จักมากขึ้น เเถมยังได้กำไร
ถ้าเกิดผลงานเข้าตากรรมการก็อาจจะได้รับรางวัล เเค่เเปรเปลี่ยนความเซ็ง ความเศร้า มาผสมกับไอเดียของตัวเอง สุดท้ายสิ่งที่ทุกคนจะได้ มันคือกำไรอยู่เเล้ว

ขอแอบคั่นตรงนี้นิดหนึ่งว่า แคมเปญ ‘Bangkok Survival Guidebook’ นอกจากจะได้แชร์ทริคเจ๋งๆ ของพวกคุณอย่างไม่จำกัดจำนวนชิ้นงานแล้ว ยังมีโอกาสลุ้นสิทธิพิเศษมากมาย อาทิ การได้มีผลงานโชว์ในหนังสือ ได้ร่วมเวิร์คช็อปสายคอนเทนต์ อีกทั้งยังได้รับการสัมภาษณ์ลง Fanpage BrandThink และสิทธิพิเศษสุดท้ายคือ ร่วมลุ้นรับเงินทุน 10,000 บาท

เป้าหมายของ Bangkok Survival Guidebook คืออะไร

ณ: เรามองว่าอย่างน้อยที่สุด เราอยากให้ครีเอเตอร์มองปัญหาให้มันเป็นเรื่องสนุก ได้รู้สึกว่าปัญหาเดิมที่เราเจอกันอยู่ทุกวัน เเต่ถ้าเรานำเสนอมันด้วยมุมมองที่ใหม่ขึ้น มันอาจจะเปลี่ยนความรู้สึกของเราที่มีต่อกรุงเทพฯ ได้ โดยที่เราไม่ต้องซีเรียสหรือเครียดเกินไป เเค่สนุกกับการใช้ชีวิตเเบบ survival ในกรุงเทพฯ ได้ก็พอ

เอม: อย่างท้ายที่สุด ผลงานนี้ก็จะส่งถึงมืออาจารย์ชัชชาติ เเละเเน่นอนว่าพอมันได้ผ่านสายตาของอาจารย์ชัชชาติ เขาก็จะได้เห็นวิธีการแก้ไขปัญหา ได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ของผู้เข้าร่วมแคมเปญ ‘Bangkok Survival Guidebook’

สุดท้ายใครบ้างที่คิดว่าจะต้องมี Bangkok Survival Guidebook ไว้ครอบครอง

เอม: เรามองว่าทุกคนควรมีหนังสือเล่มนี้อยู่ในมือ เรารู้สึกว่าเเก้ได้ เเก้ไม่ได้ อันนี้มันอาจจะยังไม่เห็นผล เเต่ถ้าได้ลองอ่าน เราคิดว่าทุกคนจะเข้าใจปัญหา เเละยิ้มไปกับมันมากขึ้น

ณ: อีกกลุ่มหนึ่งเราคิดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะต้องมี เราว่ามันมีประโยชน์กับเขา รู้สึกว่ามันเป็นเหมือนคู่มือเกมที่จะบอกเทคนิคต่างๆ ว่าจะผ่านด่านนี้ไปได้ยังไง จะผ่านด่านเรือคลองเเสนเเสบยังไงดี เพราะชาวต่างชาติก็คงว้าว กับการที่นั่งเรือคลองเเสนเเสบเเล้วต้องดึงผ้าใบขึ้นมา เรามองว่ามันเป็นกิมมิคที่น่ารักดีสำหรับคนที่ต้องมาเที่ยวหรือมาอาศัยในกรุงเทพฯ

ซึ่งไม่ว่าคุณจะเป็นครีเอเตอร์สายไหน ขอแค่มีใจอยากสร้างสรรค์และร่วมแชร์เทคนิคการเอาตัวรอดในกรุงเทพฯ ที่แม้ว่าปัญหาจะเยอะมากมายขนาดไหน แต่ถ้าวิธีการแก้ไขปัญหาของคุณมันโคตรคูล โคตรเจ๋ง อย่าลืมมาร่วมครีเอทผลงานให้ก้องเมืองนี้ เพราะไม่ใช่แค่เราที่ได้ชื่นชม แต่ผลงานของคุณอาจจะได้ผ่านสายตาของอาจารย์ชัชชาติก็เกิดขึ้นได้

สมัครร่วมแคมเปญ ได้ที่: https://thinkster.brandthink.me/campaign/bangkok-survival-guidebook

รูปแบบของผลงาน: เปิดรับผลงานที่หลากหลาย ทั้งบทความงานเขียน ภาพถ่าย ภาพวาด ภาพอินโฟกราฟิก หรือวิดีโอ แล้วแต่ความถนัดของทุกคนเลย

จำนวนชิ้นงาน: 1 คน สามารถส่งผลงานได้ไม่จำกัดจำนวนชิ้นงาน คอนเทนต์ที่เทพโดนใจ จะได้

  1. มีผลงานโชว์ใน ‘Bangkok Survival Guidebook’ ฉบับที่จะส่งให้ถึงมือ อาจารย์ชัชชาติ ได้ชื่นชมการมีส่วนร่วมสร้างเมืองเทพซ่าสุดศิวิไลซ์ของคุณ
  2. ได้ร่วมเวิร์คช็อปสายคอนเทนต์จากตัวจี๊ดสุดเก๋าทั้งสามสายงาน ได้แก่ สายครีเอทีฟ Storyteller อย่าง แมว-ประกิต กอบกิจวัฒนา ผู้ทำงานเบื้องหลังกลยุทธ์การสื่อสารและคิดแคมเปญ ทำงาน ทำงาน ทำงาน ให้อาจารย์ชัชชาติตามด้วยสายงานภาพนิ่ง Visual Creator อย่าง ตาล-ธนพล แก้วพริ้ง ช่างภาพยอดฝีมือของเมืองไทย และ บอล, ยอด หนังพาไป ที่จะมาเวิร์คช็อปด้าน Video Creator งานถนัดของพวกเขาทั้งสอง จากจุดเริ่มต้นด้วยการส่งหนังเข้าประกวดสู่การทำหนังสารคดีในช่องยูทูบของตัวเอง 10 กว่าปีแล้ว
  3. ได้รับการสัมภาษณ์ลงบน Fanpage BrandThink ที่มียอดผู้ติดตามกว่า 1 ล้านคน
  4. คอนเทนต์ที่ได้รับเลือกจากทีมงาน (Staff Pick) และคอนเทนต์ที่ได้รับโหวตจากทางบ้านสูงสุด (Popular Vote) อย่างละ 1 คอนเทนต์ จะได้รับเงินทุน 10,000 บาท

ระยะเวลา: 14 กรกฎาคม – 18 กันยายน 2565

วิธีเข้าร่วมส่งผลงาน
1. เข้าเว็บไซต์ https://thinkster.brandthink.me/…/bangkok-survival…
2. Sign up หรือ Sign in เข้าระบบให้เรียบร้อย
3. มองหาคำว่า Join Campaign
4. กรอกข้อมูลที่แคมเปญนั้นๆ ต้องการให้ครบ แล้วกด ​Publish แบ่งปันความคิดให้โลกเห็นทันที หรือกด Preview เพื่อเช็กก่อนแชร์ก็ได้