ชวนฟังเสียง ‘คนไม่มีสิทธิ’ ในกรุงเทพฯ ‘ประชากรแฝง’ ที่ต้องรับผลทางนโยบาย แต่เหมือนอยู่อย่างไร้ตัวตน
อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่ตรงนี้พอ
คนกรุงเทพฯ ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กันไปแล้ว แต่จริงๆ ประชากรที่อาศัยอยู่ราว 10 ล้านคน เกือบครึ่งหนึ่งเป็น ‘ประชากรแฝง’ ที่มาใช้ชีวิตในมหานครแห่งนี้ แต่ไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านมา ก็เลย ‘ไม่มีสิทธิ’ ลงคะแนนเสียงเลือกผู้บริหาร กทม. ทำให้ต้องรับผลทางนโยบายโดยไม่มีส่วนร่วมกำหนดอนาคตของเมือง (และตนเอง) จึงมีการเคลื่อนไหวว่าเสียงของคนกลุ่มนี้ควรถูกรวมอยู่ในการกำหนดนโยบายของเมืองด้วย แต่จะทำได้จริงหรือไม่?
แม้กรุงเทพฯ จะเป็นเขตปกครองพิเศษที่มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการมากกว่าจังหวัดอื่นๆ แต่กลับไม่เคยมีแผนรองรับประชากรแฝงอย่างเป็นทางการ ทำให้เมื่อยามเกิดวิกฤต เช่น น้ำท่วมใหญ่ ไวรัสโควิด-19 ระบาด คนเหล่านี้จึงถูกทอดทิ้งจากระบบราชการ หลังวิกฤตผ่านไป และกำลังจะมีผู้ว่าราชการคนใหม่ ถึงเวลาหรือยังที่กรุงเทพมหานคร จะโฟกัสมาที่ปัญหานี้อย่างจริงจัง
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้อัปเดตตัวเลขข้อมูลประชากรไทยล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร มีจำนวนราษฎรมากที่สุดของประเทศ คือ 5,527,994 คน แต่ในความเป็นจริงกรุงเทพฯ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้นเกือบ 10 ล้านคนถ้ารวม ‘ประชากรแฝง’ และ ‘นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ’ เข้าไปด้วย เท่ากับว่าประชากรในกรุงเทพฯ ระหว่างประชากรที่มีทะเบียนบ้านภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร กับจำนวนของประชากรแฝงประเภทต่างๆ มีสัดส่วนเกือบจะเท่าๆ กัน
และนี่อาจจะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับเมืองหลวงทั่วโลกที่ประชากรจากพื้นที่รอบนอกพากันหลั่งไหลเข้ามาสู่ใจกลางเมืองที่เป็นศูนย์รวมของประเทศ ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีการพูดถึงว่าจะมีการบริหารจัดการกับกลุ่มคนเหล่านี้อย่างไรให้เท่าเทียมกับคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร
เพราะว่าประชากรแฝงที่เข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเข้ามาเรียน ทำงาน ใช้ชีวิต ล้วนฝากอนาคตไว้ที่นี่ บางคนอยู่เกินครึ่งชีวิตในห้องเช่าไม่มีเอกสารสิทธิ์ ไม่มีบ้านเลขที่ให้ย้ายเข้ามาเป็นพลเมืองเป็นทางการ แต่ความเป็นอยู่ที่ดำเนินไปเกิดดอกออกผลต่อกรุงเทพมหานคร เรียกว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกรุงเทพมหานครอีกกลุ่มหนึ่ง และคนกลุ่มนี้ก็ไม่ต่างจากอีกหนึ่งฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครให้รุดหน้าไป มีบทบาทสำคัญไม่แตกต่างกันเลยกับผู้ที่มีภูมิลำเนาดั้งเดิมอยู่ในกรุงเทพมหานคร
ปัญหาจากการไม่มีแผนรองรับประชากรแฝง
ด้วยความที่เป็นเมืองใหญ่เป็นศูนย์กลางของประเทศ มีเงื่อนไขที่ไม่เหมือนจังหวัดอื่นๆ กรุงเทพฯ จึงถูกจัดตั้งขึ้นเป็นเขตปกครองพิเศษเพื่อให้มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการภายใน พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 กำหนดให้กรุงเทพมหานครมีสถานะเป็นนิติบุคคล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารงาน อยู่ในตำแหน่งตามวาระคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง แต่ต้องดำรงตำแหน่งไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน โดยมีฝ่ายนิติบัญญัติ คือสภากรุงเทพมหานคร ที่ได้รับการเลือกตั้งจากชาวกรุงเทพมหานครเช่นกัน ดำเนินงานร่วมด้วย
นั่นแสดงว่ากรุงเทพฯ สามารถออกแบบการปกครองให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมแบบกรุงเทพฯ ได้ แต่ว่ากรุงเทพฯ ที่ผ่านมากลับไม่มีแผนรองรับประชากรแฝงที่มีจำนวนครึ่งต่อครึ่งของประชากรทั้งหมดในกรุงเทพฯ ในสภาพปกติ ประชากรอาจสร้างประโยชน์ให้กรุงเทพฯ มหาศาล แต่ในสภาพการณ์อย่างกรณีช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2553-2554 หรือล่าสุดสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 พบว่าประชากรครึ่งหนึ่งของกรุงเทพฯ คือประชากรแฝงที่มีประมาณเกือบ 4 ล้านคน กลับตกอยู่ในสภาพถูกทอดทิ้งจากกลไกของระบบราชการ ไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งในส่วนของรัฐบาลกลางและเขตปกครองพิเศษกรุงเทพฯ ทั้งยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายที่จะให้สิทธิกับประชากรแฝงซึ่งเป็นคนต่างจังหวัด ที่ไม่ว่าจะจ่ายภาษีอยู่ที่ไหน เงินก็ไหลมาบำรุงกรุงเทพมหานคร คนเหล่านี้จึงเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือในหลายด้าน เพียงเพราะบ้านเกิดหรือภูมิลำเนาอยู่นอกกรุงเทพฯ แม้จะย้ายมาอาศัยอยู่ในเมืองหลวงมานานแล้วก็ยังถูกทิ้งให้ป่วยไข้ ตาย โดยที่เงินภาษีเหล่านั้นเอื้อมมาดูแลไม่ถึง หลังเกิดวิกฤต สังคมจึงเริ่มหันมาสนใจประชากรแฝงในกรุงเทพฯ มากขึ้น
เว็บไซต์ WeVote BKK ทดลองให้ผู้ที่ไม่ใช่คนกรุงเทพฯ แต่อาศัยเป็นประชากรแฝงในกรุงเทพมหานคร ได้มีโอกาสลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ โดยออกแบบหน้าเว็บเพจให้เหมือนกับคูหาเลือกตั้ง และมีระบบลงคะแนนให้กับประชากรแฝงที่อาศัยอยู่ในเขตต่างๆ ได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ในชื่อแคมเปญ ‘(ไม่ใช่) คน กทม. ขอเลือกด้วย’ ที่แคมเปญนี้ได้ปิดหีบไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 และคาดว่าผลการลงคะแนนเสียงน่าจะมีการนำมาเผยแพร่หลังจากที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร เสร็จสิ้นไปแล้ว เชื่อว่าตัวเลขนี้จะมีผลต่อสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ที่อาจจะช่วยจุดประกายให้เกิดแผนรองรับประชากรแฝงกรุงเทพมหานครต่อไปในอนาคต ภายใต้การบริหารของผู้ว่าราชการคนใหม่ ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน
อ้างอิง
- ราชกิจจานุเบกษา. อัปเดตรายชื่อประชากร. https://bit.ly/3G80VIp
- Matichon. สถิติประชากร สำนักทะเบียนกลาง. https://bit.ly/3NsPIo5
- We Vote BKK. ไม่ใช่คน กทม. ขอเลือกด้วย. https://bit.ly/3a4zCmf
- ราชกิจจานุเบกษา. พ.ร.บ.กรุงเทพฯ. https://bit.ly/3wJZv2l