ใจบาง? จีนแบนเพลงศิลปินมาเลเซีย ปมเสียดสี ‘กองทัพไซเบอร์-ต้นตอโควิด’ แต่ยอดวิวทะลุ 31 ล้านแล้วจ้า
ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม ไล่มาจนถึงกลางเดือนพฤศจิกายน 2021 เพลงชื่อ ‘Fragile’ ที่แปลเป็นไทยได้หลายคำ ไม่ว่าจะเป็น ‘เปราะบาง’ ‘แตกง่าย’ ‘ไม่คงทน’ เป็นเทรนด์ยอดนิยมในประเทศและเขตปกครองแถบเอเชียที่ใช้ภาษาจีนในการสื่อสาร ทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง และไต้หวัน แต่เพลงนี้ถูกเซนเซอร์อย่างเด็ดขาดในจีนแผ่นดินใหญ่
เพลง Fragile มีชื่อภาษาจีนว่า 玻璃心 (หัวใจแก้ว) เผยแพร่ผ่านยูทูบครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2021 เป็นผลงานใหม่ของ ‘เนมวี’ (Namewee) แรปเปอร์และนักดนตรีชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน ซึ่งทำงานนี้ร่วมกับ ‘เคลลี เฉิน’ นักร้องหญิงชาวแคนาดาเชื้อสายเอเชีย และมีผู้ชมทะลุหลัก 5.5 ล้านในเวลาเพียง 3 วัน ทั้งยังไต่ระดับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนทะลุหลัก 31 ล้านครั้งไปเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
ถ้าฟังแค่ดนตรีและดูภาพเคลื่อนไหวในมิวสิกวิดีโอ อาจมีคนเข้าใจผิดว่านี่คือเพลงรักหวานซึ้งธรรมดาๆ แต่สำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่รู้ภาษาจีนกลางจำนวนมากเห็นตรงกันว่า นี่คือเพลงจิกกัดและล้อเลียนกองทัพไซเบอร์ของรัฐบาลจีน เห็นได้จากสัญลักษณ์ ‘แพนด้าสีชมพู’ ที่ปรากฏให้เห็นตลอดเพลงซึ่งมีความยาว รวม 4:54 นาที
หลายฉากในเพลง Fragile ประกอบด้วย ‘แพนด้า’ ที่เป็นบุคคลที่สามในกิจกรรมต่างๆ ระหว่างเนมวีและเคลลี รวมถึงฉากที่แพนด้าเก็บฝ้าย ซึ่งมีนัยพาดพิงถึงรายงานองค์กรต่างชาติที่ระบุว่าจีนใช้แรงงานชาวมุสลิมอุยกูร์ในอุตสาหกรรมฝ้าย ทั้งยังมีการชูธงที่เป็นคำย่อของศัพท์สแลงจาก ‘พันธมิตรชานม’ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในฮ่องกง ไทย และไต้หวัน เพื่อต้านผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีแนวคิดชาตินิยมจีน รวมถึงฉากที่แพนด้าเสิร์ฟ ‘ค้างคาว’ ที่มีผู้สันนิษฐานว่าเป็นต้นตอโรคโควิด-19
ด้วยเหตุนี้ มิวสิกวิดีโอเพลง Fragile จึงถูกเซนเซอร์ในจีนแผ่นดินใหญ่ เช่นเดียวกับบัญชีของเนมวีที่เคยเข้าถึงได้ใน ‘เว่ยป๋อ’ สื่อสังคมออนไลน์ของจีน ก็ถูกปิดกั้นไปตั้งแต่เพลงนี้เผยแพร่ออกมาได้ไม่นาน
ขณะที่เนมวีได้ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ในสื่อหลายสำนัก โดยหนึ่งในนั้น คือ The Straits Times สื่อเก่าแก่ของสิงคโปร์ ซึ่งเจ้าตัวยืนยันว่า การสร้างสรรค์ผลงานที่ดีต้องออกมาจากใจ และจะต้อง ‘จริงใจ’ เขาจึงไม่ชอบปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นหรือเซนเซอร์ตัวเอง
“เวลาที่คุณบอกว่าผมถูกแบน ผมกลับไม่รู้สึกอย่างนั้นนะ ผมว่าคนที่ไม่ได้ฟังเพลงนี้มากกว่าที่เป็นคนถูกแบน” เนมวีระบุ
ปัจจุบันเนมวีทำงานและพักอยู่ที่กรุงไทเปของไต้หวันเป็นหลัก แต่งานของเขาได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ใช้ภาษาจีนในหลายประเทศ รวมถึงชุมชนชาวเอเชียในแคนาดาและสหรัฐอเมริกา และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาถูกรัฐบาลแบนผลงาน เพราะเมื่อปี 2007 เขาเคยถูกทางการมาเลเซียจับกุมและตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น เพราะนำเพลงชาติมาเรียบเรียงเนื้อร้องทำนองใหม่
ส่วนคนไทยจำนวนหนึ่งอาจคุ้นเคยกับเนมวีอยู่แล้วจากผลงานปี 2017 ชื่อว่า ‘Thai Cha Cha’ ที่เขาร่วมร้องกับ ‘บี้ เดอะสกา’ และอีกหนึ่งผลงานสร้างชื่อ คือ ‘Thai Love Song – เพลงรักไทย’ ซึ่งเผยแพร่ออกมาตั้งแต่ปี 2013 โดยเป็นเพลงที่พูดถึงความรักกับการท่องเที่ยวในประเทศไทย และเป็นการทำงานร่วมกับ ‘ชยนพ บุญประกอบ’ ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยซึ่งโด่งดังจาก ‘ซักซี้ด ห่วยขั้นเทพ’ และผู้ชมมิวสิกวิดีโอเพลงรักไทยในยูทูบ มีจำนวนรวมกว่า 30 ล้านครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2021
อ้างอิง
- Youtube. Fragile by Namewee. https://bit.ly/30y1IlK
- The Straits Times. Rapper Namewee defends China satire Fragile as views hit 30m. https://bit.ly/3FpA8Wh
- Global Voices. Malaysian rapper Namewee breaks the hearts of mainland Chinese ‘little pinks’. https://bit.ly/30wectx
- NME. Malaysian rapper Namewee reportedly earns millions from NFT sales of his song ‘Fragile’. https://bit.ly/32ckUpw