เรื่องค่าเงินเป็นเรื่องชวนปวดหัวแม้แต่สำหรับคนที่ถนัดทางนี้ คนทั่ว ๆ ไปอย่างเรา ๆ คงไม่สนใจเรื่องค่าเงินเท่าไร แต่ในช่วงนี้เราก็จะพบว่าขนาดเราไม่สนใจ ข่าวมันก็มาไม่ขาดสายว่า “ค่าเงินบาทแข็งมาก” ให้รีบไปเที่ยวต่างประเทศกัน และพวกเพจท่องเที่ยวประเทศต่าง ๆ ก็คึกกันสุด ๆ เลยช่วงนี้ในการเชิญพวกเราไปเที่ยวต่างประเทศในขณะที่ “ค่าเงินถูก” อยู่
ซึ่งถ้าเราสังเกต เราก็จะพบว่าประเทศที่ “ค่าเงินถูก” นี่มันแทบทุกประเทศเลย ไม่ว่าจะญี่ปุ่น ยุโรป อังกฤษ หรือกระทั่งอเมริกา
ซึ่งคำตอบมันก็ชัดว่าจริง ๆ ค่าเงินเขาไม่ได้ “ถูก” หรอกครับ แต่ค่าเงินบาทของเราต่างหากที่แข็งสุด ๆ
แล้วทำไมค่าเงินบาทแข็งขนาดนี้? เศรษฐกิจก็ไม่ได้เห็นดีอะไรเลย?
อันนี้ขออธิบายเป็นสเต็ป ๆ ไปนะครับ
อย่างแรกสุดเลย เราต้องเข้าใจระดับพื้นฐานสุดก่อนว่า สิ่งที่กำหนดค่าเงินหรือกำหนด “อัตราแลกเปลี่ยน” ระหว่างค่าเงินประเทศหนึ่งกับอีกประเทศหนึ่ง คือมูลค่าการนำเข้าและส่งออกของสองประเทศนั้น โดยในทางทฤษฎี มันไม่ต้องเกี่ยวข้องกับการโตหรือไม่โตของเศรษฐกิจในภาพรวมเลย เศรษฐกิจโดยรวมหดตัวโดยที่ค่าเงินแข็งขึ้นก็เป็นไปได้
ทำไมถึงเป็นแบบนี้? อันนี้เราก็ต้องเข้าใจก่อนว่ามูลค่าของสกุลเงินประเทศหนึ่งในตลาดการเงินโลกมันขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อสินค้าและบริการจากประเทศนั้น ๆ และการขึ้นของของค่าเงินมันก็ขึ้นอยู่กับการที่คนในประเทศนั้น ๆ ต้องการสินค้าและบริการจากประเทศอื่น ๆ ในระดับที่เท่ากันหรือมากกว่า
เช่น สมมติกรณีไทยกับอเมริกา คนไทยจะซื้อสินค้าอเมริกันก็ต้องเอาเงินบาทไปแลกกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่วนคนอเมริกาจะซื้อสินค้าไทยก็ต้องเอาเงินดอลลาร์สหรัฐ ไปแลกเงินบาท ซึ่งการแลกกันทั้งระบบมันก็จะทำให้เกิดอัตราแลกเปลี่ยน
ทีนี้ถ้าเกิดปีถัดไปคนไทยต้องการสินค้าอเมริกันน้อยกว่าเดิม แต่คนอเมริกันต้องการสินค้าไทยมากขึ้น แบบนี้สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คนมีความต้องการเอาเงินดอลลาร์สหรัฐ มาแลกเงินบาท มากกว่าคนต้องการเอาเงินบาทไปแลกเงินดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าปีก่อน ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เงินบาทก็กลายเป็น “ของที่มีขายน้อยในตลาด” และราคามันก็ขึ้น ผลก็คือเงินบาทก็จะ “แข็ง”
นี่คือกระบวนการขั้นพื้นฐานที่สุดในการกำหนดค่าเงินที่เราต้องเข้าใจก่อน เพราะในความเป็นจริง การค้าระหว่างประเทศมันโยงใยกันอีรุงตุงนังไปหมด และการเทียบค่าเงินปกติมันก็จะเทียบกับเป็นคู่สกุลเงินเท่านั้น พูดอีกแบบคือ ปกติเราจะบอกไม่ได้ว่าค่าเงินเรา “แข็ง” หรือไม่ เพราะแข็งหรือไม่มันต้องเทียบกับเงินเป็นสกุล ๆ ไป
แต่ทีนี้ถามว่า มันมีค่าเงินที่ใช้เป็นสกุลเงินทั่วไปที่ใช้ในการเทียบมั้ย? คำตอบคือ มี ก็คือเงินดอลลาร์สหรัฐ กับเงินยูโร เพราะเงินสองสกุลนี้ เป็นสกุลที่ใช้ในการชำระเงินมากที่สุดในโลกของการค้าระหว่างประเทศ
พูดง่าย ๆ ก็คือ ค่าเงินที่ “แข็งขึ้น” เมื่อเทียบกับทั้งดอลลาร์สหรัฐและเงินยูโร เขาก็จะว่ามัน “แข็ง” กัน และค่าเงินไทยก็ “แข็ง” ในนิยามนี้
แต่มันแค่นี้เหรอ?
คำตอบคือ ไม่ เพราะเอาจริง ๆ ช่วงครึ่งหลังของปี 2018 ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐถือว่าแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินส่วนใหญ่ของโลก แต่มันก็มีสกุลเงินจำนวนหนึ่งที่ยัง “แข็ง” อยู่เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
และเงินบาทไทยคือสกุลเงินที่แข็งขึ้นมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง
พูดง่าย ๆ ในสถานการณ์ตอนต้นปีนี้ เงินดอลลาร์สหรัฐนี่ไม่ได้อ่อนนะครับ แข็งพอตัวเลย แต่ค่าเงินไทยนั้นแข็งแกร่งกว่า และจะเรียกว่า “แข็งแกร่งที่สุด” ก็พอได้
ซึ่ง ณ ตอนนี้ อเมริกาได้รับผลกระทบจาก “สงครามการค้า” ส่งผลให้การส่งออกลดลง และสิ่งที่ตามมาโดยทั่วไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ก็คือค่าเงินอ่อนลง และนั่นทำให้ยิ่งค่าเงินบาทไทยแข็งขึ้นแบบไปกันใหญ่เลย โดยที่ไม่ต้องทำอะไร
ทีนี้มาตอบคำถามที่สำคัญที่สุดของเรากัน ว่าทำไมช่วงปีหลัง ๆ ค่าเงินบาทไทยถึงแข็งนัก?
นี่เป็นคำถามที่ตอบน่าจะได้หลายแบบ เอานักเศรษฐศาสตร์เก่ง ๆ มาถกเถียงกันก็ไม่น่าจะได้ข้อสรุป ตามประสาดีเบตทางวิชาการ
แต่ด้วยข้อมูล เราพอจะสรุปพื้นฐานได้แน่นอนว่าประเทศเราได้ “ดุลการค้า” เป็นบวกมาตลอด ตั้งแต่ประเทศเรามีรัฐประหารใน พ.ศ. 2557 หรือ ปี 2014 (สนใจไปกดข้อมูลได้ที่เว็บของหอการค้าไทยนะครับ http://www2.ops3.moc.go.th/)
พูดอีกแบบ ภายใต้รัฐบาล คสช. ประเทศเรา “ส่งออก” มากกว่า “นำเข้า”
ทีนี้มันยังไง คสช. บริหารประเทศดีเหรอ? อันนี้ต้องเข้าใจก่อนว่ามูลค่าการนำส่งออก มันขึ้นมาตลอดต่อเนื่องยาวนาน คือไม่ว่าใครมาบริหารประเทศ ส่วนนี้มันโตขึ้นตลอด และเราก็คงจะเคยได้ยินว่า GDP ของเราที่มันยังขึ้นได้ ก็เพราะการส่งออก ซึ่งก็เป็นสิ่งที่จริง
แต่ถ้าเราดูตัวเลขการนำเข้า เราจะเห็นเลยว่า ณ ตอนนี้ มูลค่าการนำเข้าของประเทศไทยมันอยู่ระดับเดียวกับช่วงที่รัฐประหารเสร็จใหม่ ๆ
นี่คือข้อเท็จจริงทางสถิติที่เถียงไม่ได้เลย ส่วนจะวิเคราะห์ยังไงนี่อีกเรื่อง
ทีนี้มันเกิดจากอะไรได้บ้าง? คือเราคงจะเห็นว่า ตัวเลขส่งออกเราไม่ได้ลด ดังนั้นส่วนของ “การนำเข้าเพื่อแปรรูปส่งออก” ก็ไม่ควรจะลดเช่นกัน และควรจะเพิ่มขึ้นด้วยในช่วงเวลา 4 – 5 ปีมานี้ (เผื่อไม่ทราบกัน เมืองไทยเราเป็น “แหล่งแปรรูป” ที่สำคัญนะครับ หลาย ๆ ครั้งเรานำเข้าวัตถุดิบมาแปรรูปเป็นสินค้าเพื่อเพื่อมูลค่าและส่งออกไปประเทศอื่น)
นี่ทำให้เราน่าจะพอได้ข้อสรุปคร่าว ๆ ว่า ส่วนของการนำเข้าที่ลดลง คือส่วนของ “การบริโภค” แน่ ๆ
ซึ่งผลก็คือพอเราบริโภคสินค้าต่างประเทศเท่าเดิมหรือน้อยลง แล้วต่างชาติบริโภคสินค้าของเรามากขึ้น ค่าเงินเราก็จะแข็งขึ้น อย่างที่อธิบายมาข้างต้นครับ
ส่วนคนไทยบริโภคสินค้าต่างประเทศอะไรน้อยลงในรอบ 4 – 5 ปีจนค่าเงินแข็งขึ้นขนาดนี้นั้น ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์เจาะลงไปในรายละเอียดกันอีกทีครับ