ในปัจจุบัน แม้ว่าจะมีโรคภัยใหม่ ๆ มาเรื่อย ๆ แต่มนุษย์ก็สามารถจะ “จัดการ” กับมันได้ดีขึ้นกว่าในอดีต และเอาจริง ๆ โรคหลาย ๆ อย่างที่เคยรักษาไม่หาย ทุกวันนี้โอกาสรักษาหายก็แค่เอื้อมแล้ว แต่มนุษย์ก็ยังพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ไปเรื่อย ๆ ในระดับที่พยายามจะ “รักษา” สิ่งที่เกิดจินตนาการจะรักษาได้ เช่น แขนที่ขาดไป ขาที่ขาดไป
ถ้ายังงงว่าอะไรคือการ “รักษา” แขนขาที่ขาดไป คำตอบง่าย ๆ คือ นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามจะทำให้มนุษย์สามารถงอกแขนขาได้ใหม่ และนี่คือสิ่งที่วิจัยกันจริง ๆ จัง ๆ ไม่ใช่เรื่องในการ์ตูนหรือนิยายวิทยาศาสตร์
นี่อาจฟังดูเวอร์มาก ๆ แต่ในทางวิทยาศาสตร์ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเวอร์อะไรเลย ถ้าอย่างน้อย ๆ มันมีสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในโลกที่มีความสามารถในการงอกอวัยวะใหม่แทนอวัยวะที่ขาดไป
ซึ่งเราก็อาจจะพอรู้ว่าสัตว์อย่างจิ้งจกถ้าหางขาดไปก็งอกใหม่ได้ ซึ่งในความเป็นจริง สัตว์แต่ละชนิดมีความสามารถในการงอก “อวัยวะ” ที่ขาดหายไปได้ต่าง ๆ กัน
แต่ในบรรดาสัตว์ สัตว์ที่นักวิทยาศาสตร์ถือว่ามีความสามารถในการ “งอกอวัยวะใหม่” ได้ระดับสูงที่สุดแบบที่สัตว์อะไรก็ไม่มีทางสู้ได้เลยคือสัตว์ที่คนไทยเรียกว่า “หมาน้ำ” หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ Axolotl (อ่านว่า แอ็ก–โซ–โล–เทิล หรือ อะ–โซ–โลท ก็ได้ อ่านได้สองแบบ)
Axolotl เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำตระกูลซาลาแมนเดอร์ มี่ถิ่นกำเนิดอยู่ที่เดียวในโลกคือทะเลสาบใกล้เม็กซิโกซิตี้ ในสมัยก่อนพวกมันมีอยู่มากมาย ระดับคนในอารยธรรมแอซเท็คเมื่อหลายร้อยปีก่อนจับพวกมันกินเป็นอาหารเป็นปกติ แต่ทุกวันนี้จำนวนพวกมันตามธรรมชาติลดลงมากเพราะมลภาวะทางน้ำ อย่างไรก็ดี เนื่องจากพวกมันเพาะเลี้ยงไม่ยาก คนก็เลยเพาะมันเยอะพอสมควร ซึ่งก็อาจจะเพราะความ “น่ารัก” ของพวกมัน
ความ “น่ารัก” ของ Axolotl ส่วนหนึ่งเกิดจากลักษณะพิเศษที่มันเป็น “เด็กตลอดกาล” คือตัวมันตั้งแต่เด็กจนโตหน้าตาเหมือนกันเลย ซึ่งถ้าจะให้อธิบายคือพวกสัตว์ตระกูลซาลาแมนเดอร์ ในวัยเด็กมันจะมีหนวดหลาย ๆ เส้นงอกมาจากตรงโคนหัว หนวดพวกนี้จริงๆ คือเหงือก ซึ่งพอโตแล้ว ซาลาแมนเดอร์ปกติจะไม่มีหนวดพวกนี้ แต่ Axolotl จะมีหนวดพวกนี้ตั้งแต่เด็กไปจนตาย และก็ไม่ใช่แค่หนวดเท่านั้น หน้าตาของมันก็เหมือนเดิมตั้งแต่เล็กจนโต เนื่องจากมีลักษณะแบบ “ไม่โตเป็นผู้ใหญ่” พวกนี้ พวกมันเลยดู “น่ารัก” ตามประสาลูกสัตว์ และทำให้คนค่อนข้างจะเอ็นดูมัน และเอามันมาเป็นสัตว์เลี้ยง
อย่างไรก็ดี สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์สนใจพวกมันที่สุดก็อย่างที่บอกครับ เพราะมันคือสัตว์ที่มีความสามารถในการ “ฟื้นตัว” สูงสุดในบรรดาสัตว์โลก หรือให้ตรงกว่านั้นก็คือ มันเป็นสัตว์ชนิดเดียวในโลก ที่ตัดอวัยวะอะไรออกไปก็งอกใหม่ได้ เรียกได้ว่า ตัดแขน ตัดขา มันก็จะงอกแขนขาออกมาใหม่ ตัดกระดูกสันหลัง มันก็งอกกระดูกสันหลังออกมาใหม่ เอาอวัยวะภายในอะไรออกจากตัวของมัน มันก็จะงอกอวัยวะมาใหม่ และทำให้นักวิทยาศาสตร์ถึงกับบอกว่า มันเป็นสัตว์ที่ “ความบาดเจ็บ” อะไรไม่สามารถฆ่ามันได้เลย เพราะมันฟื้นตัวกลับมาได้หมด
ซึ่งถ้าพูดในแบบการ์ตูนหรือหนังฮีโร่อเมริกันหน่อย เจ้า Axolotl นี่มีความสามารถแบบ Wolverine เลยครับ (แม้ว่าจะงอกอวัยวะไม่ได้ทันทีทันใดแบบ Wolverine ก็ตาม)
และสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์พยายามจะทำก็คือ การเอาความสามารถของ Axolotl มาใส่ในมนุษย์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้ทำอะไรสยอง ๆ แบบพยายามจะฉีดยีนส์ของ Axolotl เข้าไปในมนุษย์ที่แขนขาดให้แขนงอกใหม่นะครับ
แต่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทำก็คือ พยายามหาว่า ยีนส์ตัวไหนบ้างของ Axolotl คือปัจจัยทำให้มันมีความสามารถในการฟื้นตัวเหนือสัตว์อื่น ๆ และการวิจัยนี้ ก็มีมาเป็นสิบปีแล้ว
ซึ่งที่น่าตื่นเต้นก็คือ นักวิทยาศาสตร์ก็พบเรื่อย ๆ นะครับ ว่ายีนส์ตัวไหนบ้างที่ส่งผลให้ Axolotl งอกอวัยวะใหม่ได้ แต่ปัญหาก็คือ เราก็ยังไม่รู้ “ยีนส์ทั้งหมด” ที่ทำให้เจ้า Axolotl มีความสามารถในการงอกอวัยวะ และความสามารถที่ซับซ้อนระดับนี้ ก็มักจะไม่ได้ถูกคุมด้วยยีนส์ตัวเดียว แต่ถูกคุมด้วยยีนส์จำนวนมาก
และถ้าค้นพบได้หมดเมื่อไร ก็เมื่อนั้นแหละครับ การอวัยวะขาดไปและงอกใหม่ได้ที่เราเห็นในการ์ตูนหรือในหนังมันก็จะไม่ใช่เรื่องในจินตนาการอีกต่อไปสำหรับมนุษย์
ทั้งนี้ ก่อนจะเข้าใจผิด Axolotl แม้ว่าจะ “งอกอวัยวะ” ใหม่ได้เรื่อย ๆ มันก็ไม่ได้หมายความว่าพวกมันเป็นอมตะนะครับ ตัดอวัยวะอะไรไปงอกใหม่ได้ก็จริง แต่พวกมันก็แก่ได้ ตายได้ โดยอายุขัยของพวกมันก็ยืนยาวได้ถึง 15 ปีเลยทีเดียวถ้ามันกินดีอยู่ดี และก็เนื่องจากที่พวกมันทั้งอึด ทั้งอายุยืน และน่ารักเช่นนี้เอง คนทั่วโลกก็เลยเอาพวกมันมาเป็นสัตว์เลี้ยงกันเป็นปกติ
อ้างอิง:
- Many animals have the power of regeneration. http://bit.ly/2Uq8OTB
- Regeneration: The axolotl story. http://bit.ly/2vT29qX
- Scientists Identify Two Genes Key To Axolotl Limb Regeneration. http://bit.ly/2OoWOy3
- Differences From Other Salamanders. https://on.natgeo.com/382oe4n