4 Min

Atlas, ปลาอานนท์ ฯลฯ และตำนานแห่งการ ‘แบก’ ตลอดมาและตลอดไป

4 Min
1057 Views
24 Jul 2023

อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่ตรงนี้พอ

คำว่า ‘เดอะแบก’ ไม่ได้แปลกใหม่สำหรับคนไทย มีคนบอกว่าคำนี้มีที่มาจากเหล่าเกมเมอร์ที่หมายถึงผู้เล่นซึ่งต้องคอยพยุงเกมแทนคนที่ยังเล่นได้อ่อนหัด และก็มีการใช้คำนี้กับคน Gen Y ซึ่งที่ต้องอยู่ตรงกลางระหว่างคนรุ่นแก่กว่าอย่าง Gen X และคนที่เด็กกว่าอย่าง Gen Z ทำให้ Gen Y ถูกมองเป็น ‘เดอะแบก’ ที่ต้องประสานระหว่างคนสองรุ่น แต่ถ้าย้อนดูตำนาน ‘เดอะแบก’ ยุคโบราณ หลายคนน่าจะนึกไปถึง ‘แอตลาส’ (Atlas) ผู้ถูกสาปให้แบกท้องฟ้า และก็ยังมี ‘เดอะแบก’ ในตำนานฝั่งเอเชียด้วยเหมือนกัน

(1) แอตลาส Atlas: เพราะพ่ายแพ้จึงต้องแบก

ทำไมแอตลาสต้องแบกโลก? ถ้ายึดตามตำนานกรีกโบราณจริงๆ แอตลาสคือหนึ่งในเหล่ายักษ์ ‘ไททัน’ ที่ก่อกบฏต่อเหล่าทวยเทพแห่งโอลิมเปียแล้ว เขาจึงถูกลงโทษแบกท้องฟ้าไว้ชั่วนิรันดร์ โดยท้องฟ้านี้แบ่งแยกระหว่างสวรรค์และโลก 

แต่ในยุคศตวรรษที่ 16 แผนที่ของ ‘เจราร์ดัส เมอร์เคเทอร์’ (Gerardus Mercator) นักภูมิศาสตร์ และนักทำแผนที่ชาวเฟลมิช เป็นที่นิยมในหมู่นักสำรวจและนักเดินทางทั่วโลก เพราะเขารวบรวมแผนที่กับพิกัดดวงดาวที่เป็นประโยชน์ต่อการเดินเรือเอาไว้ด้วยกัน และผลงานของเขาถูกเรียกว่า ‘แผนที่แอตลาส’ เพื่ออุทิศให้กับตำนานยักษ์แอตลาส ทั้งยังมีการนำภาพแอตลาสแบกลูกโลกทรงกลมมาประดับไว้ด้วย 

ในยุคหลังๆ คนจำนวนมากจึงจดจำว่าแอตลาสคือผู้แบกโลก และมีบันทึกถึงอิทธิพลตำนานปกรณัมกรีกที่มีต่อประเทศแถบแอฟริกาในยุคอาณานิคมด้วย เพราะประติมากรแอฟริกันในศตวรรษที่ 20 ที่สลักยักษ์แอตลาสแบกโลกเป็นสัญลักษณ์ว่าทวีปแอฟริกาต้องแบบน้ำหนักของโลกไว้บนบ่า เพราะเป็นดินแดนที่ถูกแสวงหาประโยชน์ทั้งแรงงานทาสและทรัพยากรธรรมชาติ

(2) ปลาอานนท์ & นามะซุ: ขยับจนโลกสะเทือน

ตำนานฝั่งเอเชียมี ‘ปลา’ ที่ถูกกล่าวถึงว่าเป็นผู้หนุนโลกอยู่หลายตัว แต่ที่คุ้นหูคนไทยมากสุดน่าจะหนีไม่พ้น ‘ปลาอานนท์’ ที่พลิกตัวแล้วจะทำให้เกิดแผ่นดินไหว แต่ถ้าไปดูตามเนื้อหาในนิทานพุทธชาดกจริงๆ อานนท์เป็น 1 ใน 6 ปลายักษ์ที่มีถิ่นอาศัยในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่บนโลก แต่มีช่วงหนึ่งที่ถูกยกให้เป็น ‘ราชาแห่งปลา’ เพราะความยิ่งใหญ่ของขนาดตัวมันเอง 

แต่ตอนหลังมีการเปิดโปงว่าอานนท์ที่อุตส่าห์ได้รับการยกย่องว่าเป็นราชาปลา กลับทำตัวไม่ซื่อ แอบกินปลาเล็กปลาน้อยที่เป็นเหล่าบริวาร เมื่อฝูงปลาแอบล่วงรู้ความจริงก็เลยพากันหลบปลาอานนท์ เพราะไม่อยากถูกกิน ปลาอานนท์ก็เที่ยวตามหาปลาจนไปถึงภูเขาสูงลูกหนึ่ง จึงใช้ตัวอันใหญ่โตเข้าโอบล้อม แต่พอเห็นหางตัวเองไหวๆ ก็คิดว่าเป็นปลาอื่น จึงฮุบหางตัวเองไปราวๆ 50 โยชน์ จนหางขาดเลือดไหลนองและตายไปเอง

ถ้าดูจากเนื้อหาในนิทานชาดก จะเห็นว่าปลาอานนท์ไปได้อยู่นิ่งๆ กับที่เพื่อหนุนโลก แต่ว่ายไปมาหากินอยู่ตามมหาสมุทร และที่ทำให้ ‘โลกสะเทือน’ อาจจะเป็นตอนที่กัดหางตัวเองขาด ทว่าบางความเชื่อมองว่าเรื่องปลาอานนท์พลิกตัวแล้วแผ่นดินไหว อาจมาจาก ‘บทอัศจรรย์’ ในวรรณคดีไทยโบราณ โดยมีผู้ที่ยกตัวอย่างฉากร่วมรักระหว่างศรีสุวรรณกับนางเกษรา ในเรื่อง ‘พระอภัยมณี’ ของสุนทรภู่ ท่อนที่ระบุว่า ‘ปลากระดิกพลิกครีบทวีปไหว เมรุไกรโยกยอดจะถอดถอน’ มากกว่า

ส่วนปลาอีกตัวในตำนานเอเชียที่พลิกตัวแล้วโลกสะเทือน คือ ปลานามะซุ (Namazu) หรือ โอนะมะซุ (Onamazu) ซึ่งถูกพูดถึงในญี่ปุ่นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 โดยมีภาพพิมพ์ไม้แกะสลักจำนวนมากที่บอกเล่าเรื่องราวของปลานามะซุว่าเป็น ‘ปลาดุกยักษ์’ ที่อาศัยอยู่ใต้โลกไปลึกมากๆ และถ้าเมื่อไหร่ปลานามะซุสะบัดหาง ก็จะทำให้เกิดแผ่นดินไหว 

ถ้ามองว่าดินแดนญี่ปุ่นทั้งในอดีตและปัจจุบันตั้งอยู่บนวงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) ที่เป็นจุดก่อเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้งแห่งหนึ่งในเอเชีย จึงเข้าใจได้ว่าตำนานปลานามะซุคือสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นสมัยโบราณใช้อธิบายปรากฏการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งต่อมาก็ได้รวมถึงภัยธรรมชาติอื่นๆ ด้วย

(3) ยักษ์แบก: ตำนานผสมผสาน ‘พุทธ’ + ‘ไสย’

ถ้าใครเคยไปวัดอรุณฯ จะเห็น ‘ยักษ์แบก’ (รวมถึง กระบี่แบก และเทวดาแบก) ที่ฐานพระปรางค์อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมมองว่า เป็นการออกแบบที่ยึดโยงกับความเชื่อในเรื่องคติจักรวาลของศาสนาพุทธที่เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยโบราณ 

ในช่วงที่ผ่านมา มีทั้งผู้ที่ตีความว่ายักษ์ กระบี่ และเทวดาที่แบกฐาน เปรียบได้กับการแบกนรก แบกโลก และแบกสวรรค์ แต่ก็มีผู้ที่แย้งว่าประติมากรรมเหล่านี้น่าจะหมายถึง ‘กองกำลังรักษาสวรรค์’ มากกว่า ซึ่งมีการอ้างอิง ‘ชุดเกราะ’ ที่ยักษ์-กระบี่-เทวดา สวมใส่อยู่ 

แต่ถ้าไปดู ‘ยักษ์แบก’ ที่ไม่อยู่นอกเหนือการตีความด้วยความเชื่อด้านพุทธคติ ก็จะมีกรณีรูปปั้นยักษ์แบกเสาทางด่วนโทลเวย์ ซึ่งในสื่อโซเชียลมีการเล่าลือว่าเป็นการแก้เคล็ดจากอาถรรพ์ในการก่อสร้างทางยกระดับแห่งนี้ในยุคทศวรรษ 2530 ที่เคยมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นหลายครั้ง ทางโครงการจึงขอให้กรมศิลปากรช่วยปั้นยักษ์ 2 ตนขึ้นมา เป็นท่ายักษ์แบกเสา ผลปรากฏว่าการยกเสาที่เคยเป็นปัญหาก็ยกขึ้นได้อย่างง่ายดาย และไม่มีอุบัติเหตุเหมือนเมื่อก่อน

แน่นอนว่าตำนานยักษ์แบกโทลเวย์นี้เพิ่งมีมาไม่กี่สิบปี และในยุคที่คนเริ่มเชื่อเรื่องแบบนี้น้อยลง ก็เกิดคำถามเช่นกันว่าอุบัติเหตุระหว่างก่อสร้างไม่ใช่เรื่องที่ต้องแก้ไขด้วยองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมหรอกหรือ แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่บอกว่า “ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่”

อ้างอิง

  • Britannica. History & Society | Atlas | Greek mythology. https://tinyurl.com/3h4ezrwx
  • National Geographic. Atlas: An atlas is a book or collection of maps. https://tinyurl.com/53kdn36u
  • Sarakadee. ปลาอานนท์พลิกตัว – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 64. https://tinyurl.com/bdhs2abs
  • Kapook. เปิดตำนาน รูปปั้นยักษ์แบกเสา ใต้ทางด่วนดอนเมือง ใช้อาถรรพ์แก้อาถรรพ์ ใครสังเกตบ้าง.
  • Silpa-Mag. ถอดรหัสพระปรางค์วัดอรุณ: ทำไมยักษ์แบกและเทวดาแบกฐานปรางค์ประธานจึงสวม “เกราะ”?. https://tinyurl.com/m5pvpjek
  • World History. Namazu. https://tinyurl.com/bdjexuyu