งานวิจัยใหม่ชี้ ‘ผู้ติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการ’ ไม่ใช่พาหะหลักที่แพร่เชื้อโควิด-19
อีกไม่นานก็จะสิ้นปีแล้ว เท่ากับเราอยู่กับโควิด-19 ใกล้จะครบหนึ่งปี ถึงตอนนี้มนุษย์มีความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 เพิ่มขึ้นมาก
เรารู้วิธีการ “รักษา” (พูดให้ตรงคือ ‘พยุงอาการ’) แล้ว เรียกได้ว่าถึงจะติดเชื้อก็ไม่ต้อง “กลัวตาย” แบบช่วงแรกๆ อีกต่อไป เพราะโอกาสเสียชีวิตน้อยลงมากขึ้นเรื่อยๆ
ล่าสุด มนุษย์เพิ่งได้รู้เกี่ยวกับ ‘ลักษณะการระบาด’ ของโควิด-19 เพิ่มขึ้นมาหนึ่งเรื่อง และเรื่องนี้สำคัญมากทีเดียว
1.
ย้อนกลับไปต้นปี 2020 สิ่งที่คนกลัวโรค โควิด-19 มาก เป็นเพราะคนที่ไม่มีอาการใดๆ อาจเป็นพาหะได้
และความกลัวนี้ได้นำมาสู่ “ความเชื่อ” ว่าการใส่หน้ากากจะช่วยลดการระบาดของโรค
เวลานั้นคนเชื่อกันว่า เหตุที่โควิด-19 ระบาดหนักๆ เพราะระบาดจากผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ แล้วไปแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นโดยไม่รู้ตัว และคนกลุ่มนี้คือ “พาหะหลัก” ของโรค
ทว่าตอนนี้ (พ.ย. 2020) งานวิจัยหลายชิ้นแย้งว่า ความเชื่อนี้ “ไม่จริง”
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
2.
ตอนแรกของการระบาด ผู้คนเชื่อกันว่าคนที่มีเชื้อราว 80% ไม่มีอาการ จึงต้องล็อกดาวน์กันใหญ่โต เพราะถ้าไม่มีอาการ ปัญหาต่อมาคือไม่รู้จะคัดกรองแล้วจับใครมากักกันโรค
แต่งานวิจัย่จากโลกตะวันตกในระยะหลังประเมินว่า คนที่ “ไม่มีอาการ” น่าจะอยู่ในสัดส่วนราว 1 ใน 5 หรือเพียง 17% ของผู้ติดเชื้อทั้งทั้งหมด และคนที่ไม่มีอาการ มีแนวโน้มจะแพร่เชื้อได้ต่ำกว่าคนที่มีอาการถึง 40%
เท่านั้นยังไม่พอ ผลวิจัยจากจีนที่อู่ฮั่นที่ตรวจคนทั้งเมืองพบว่า คนที่ติดเชื้อจำนวน 300 คน ไม่มีอาการ และพบอีกว่าคนใกล้ๆ ตัวคน 300 คนที่ว่านี้นับพันคน ไม่มีใครได้รับเชื้อจากคนที่ไม่มีอาการเลย
งานวิจัยฝั่งจีนจึงสรุปว่า “ไม่มีหลักฐาน” ว่าผู้ที่ติดโควิด-19 แต่ไม่มีอาการ จะสามารถแพร่เชื้อได้
3.
แน่นอน งานวิจัยสองฝั่งมีความต่างกันเล็กน้อย แต่สิ่งที่ชี้ตรงกันคือ การควบคุมการระบาดไปที่ผู้ไม่มีอาการใดๆ ที่หน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลกกำลังทำ และลงทรัพยากรไปอย่างมหาศาลเป็นสิ่งที่ “ผิด” เพราะตัวการระบาดส่วนใหญ่ เกิดจากคนที่มีอาการ ไม่ใช่คนที่ไม่มีอาการ
นี่เป็นข้อมูลอัปเดตจากงานวิจัยทางการแพทย์ที่สำคัญมาก และน่าสนใจว่าหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลกจะตอบรับอย่างไร
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ นี่ไม่ใช่เรื่องอะไรใหม่ ถ้าคนยังจำกันได้ ทางองค์การอนามัยโลกพูดไว้ตั้งแต่กลางปี 2020 แล้วว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยผู้ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการนั้นเกิดขึ้นได้ยาก
อย่างไรก็ดี ในตอนนั้นเรียกได้ว่า ไม่มีใครไว้วางใจในองค์การอนามัยโลกแล้ว (หลังโดนแฉเรื่องการช่วยจีนปิดข้อมูลจนทำให้โรคนี้ระบาดไปทั่วโลก) คนก็เลยไม่ให้เครดิตองค์กรอนามัยโลกเท่าไร
ทีนี้ พองานวิจัยจำนวนไม่น้อยยืนยันตรงกันว่า ผู้แพร่เชื้อหลักตัวจริงคือผู้มีอาการ ไม่ใช่ผู้ไม่มีอาการแบบที่เชื่อกัน ก็น่าสนใจว่าชาวโลกควบคุมการระบาดของโควิด-19 อย่างไรต่อไป
เพราะอย่างน้อยๆ เราก็คงจะต้องอยู่ร่วมกับโควิด-19 ไปอีกหนึ่งปีเป็นอย่างน้อย
อ้างอิง:
- Nature. What the data say about asymptomatic COVID infections. https://go.nature.com/2KHdtxP
- Nature Communications. Post-lockdown SARS-CoV-2 nucleic acid screening in nearly ten million residents of Wuhan, China. https://go.nature.com/39h6aHl
- TheScientist. WHO Comments Breed Confusion Over Asymptomatic Spread of COVID-19. https://bit.ly/377bRVD