รู้จัก ASF โรคร้ายแรงหมูอายุกว่า 100 ปี ที่ซีไอเอเคยใช้เป็น ‘อาวุธชีวภาพ’
รู้จัก ASF โรคร้ายแรงหมูอายุกว่า 100 ปี ที่ซีไอเอเคยใช้เป็น ‘อาวุธชีวภาพ’
ในที่สุดหลังจาก ‘ข่าวลือ’ และข้อมูลที่ขยายตัวขึ้นอย่างหนาหู และราคาหมูที่ขึ้นไม่หยุด สุดท้ายในวันอังคารที่ 11 มกราคม 2022 ทางกรมปศุสัตว์ในไทย ก็ยอมรับแล้วว่าในไทยมีการระบาดของโรค ASF จริง
ดังนั้นตรงนี้ไม่ต้องเถียงกันแล้วว่ามีการระบาดหรือไม่ สิ่งที่เราต้องคุยกันต่อไปก็คือ แล้วอะไรมันคือโรค ASF?
เราต้องกังวลอะไรหรือไม่?
อย่างแรกเลยคือ ASF ย่อมาจาก African Swine Fever ซึ่งทางการไทยจะชอบแปลว่า ‘อหิวาต์แอฟริกาในสุกร’ แต่เราคิดว่าแปลแบบนั้นยิ่งทำให้สับสนมาก และถ้าเราจะแปล เราจะแปลว่า ‘ไข้หมูแอฟริกา’ แทน (โปรดอ่านเหตุผลต่อไป)
ต่อมาที่เราต้องรู้ก็คือ ASF เกิดจากเชื้อไวรัสที่แพร่ในหมูป่า หมูบ้าน ผ่านพาหะคือ ‘เห็บหมู’ แต่ไวรัสชนิดนี้ไม่สามารถโตในเนื้อเยื่อมนุษย์ได้ ดังนั้นมนุษย์ไม่สามารถติดเชื้อ ASF ได้ พูดง่ายๆ กินหมูที่ติดเชื้อ ASF ไปเราก็ไม่ติด ASF และนี่คือข้อมูลทั่วไปที่รู้ในระดับสากล ในเว็บไซต์กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาก็พูดชัดเจนว่าโรคนี้ไม่ใช่ประเด็นเกี่ยวกับ ‘ความปลอดภัยทางอาหาร’ เลย หรือพูดง่ายๆ ก็คือกินหมูติดเชื้อ ASF ไปแล้วไม่ป่วยไม่ตายแน่ๆ
ดังนั้นเห็นเนื้อหมูตอนนี้ก็อย่าไปกลัว ในทางวิทยาศาสตร์ ไวรัสตัวนี้ติดมนุษย์ไม่ได้ ถ้าจะกลัว ก็ให้กลัวราคาหมูที่แพงจะดีกว่า หรือถ้าจะกินหมูที่ปรุงไม่สุก ก็ควรจะกลัวโรคหูดับ หรือพยาธิใบไม้ในตับ มากกว่า เพราะสิ่งที่อันตรายในเนื้อหมูดิบๆ คือสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่ ASF
โอเค จบไปหนึ่งเรื่อง แล้วทำไมโรค ASF ถึงเป็นปัญหา ในเมื่อมนุษย์กินเนื้อหมูที่ติด ASF ไปแล้วไม่เป็นอะไร?
คำตอบคือ เพราะมันคือโรคที่หมูติดแล้วจะตายแทบจะทันที ไม่มีวัคซีน ไม่มีทางรักษา ถ้าหมูติดแล้วไม่กี่วันก็จะตายเลย การแพร่เชื้อตั้งแต่สารคัดหลั่งของหมูไปจนถึงอุจจาระของหมู ซึ่งหมูอยู่รวมๆ กันมันก็ต้องโดนอุจจาระกันอยู่แล้ว ดังนั้นมันจึงทำให้หมูตายทั้งฟาร์มได้อย่างรวดเร็วถ้ามีหมูติด ASF ไปสักตัว
ดังนั้นมาตรการเมื่อมีการระบาดก็คือ ต้องฆ่าหมูทุกตัวที่ติดเชื้อให้หมด เพื่อควบคุมโรคและความหายนะ และแน่นอนเนื้อหมูที่ติดเชื้อก็ต้องทำลายทิ้งแม้ว่าจริงๆ มันจะ ‘กินได้’ อย่างที่ว่า เพราะสุดท้ายเชื้อ ASF มันอึดมาก ถ้านำไปแปรรูปแล้ว มันอยู่ในหมูแปรรูปได้เป็นปีๆ ดังนั้นมันเสี่ยงมากที่จะปล่อยให้เชื้อมันระบาด ต้องทำลายเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อทิ้งให้หมด
ซึ่งตรงนี้ สาเหตุที่มันมีชื่อว่า African Swine Fever เพราะมันมีอาการคล้ายกับ Classic Swine Fever แต่ความต่างคือ อาการหนักกว่า และไม่มีวัคซีนรักษา โดยอาการทั้งหมด อธิบายง่ายๆ ก็คือ จะเป็นไข้ เบื่ออาหาร ไม่มีแรง และสุดท้ายจะ ‘เลือดตกใน’ หรือเลือดออกในเนื้อเยื่ออวัยวะภายในแล้วตายอย่างรวดเร็ว
อาการพื้นฐานไม่มีการ ‘ท้องเสีย’ ใดๆ ทั้งนั้น มันเหมือนเป็นไข้แล้วตายเลย เราเลยไม่รู้ว่าเขาจะแปลชื่อโรคมันว่าเป็น ‘อหิวาต์หมูแอฟริกา’ ไปให้คนสับสนไปทำไม และเราก็ยืนยันจะไม่แปลแบบนั้น เพราะแม้แต่ชื่อภาษาอังกฤษมันยังไม่มีคำว่า ‘อหิวาต์’ ในชื่อโรคเลย (ถ้าจะให้เดา ก็เดาว่าแปลแบบนี้เพื่อให้คนกลัว ‘อุจจาระหมู’ ซึ่งเป็นพาหะ แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราเห็นด้วยอยู่ดีที่แปลแบบนี้)
นี่คือพื้นฐาน ที่นี้มารู้จักที่มาที่ไปของโรคนี้ต่อกัน
ไวรัส ASF นั้นนักวิจัยเชื่อกันว่าเป็นไวรัสที่มีอยู่ตามธรรมชาติในพวกหมูป่า แต่หมูป่ามีไวรัสนี้ได้โดยไม่มีอาการใดๆ มายาวนานในอดีตอันไกลโพ้น แต่ก็คาดว่าไวรัสนี้ก็ค่อยๆ ‘วิวัฒนาการ’ มาในช่วงประมาณ 300 ปีก่อน จนมันกลายเป็นไวรัสร้ายแรงที่ทำให้ ‘หมูบ้าน’ ถึงแก่ความตายในที่สุด
ซึ่งเมื่อราวๆ 100 ปีก่อนในปี 1921 ก็มีบันทึกครั้งแรกว่าเกิดการระบาดของ ASF ทำให้ ‘หมูบ้าน’ ตายเป็นเบือที่เคนยา และก็มีการค้นพบต่อว่าจริงๆ โรคนี้ก็เป็นโรคที่แพร่หลายในแอฟริกา มันก็เลยมีชื่อว่า African Swine Fever โดยในทุกวันนี้ มันก็ยังถือว่าเป็น ‘โรคประจำถิ่น’ ในแอฟริกาแถบใต้ทะเลทรายซาฮารา และก็ยังระบาดเป็นระยะ
ตลอดครึ่งแรกศตวรรษที่ 20 การระบาดของ ASF ถูกจำกัดอยู่ในแอฟริกา ซึ่งนี่ก็คือมาตรฐาน ‘ควบคุมโรค’ มันได้ผล คือถ้าไม่มีการนำเข้าหมูจากแอฟริกาไปในประเทศอื่นๆ เชื้อมันก็จะอยู่แค่นั้น
แต่ในปี 1957 ด้วยเหตุผลบางประการ (อาจเป็นการลักลอบนำเข้าหมู) เชื้อนี้ไประบาดที่ประเทศยุโรปที่ใกล้แอฟริกาอย่างโปรตุเกส และก็ลามไปถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างสเปนและฝรั่งเศส ก็เรียกได้ว่าระบาดกันนานและกว่าจะกำจัดได้สิ้นก็ในทศวรรษ 1990
ในช่วงปลายทศวรรษ 2000 การระบาดก็เกิดขึ้นอีกในยุโรป แต่คราวนี้ศูนย์กลางคือยุโรปตะวันออก โดยมันเริ่มที่จอร์เจียในปี 2007 ก่อนที่จะลามไปทั้งภูมิภาค ซึ่งที่มาที่ไปของการระบาดก็ยังงงๆ แต่เขาก็คาดกันว่าน่าจะมากับหมูป่าที่มีการย้ายถิ่นฐาน และการระบาดในยุโรปตะวันออก จนถึงตอนนี้ผ่านมา 10 ปีก็ยังไม่ยุติ
ที่นี้พอมายุโรปตะวันออก แน่นอนมันใกล้เอเชียแล้ว และสุดท้ายก็ไม่รอด การระบาดเกิดขึ้นในจีนครั้งแรกในปี 2018 ในมณฑลเหลียวหนิง และต่อจากนั้นไม่นานการระบาดก็ลุกลามไปยังเกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ อินเดีย เวียดนาม มาเลเซีย และก็ไม่น่าแปลกใจอะไรที่มันมาถึงไทยในที่สุด
แม้ว่าโรคนี้จะไม่ใช่โรคที่จะทำให้มนุษย์ตายตรงๆ แต่มันก็เป็นโรคที่ร้ายแรงมากในหมูระดับเป็นแล้วตาย ดังนั้นมันสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจได้มหาศาลมาก ซึ่งก็ไม่แปลกที่ในปี 1971 ที่มีการระบาดของโรค ASF ในคิวบา มันจะมีหลักฐานค่อนข้างชัดว่าไวรัสตัวนี้ถูกใช้เป็น ‘อาวุธชีวะ’ ของซีไอเอ เพื่อใช้ในการพยายามจะล่มรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของฟิเดล คาสโตร ด้วยการใช้ไวรัสตัวนี้ทำหลายแหล่งอาหารของชาวคิวบาอย่างหมู
ก็นั่นแหละครับ แม้ว่าการระบาดในไทยตอนนี้ก็คงจะไม่ใช่ฝีมือของซีไอเอหรอก แต่ประเด็นคือ มันคือเชื้อโรคที่ความร้ายแรงอยู่ในเกรด ‘อาวุธชีวะ’ น่ะครับ ซึ่งถามว่าร้ายแรงไหม ตอบเลยว่าแน่นอน เพราะนี่คือโรคระดับที่สามารถทำให้ระบบเศรษฐกิจ ‘ล่ม’ ได้เลย (อย่างน้อยๆ ก็ในสายตาซีไอเอ)
อ้างอิง
- USDA. African Swine Fever (ASF). https://bit.ly/335Zyec
- Wikipedia. African swine fever virus. https://bit.ly/3fgPgdu