‘นักบุญทุนคนอื่น’ ข้อกล่าวหาที่ไม่มีใครอยากได้รับ แต่จะทำยังไงให้การระดมทุน ‘คุ้มค่า-ไม่เป็นภาระ’?
อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่ตรงนี้พอ
การมีเจตนาดี อยากช่วยเหลือคนอื่นๆ ในสังคม จนนำไปสู่การจัดกิจกรรมระดมทุนเพื่อขับเคลื่อนประเด็นอะไรบางอย่างเป็นสิ่งที่ดีงามโดยพื้นฐาน หลายสังคมทั่วโลกก็สนับสนุนมาตลอด แต่ยุคหลังคนเริ่มตั้งคำถามกับกิจกรรมเหล่านี้มากขึ้นว่ามีประโยชน์หรือโทษกันแน่ เพราะหลายงานใช้ทรัพยากรไปมากมาย แต่ระดมทุนไม่ได้ตามเป้าหมาย องค์กรเพื่อผู้บริโภคในฝั่งตะวันตกก็เลยทบทวนการจัดกิจกรรมให้รัดกุมมากขึ้น โดยมองว่างานจะบรรลุเป้าหมายได้ต้องคำนึงถึงความ ‘คุ้มค่า’ และต้อง ‘ตรวจสอบได้’
นักจิตวิทยาในสหรัฐอเมริกาเคยยืนยันในบทความทางเว็บไซต์ Psychology Today โดยอ้างอิงผลวิจัยด้านประสาทวิทยาที่บ่งชี้ว่า การทำกิจกรรมการกุศลหรือการช่วยเหลือคนอื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน มีส่วนให้คนที่ทำแบบนั้น ‘รู้สึกดี’ ทั้งยังมีผลดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตจริงๆ
เหตุผลที่เป็นแบบนี้เพราะเวลาที่คนได้ทำอะไรด้วยความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หรือได้ทำอะไรเพื่อคนอื่น จะกระตุ้นให้ร่างกายผลิตสารสื่อประสาทหลายตัวออกมา และหลักๆ ก็คือ โดปามีน, เซโรโทนิน และ ออกซิโทซิน ซึ่งมักจะถูกเรียกรวมๆ ว่าเป็น ‘สารแห่งความสุข’
ถ้านำมาปรับให้เข้ากับแนวคิดแบบตะวันออกก็น่าจะเรียกได้ว่าการทำความดี ช่วยเหลือคนอื่น หรือทำบุญทำกุศลนั้นมีส่วนให้คนรู้สึก ‘อิ่มบุญ’ ได้จริงเพราะมีการผลิตสารแห่งความสุขออกมาในร่างกายและการทำบุญทำทานทำกุศลก็แทบจะเป็นวัฒนธรรมร่วมของคนในเอเชียหลายประเทศ
การจัดกิจกรรมการกุศลเพื่อขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยๆ และเห็นได้ทั่วไป แต่ยุคหลังๆ ที่สื่อโซเชียลเข้ามามีบทบาท การแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ก็เพิ่มขึ้น แต่โน้มเอียงไปทาง ‘ตั้งคำถาม’ กับกิจกรรมเหล่านี้ โดยเฉพาะเรื่องความคุ้มค่าต่อทรัพยากรที่ต้องใช้จ่ายหรือต้นทุนที่ต้องเสียไปเพื่อให้กิจกรรมการกุศลสำเร็จลุล่วง
ยิ่งเป็นงานที่เกี่ยวพันกับคนจำนวนมากอาจต้องใช้ทรัพยากรหลายด้านทั้งในท้องถิ่นหรือระดับประเทศยิ่งถ้าหน่วยงานภาครัฐที่ได้รับงบประมาณจากภาษีประชาชนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยก็ย่อมมีคนตั้งคำถามมากขึ้นเป็นธรรมดา
เช็กลิสต์จัดงานการกุศลอย่างไรให้คุ้มค่า
เว็บไซต์คุ้มครองผู้บริโภคของสหรัฐอเมริกา Consumer Report ใช้ข้อมูลของเครือข่ายตรวจสอบองค์กรการกุศล ‘Charity Watch’ และ ‘BBB Wise Giving Alliance’ จัดทำคู่มือให้คนทั่วไปที่สนใจอยากบริจาคเงินหรือเข้าร่วมกิจกรรมการกุศลได้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือขององค์กรที่จัดงานหรือดำเนินการรับเงินบริจาคระดมทุน โดยระบุว่า จะต้องได้มาตรฐานประมาณ 20 ข้อ
แต่ประเด็นหลักที่ Consumer Report แนะนำให้ผู้บริโภคตรวจสอบแบบง่ายที่สุดและเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุด ได้แก่ รายชื่อกรรมการที่รับผิดชอบดูแลเรื่องการจัดงาน ต้องดูด้วยว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในประเด็นที่ขับเคลื่อนมากน้อยเพียงไร และกรรมการจะต้องไม่เคยมีประวัติอื้อฉาวหรือเกี่ยวพันการฉ้อโกงใดๆ มาก่อน และที่สำคัญคือ ผู้จัดงานกับผู้ที่รับงานย่อยๆ ต้องไม่ใช่เครือข่ายใกล้ชิดเพื่อเลี่ยงข้อกล่าวหาเรื่อง ‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’
ส่วนความคุ้มค่าของการจัดกิจกรรมระดมทุนมีการระบุว่า อย่างน้อย ‘65 เปอร์เซ็นต์’ ของเงินที่ได้รับจากการบริจาค ต้องนำไปมอบให้กลุ่มคนหรือองค์กรที่เป็นวัตถุประสงค์ในการรับบริจาคเงินตั้งแต่แรก ซึ่งนี่คือตัวเลขคร่าวๆ เท่านั้น เพราะบางองค์กร เช่น UNICEF Africa แถลงในเว็บไซต์ของตัวเองว่ามากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของเงินที่ได้จากการบริจาคและระดมทุนแต่ละปี ส่งมอบถึงมือผู้รับจริงๆ และพร้อมจะแจกแจงรายละเอียดค่าใช้จ่ายกับการดำเนินงานให้ตรวจสอบได้ด้วย
นอกจากนี้ ถ้าจะต้องนำรายได้ไปหักลบกลบหนี้กับค่าใช้จ่ายและค่าตอบแทน ‘คนทำงาน’ และคนร่วมจัดกิจกรรมระดมทุน (ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจได้) เงินก้อนนั้นรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 35 เปอร์เซ็นต์ของเงินรายได้ทั้งหมดที่ได้จากการระดมทุนบริจาค
ถ้าตรวจสอบออกมาแล้วพบว่า ค่าตอบแทนคนจัดงานหรือคนประสานงานรวมกันมากกว่านี้แล้วก็คงหนีข้อกล่าวหา ‘นักบุญทุนคนอื่น’ ได้ยากและอาจถูกวิจารณ์ได้ว่ากิจกรรมที่จัดเป็นการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความร่ำรวยหรือสร้างชื่อเสียงให้กับคนจัดงานและคนที่ออกหน้าเพื่อให้สังคมหันมาสนใจมากกว่า
ถอดบทเรียนงานใหญ่ในตำนาน แต่พังเพราะไม่ได้วางแผนล่วงหน้า
ที่จริงแล้ว กว่าองค์กรการกุศลในประเทศตะวันตกจะคิดอย่างนี้ได้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักมาก่อน โดยตัวอย่างที่เห็นชัดเรื่องการจัดงานฉาบฉวยและไม่คุ้มค่า ได้แก่ งานเลี้ยงอาหารค่ำ Gala Dinner ในสหรัฐฯ ซึ่งในปี 2017 ถูกสื่อมวลชนและองค์กรภาคประชาชนประณามว่าเม็ดเงินที่ลงทุนไปกับการเชิญคนดังๆ และคนใหญ่คนโตมาร่วมงานนั้น ‘เสียเปล่า’ เพราะเงินบริจาคที่ได้รับกลับมาไม่พอกับค่าจัดงานด้วยซ้ำ ทำให้งานแบบนี้ค่อยๆ เสื่อมความนิยมไป
อีกงานใหญ่ที่ถูกวิจารณ์หนักแม้จะมีภาพลักษณ์ว่าประสบความสำเร็จอย่างมากก็คือ งานคอนเสิร์ต Live Aid ที่จัดขึ้นในกรุงลอนดอนของอังกฤษเมื่อปี 1985 (และเป็นงานสำคัญที่ถูกฉายให้เห็นในภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง ‘Bohemian Rhapsody’ ที่พูดถึงชีวิตของ เฟรดดี เมอร์คิวรี นักร้องนำวง Queen)
แม้งาน Live Aid ในปีนั้นจะระดมเงินจากทั่วโลกได้แบบหักลบต้นทุนแล้วก็ยังมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2,500 ล้านบาท) แต่การจัดส่งเสบียงอาหารเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยความแห้งแล้งและขาดอาหารในประเทศแถบแอฟริกาประสบข้อจำกัดอย่างมากและผู้จัดงานเองก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะเจอปัญหานี้
เว็บไซต์ Spin รายงานว่า หลังได้เงินบริจาคก้อนใหญ่มาจากงาน Live Aid องค์กรที่เกี่ยวข้องต่างก็เร่งจัดซื้อจัดหาเสบียงที่จำเป็นเพื่อส่งไปที่ประเทศปลายทาง แต่พอไปถึงแล้วกลับเจอกับปัญหาเรื่องการขนส่ง เพราะประเทศในแถบแอฟริกาหลายแห่งในยุคนั้นมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มติดอาวุธและรัฐบาลที่โน้มเอียงไปทางเผด็จการ ทำให้ผู้คนอยู่อาศัยแบบกระจัดกระจายและมีพื้นที่ทุรกันดารยากจะเข้าถึง เมื่อไม่มีโครงสร้างสาธารณูปโภคที่ดีพอ เสบียงจำนวนมากก็ตกค้างในเมืองใหญ่จนเน่าและขึ้นรา เพราะหนึ่งปีต่อมาก็ยังหาทางกระจายเสบียงไปยังพื้นที่ห่างไกลไม่ได้
เคราะห์ซ้ำกรรมซัดกว่านั้นก็คือ องค์กรที่เกี่ยวข้องต้องไปต่อรองกับรัฐบาลเผด็จการ เพื่อให้หาทางอำนวยความสะดวกในการกระจายเสบียงและความช่วยเหลือไปให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่สื่ออย่าง BBC เคยรายงานข้อครหาว่า สุดท้ายแล้วเงินช่วยเหลือ ‘เพื่อการกุศล’ กลับถูกผันแปรไปสู่มือของผู้ปกครองประเทศที่ฉ้อฉล และกลายเป็นภาระให้ประชาชนยิ่งต้องต่อสู้หนักกว่าเดิม เพราะอยู่ดีๆ ผู้นำเผด็จการก็มีโอกาสหาเงินเข้ากระเป๋าได้เพิ่ม ทั้งยังขัดแย้งกับความตั้งใจในการบริจาคเงินของคนจำนวนมากด้วย
บทเรียนจาก Live Aid จึงเป็นหนึ่งในประเด็นที่นำไปสู่การทบทวนและกำหนดเงื่อนไขเพื่อตรวจสอบการจัดงานการกุศลต่างๆ ในเวลาต่อมาด้วย
อ้างอิง
- BBC. Ethic Guides: Arguments against charity. https://bit.ly/3MElCik
- Consumer Reports. Best and Worst Charities for Your Donations. https://bit.ly/3CJ18k3
- Psychology Today. The Neuroscience of Giving: Proof that helping others helps you. https://bit.ly/2qexLBu
- Spin. Live Aid: The Terrible Truth. https://bit.ly/3MDZnsN
- The Washington Post. Charity galas can waste money. And the IRS doesn’t always notice when they do. https://wapo.st/3Sag93O
- UNICEF. Busting 5 myths about large charity organizations. https://uni.cf/3eEHBJu