ทำไมชิป M1 ของ Apple ถึงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ที่สุดนับจากยุคของสตีฟ จอบส์
ปี 2020 เป็นปีที่มีความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในโลกมากมาย ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จำนวนมากเรา “เห็นและรู้สึก” ได้ไม่ยาก
แต่ความเปลี่ยนแปลงอีกจำนวนมาก มันเกิดในระดับที่เรามองไม่เห็น และที่พูดว่า “ไม่เห็น” นี้ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่ “ไกลตัว” เท่านั้น เพราะบางครั้งสิ่งที่ “ใกล้ตัว” นี่แหละ แต่เราก็ไม่มองเห็นมัน เช่นกัน
1.
ในปลายเดือนพฤษจิกายน 2020 บริษัทคอมพิวเตอร์เจ้าใหญ่อย่าง Apple ได้เปิดตัวสินค้าใหม่ประจำปีตามระเบียบ บางคนก็อาจไม่รู้สึกอะไร เพราะนี่ก็เป็นวัฎจักรทางการตลาดของ Apple อยู่แล้วที่จะต้องผลิตสินค้ารุ่นใหม่มาเรื่อยๆ ให้สินค้ารุ่นเก่าๆ มัน “ตกรุ่น” กันไป และจริงๆ หลายคนก็มองว่า Apple ไม่มีอะไรใหม่จริงจังนับตั้งแต่สตีฟ จอบส์ ลาโลกไป
อย่างไรก็ดี รู้ไหมว่าการเปิดตัวคราวนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์หลายๆ คนมองว่า Apple ได้ทำการเปลี่ยนแปลงที่อาจเรียกได้ว่า “ปฏิวัติวงการคอมพิวเตอร์” ในระดับเดียวกับที่ Apple ทำมาแล้วในยุคของสตีฟ จอบส์เลยทีเดียว
2.
การเปลี่ยนแปลงที่ว่าก็คือการใช้ชิป M1 เป็นครั้งแรกใน MacBook, MacMini และ MacBook Pro ขนาด 13 นิ้ว
เราก็อาจรู้สึกว่า มันก็เป็นการเปลี่ยนชิปตามปกติของคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ แต่ถ้าคิดแบบนี้ ก็หมายความว่าเราไม่เข้าใจว่า M1 คืออะไร
อธิบายง่ายที่สุดคือ ชิป M1 เป็นชิปที่ใช้ “สถาปัตยกรรมการประมวลผล” แบบเดียวกับที่ใช้ในสมาร์ตโฟน และที่นี้มันเป็นครั้งแรกที่ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ เอา “สถาปัตยกรรมการประมวลผล” แบบนี้มาใช้กับคอมพิวเตอร์ และนั่นหมายถึงจุดจบของสถาปัตยกรรมการประมวลผลแบบเก่าในโลกของคอมพิวเตอร์สำหรับผู้บริโภคไป
3.
อธิบายแบบนี้อาจงง แต่จะเล่าย้อนแบบบ้านๆ ก็คือ ถ้าเราจำได้ คอมพิวเตอร์สมัยก่อนมันเครื่องใหญ่ๆ ใช่มั้ยครับ ทุกเครื่องก็จะต้องมีพัดลมติด เพราะตรง CPU มันจะร้อน และตอนเด็กๆ เราก็จะชินกับแบบนี้ ที่นี้พอเราโตมา โลกนี้ก็มีเริ่มมีสมาร์ตโฟน ซึ่งก็คือคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก แบบถือได้ด้วยมือเดียว
เคยสงสัยไหมครับว่ามันเป็นไปได้ยังไง? คำตอบง่ายๆ คือ มันมีการเปลี่ยนสถาปัตยกรรมประมวลผลจาก “แบบเก่า” ที่เราเห็นในคอมพิวเตอร์ตอนเด็กๆ มาเป็น “แบบใหม่” แทน และความต่างหลักของ “แบบเก่า” กับ “แบบใหม่” ก็คือ แบบเก่าเน้นพลังในการประมวลผล จะกินไฟเท่าไร จะสร้างความร้อนเท่าไหนช่างมัน แต่ “แบบใหม่” มันถูกสร้างมาบนฐานคิดว่าต้องประหยัดไฟที่สุด ซึ่งใช้ไฟน้อย ก็คือไม่ต้องมีพัดลมระบายความร้อน และมันเลยทำให้มันเหมาะกับการไปใส่เป็นหน่วยประมวลผลของอุปกรณ์ขนาดเล็กแบบสมาร์ตโฟน รวมไปจนถึงอุปกรณ์ “อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง” อีกสารพัด (เพื่อเป็นความรู้ “แบบเก่า” ศัพท์เทคนิคมันจะเรียก Complex Instruction Set Computer หรือ CISC ส่วน “แบบใหม่” ศัพท์เทคนิคมันเรียก Reduced Instruction Set Computer หรือ RISC แบบหลังนี่บางคนก็จะรู้จักในชื่อ ARM นี่เป็นบริษัทที่ริเริ่มสถาปัตยกรรมแบบนี้หรือจะเรียกว่าเป็น “เจ้าของเทคโนโลยี” ก็พอได้)
ก่อนหน้านี้ มันเลยมีโลกสองโลกของคอมพิวเตอร์คู่ขนานกัน คือโลกของคอมพิวเตอร์ที่ยังใช้สถาปัตยกรรมแบบเก่า ซึ่งในทางปฏิบัติก็คือหมายถึงใช้ชิปของทาง Intel ส่วนโลกของสมาร์ตโฟนก็จะใช้ชิปของ
สถาปัตยกรรมแบบใหม่ และนี่คือเหตุผลว่าทำไมระบบปฏิบัติการ หรือ “แอปพลิเคชัน” ต่างๆ ในสาร์ทโฟน ถึงไม่สามารถใช้บนคอมพิวเตอร์ได้โดยตรง พื้นฐานคือมันใช้สถาปัตยกรรมการประมวลผลคนละชุด
4.
ที่นี้สิ่งที่แอปเปิล “ปฏิวัติ” ด้วย M1 ก็คือ การประกาศกว่า มันจะไม่มีอีกแล้วโลก 2 ใบ ต่อจากนี้ไปคือโลกใบเดียวของสถาปัตยกรรมการประมวลผลแบบใหม่ ซึ่งเอาจริงๆ คือชิป M1 บนคอมพิวเตอร์ของ Apple ที่เพิ่งเปิดตัว และชิป A14 ของ iPhone 12 คือเทคโนโลยีตัวเดียวกันเป๊ะ แค่ใช้คนละชื่อ
แน่นอนว่า Intel คือเจ้าแรกที่หนาว เพราะคอมพิวเตอร์ทุกรุ่นของ Apple ใช้ชิปของ Intel มาเป็นสิบปี และการประกาศแบบนี้ก็ทำให้ Intel ดูจะอนาคตริบหรี่มาก เพราะผู้นำตลาด PC อย่างแอปเปิลนั้นเปลี่ยนแล้ว เจ้าอื่นก็คงตามแน่ๆ พูดง่ายๆ ก็คือ อีกสักพัก คอมพิวเตอร์และโน๊ตบุ๊คที่อยู่ในท้องตลาดทั้งหมด ก็น่าจะใช้ชิปที่เป็น “สถาปัตยกรรมประมวลผลแบบใหม่” กันหมดและซึ่งนั่นทำให้บริษัทที่หากินมาตลอดกับ “สถาปัตยกรรมประมวลผลแบบเก่า” อย่าง Intel แทบไม่เหลืออนาคต (ส่วนทำไม Intel ไม่ “ปรับตัว” อันนี้ต้องตอบยาวครับ ไม่อาจตอบในที่นี้ได้)
5.
ถามว่ามันแค่นั้นไหม? กับ M1 คำตอบคือไม่ใช่ เพราะชิปตัวนี้ไม่ได้ใช้แค่ “สถาปัตยกรรมประมวลผลแบบใหม่” แต่มันสร้างโดยพื้นฐานว่ามันจะทำให้หน่วยประมวลผลพื้นฐานของคอมพิวเตอร์ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด คือ M1 นี่ไม่ใช่ CPU อย่างเดียวนะครับ มันคือ CPU+GPU+RAM รวมกัน ในชิปอันเล็กๆ และนี่มันทำได้ เพราะ Apple ลงทุนพัฒนาเองเลยจนสามารถสร้างชิปขนาดเล็กที่ ณ ปัจจุบันวางอยู่บนสถาปัตยกรรมการประมวลผลขนาดเล็กทีสุด เพียง 5 นาโนเมตร (ปัจจุบัน สินค้าในตลาดที่ใช้สถาปัตยกรรมขนาดเล็กเท่านี้มีแค่คอมพิวเตอร์ของ Apple ที่ใช้ชิป M1 กับ iPhone 12 เท่านั้น)
กล่าวคือมันไม่ใช่แค่ใช้ “สถาปัตยกรรมประมวลผลแบบใหม่” แต่มันเอาสถาปัตยกรรมประมวลผลนี้ มาทำให้ขนาดเล็กที่สุด และรวบหน่วยประมวลผลทั้งหมดเข้าด้วยกัน เพื่อทำให้การประมวลผลมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งนั่นก็คือ ใช้พลังงานน้อยที่สุด เครื่องร้อนน้อยที่สุด ประหยัดไฟฟ้าและแบตเตอรี่มากที่สุด ฯลฯ
6.
พูดให้มันง่ายกว่านั้น M1 นี่แหละ “ชิปแห่งอนาคต” แท้ๆ เพราะในยุคที่โลกพยายามจะทำให้ทุกอย่างเป็น “คอมพิวเตอร์” ความต้องการมันไม่ใช่ชิปที่พลังประมวลผลสูงแต่กินไฟเท่าไรก็ได้ เหมือนยุคแรกของ
คอมพิวเตอร์ แต่ความต้องการของยุคนี้คือชิปที่เล็กที่สุด ที่มันจะไปอยู่ในอะไรก็ได้ต่างหาก และ M1 ก็ถูกสร้างมาด้วยคอนเซ็ปต์แบบนี้เน้นๆ
และถ้านั่นยังโหดไม่พอ M1 เป็นชิปแรกที่ขายกันทั่วไปที่ใส่หน่วยประมวลผลเฉพาะสำหรับ AI มาด้วยครับ ซึ่งก็ต้องเข้าใจก่อนว่า หน่วยประมวลผลที่เหมาะกับ AI มันไม่ใช่หน่วยแบบที่มีในคอมพิวเตอร์ปกติ แต่ Apple เห็นว่าสิ่งเหล่านี้คืออนาคต ก็เลยใส่มาเผื่อๆ ไว้
กล่าวคือ M1 มันไม่ใช่แค่การประสานให้คอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟนใช้หน่วยการประมวลผลแบบเดียวกันเท่านั้น แต่มันคือการเตรียมเข้าสู่ยุคใหม่ของการประมวลผล ที่ทุกๆ อุปกรณ์ในโลกนั้นไม่ใช่แค่จะต้องใส่ชิปคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่ยังต้องสามารถประมวลผลแบบ AI ได้ด้วย
และก็คงจะไม่ต้องบอกว่า Apple เป็นบริษัทคอมพิวเตอร์แรกในโลกที่ทำแบบนี้ ซึ่งนี่ก็น่าจะเพียงพอแล้วที่จะบอกว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงระดับ “ปฏิวัติ” อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ครั้งใหม่โดย Apple อันเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของบริษัท นับแต่สตีฟ จอบส์ ลาโลกไปเลย
อ้างอิง:
- The Indian Express. https://bit.ly/3oawLdo
- Tech Story: https://bit.ly/33EB60C