สำหรับคนตาบอด โลกเป็นสิ่งที่มืดมิด แต่มีคนตาบอดกลุ่มหนึ่งยืนยันว่าโลกไม่ได้มืดมิดขนาดนั้น พวกเขายังมองเห็น แต่พอให้ลองทำกิจกรรมที่คนมองเห็นเท่านั้นถึงจะทำได้ พวกเขาก็จะล้มเหลว
อาการแบบนี้เรามีคำเรียกว่า ‘แอนตันซินโดรม’ ซึ่งชื่อมันมาจากนักประสาทวิทยาชาวออสเตรีย ที่มีชีวิตอยู่ช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 อย่าง กาเบรียล แอนตัน (Gabriel Anton)
ในประวัติศาสตร์การแพทย์ แอนตันถือว่าเป็นหมอผู้บุกเบิกการผ่าตัดสมอง แต่สิ่งที่ทำให้ชื่อของเขาถูกจารึกมาถึงปัจจุบันคือ การค้นพบภาวะ ‘แอนตันซินโดรม’ หรือภาวะที่คนที่ตามองไม่เห็นยืนยันว่าตนมองเห็น ซึ่งเรียกทางเทคนิคกว่า Visual anosognosia
ภาวะพวกนี้หลักๆ เกิดจากความเสียหายของสมองที่ทำให้บุคคลไม่สามารถรับรู้การสูญเสียอวัยวะหรือประสาทสัมผัสของตนเองได้ โดยคนไข้ที่แอนตันอธิบายถึง ‘แอนตันซินโดรม’ เป็นผู้หญิงอายุ 69 ปี ที่สมองส่วนหน้าได้รับความเสียหาย จนทำให้ตาบอด แต่กลับยืนยันว่าตัวเองมองเห็น ซึ่งจริงๆ แล้ว ถ้านับย้อนไป คนที่แสดงอาการแบบนี้มีมาตั้งแต่สมัยยุคโรมัน
แอนตันซินโดรม สร้างความปวดหัวให้กับผู้บำบัดมาก เพราะคนไข้จะยืนยันว่าตนมองเห็นทั้งๆ ที่มองไม่เห็น และในหลายครั้งมันก็ต้องใช้เวลาพอควรเลยที่จะยืนยันว่า ผู้ป่วยนั้นเป็นแอนตันซินโดรมจริงๆ ไม่ใช่แค่ตาพร่า หรือมองไม่ชัด ซึ่งจะเป็นสิ่งที่จะค่อยๆ ดีขึ้นตามกาลเวลา
ซึ่งถามว่า ‘แอนตันซินโดรม’ แพร่หลายแค่ไหน? เขาบอกว่ามันพบได้มากพอควรในผู้สูงอายุที่ได้รับบาดเจ็บทางสมอง ซึ่งภาวะที่ว่านี้จะเกิดในหมู่ผู้สูงอายุที่มีภาวะเส้นเลือดสมองตีบ/แตก (stroke) ส่งผลให้เซลล์สมองตาย โดยเฉพาะยิ่งอายุมากขึ้น และบางครั้งผู้ที่ฟื้นกลับมาได้ ก็มักจะประสบภาวะแปลกๆ ที่เกิดจากความเสียหายของสมอง โดยภาวะหนึ่งที่พบได้ก็คือ แอนตันซินโดรม ที่ว่านี่เอง
แล้วถามว่ามีวิธีรักษาไหม? หลักๆ แล้วการรักษาก็จะเน้นไปที่สาเหตุที่ทำให้ตาบอด ซึ่งพอตาบอดเพราะส่วนของสมองที่ใช้ในการมองเห็นเซลล์ตายไปหมด ในทางปฏิบัติคือมันก็แทบจะรักษาไม่ได้เลย เพราะปัจจุบันเรายังไม่มีเทคโนโลยีที่จะทำให้ร่างกายฟื้นฟูเซลล์สมองที่ตายไปแล้วได้
อ้างอิง
- IFLS. Anton Syndrome: The People That Don’t Know They Are Blind. https://bit.ly/3CJu1xa