สัญญาณวิกฤตโลกร้อนกระหน่ำใส่แอนตาร์กติกา อุณหภูมิสูงขึ้น 40 องศา หิ้งน้ำแข็งพังถล่ม และมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้น

2 Min
398 Views
06 Apr 2022

ผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อนนั้นกำลังคุกคามพื้นที่แอนตาร์กติกามากขึ้นเรื่อยๆ โดยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2022 ที่ผ่านมา ล้วนเต็มไปด้วย ‘ปรากฏการณ์’ ที่ไม่น่ายินดีสักเท่าไหร่เกิดขึ้นมากมายหลายเรื่อง

เริ่มตั้งแต่ในเดือนกุมภาพันธ์ ท่ามกลางยุคที่อุณหภูมิได้อุ่นขึ้นอย่างไม่ปรานีสถานที่ใด นักวิจัยบนเกาะ Signy Island พบว่าพืชพื้นเมืองอย่างหญ้าแอนตาร์กติกแฮร์กราส และแอนตาร์กติกเพิร์ลเวิร์ต (เป็นไม้ดอก) เติบโตและแผ่ขยายพื้นที่สีเขียวมากกว่าเดิม 5-10 เท่า 

ในภาษานักวิจัยเรียกว่าเป็นการตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ซึ่งเมื่ออุณหภูมิอากาศอุ่นขึ้นอย่างรวดเร็ว ต้นไม้จึงโตได้ดีกว่าช่วงเวลาแห่งความหนาวเย็นในอดีต

จากทุ่งน้ำแข็งขาวโพลน ก็กลายเป็นทุ่งหญ้าเขียวขจี

หญ้าแอนตาร์กติกแฮร์กราส l I Nature

แต่ผลที่ตามมานำไปสู่การเปลี่ยนค่าความเป็นกรดของดิน แบคทีเรีย เชื้อราในดิน และการสลายตัวของสารอินทรีย์ในดิน ที่จะพลิกโฉมสภาพเกาะให้แตกต่างไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง

แต่ที่น่ากังวลมากที่สุด ปรากฏการณ์นี้กำลังทำให้ชั้นน้ำแข็งที่เรียกว่า ‘เพอร์มาฟรอสต์’ (Permafrost) หรือดินที่อยู่ในพื้นที่หนาวเย็นจนกลายเป็นน้ำแข็งละลายหายไป

ดังที่ทราบกัน ‘เพอร์มาฟรอสต์’ เต็มไปด้วยก๊าซคาร์บอนฯ ที่ถูกเก็บสะสมไว้ตั้งแต่อดีตกาล นั่นก็หมายความว่า ก๊าซคาร์บอนฯ จะถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น ซ้ำเติมวิกฤตโลกร้อนให้ยิ่งรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม

เหตุการณ์ต่อมาในเดือนมีนาคม หิ้งน้ำแข็งคองเกอร์ ซึ่งตั้งอยู่นอกชายฝั่งแอนตาร์กติกาตะวันออกใกล้พังทลายลงอย่างสมบูรณ์เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 

หิ้งนี้มีพื้นที่ประมาณ 1,200 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีขนาดพอๆ กับกรุงโรม และเล็กกว่าลอสแองเจลิสเพียงเล็กน้อย

ตามปกติ ‘หิ้งน้ำแข็ง’ มีความสำคัญต่อการยับยั้งการไหลของน้ำแข็งบนทวีปลงสู่ทะเล หากมันพังทลายหรือหายไป น้ำแข็งที่ละลายจากพื้นที่ทวีปจะไหลลงทะเลในทันที ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงเร็วขึ้น 

การแตกตัวของน้ำแข็งในแอนตาร์กติก l Paul Carroll

เป็นโชคดีว่าขนาดของหิ้งน้ำแข็งคองเกอร์ถือว่าไม่ใหญ่ หากเทียบกับการพังทลายของหิ้งน้ำแข็งครั้งก่อนๆ ที่นักวิทยาศาสตร์จะกังวลมากกว่า แต่ก็ไม่ใช่สัญญาณที่ดีสักเท่าไหร่ เนื่องจากไม่ค่อยมีการตรวจพบการพังทลายทางฝั่งตะวันออกมากนัก 

ดังนั้น การพังทลายหนนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนความเปลี่ยนแปลงที่สามารถเกิดขึ้นที่ไหนและเมื่อไหร่ก็ได้

และไม่กี่วันหลังเหตุน้ำแข็งพังทลายลง สถานีตรวจวัดอุณหภูมิของแอนตาร์กติการายงานว่า วันที่ 18 มีนาคม อุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นที่สูงขึ้นกว่าปกติ 40 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นค่าที่ไม่เคยวัดขึ้นมาก่อนนับตั้งแต่ที่มีการเก็บข้อมูลมาหลายทศวรรษ

ส่งผลให้ในวันที่แอนตาร์กติกากำลังเริ่มต้นสู่ฤดูหนาวมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 18 องศาเซลเซียส กันอย่างงงๆ

และในวันเดียวกัน พื้นที่ตรงข้ามอย่างอาร์กติกก็มีอุณหภูมิสูงขึ้น 30 องศาเซลเซียส พร้อมๆ กัน

ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในมุมของนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศยังโต้แย้งกันอยู่ว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริง ระหว่างวิกฤตโลกร้อนหรืออาจเป็นแค่ปรากฏการณ์ด้านสภาพภูมิอากาศแบบสุ่ม 

แต่ไม่ว่าจะเพราะอะไรก็ตาม เราต้องไม่ลืมว่าโลกของเราอยู่ในจุดที่อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.1 องศาเซลเซียส สูงกว่าค่าเฉลี่ยปี 1979-2000 ซึ่งเป็นช่วงที่โลกอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 0.5 องศาเซลเซียส

โดยพื้นที่ขั้วโลกคือจุดที่อุณหภูมิเพิ่มสูงกว่าส่วนอื่นๆ ของโลก 2-3 เท่า และกำลังเร่งให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็วขึ้น ทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น ตลอดจนเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำให้สูงขึ้น และสร้างความเสี่ยงให้โลกใบนี้ต้องเผชิญภาวะฉุกเฉินทางสภาพอากาศมากมายยิ่งขึ้น

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราห้ามลืมโดยเด็ดขาด

อ้างอิง

  • The Guardian. Flourishing plants show warming Antarctica undergoing ‘major change’. https://bit.ly/3K4bvRH
  • Nature World News. Scientists Alarmed as Massive Conger Ice Shelf in Antarctica Collapse Due to Record-Breaking Heat. https://bit.ly/3tHZ602
  • The Guardian. Heatwaves at both of Earth’s poles alarm climate scientists. https://bit.ly/3uTSSJY