2 Min

‘เจอร์โบอาหูยาว’ หนูที่ครองตำแหน่งสัตว์ที่มี “หู” ใหญ่ที่สุดในโลก

2 Min
1949 Views
17 Apr 2021

รู้ไหม สัตว์ชนิดใด มีขนาดของ “หู” ใหญ่ที่สุดในโลก

เฉลย “หนูเจอร์โบอาหูยาว”

หนูเจอร์โบอาหูยาว

หนูเจอร์โบอาหูยาว | CDN

ไม่ต้องขยี้ตา และไม่ต้องย้อนกลับไปอ่านใหม่ “หนู” นี่ล่ะ เป็นสัตว์ที่ถูกจัดว่ามีขนาดของหูใหญ่ที่สุด

ก่อนจะจินตนาการไปไกลว่าเป็นหนูยักษ์หรือเปล่า ก็ขอย้ำอีกครั้งว่าเป็นหนูตัวจิ๋วแบบที่เราคุ้นเคยกันปกตินี่ล่ะ

ซึ่งเหตุที่สัตว์ฟันแทะนักกระโดดอย่างเจ้า “หนูเจอร์โบอาหูยาว” ถูกจัดอยู่ในตำแหน่งนี้ โดยข้อเท็จจริงแล้วต้องระบุหมายเหตุไว้ด้วยว่า “เมื่อเทียบกับขนาดของตัว”

แต่หากตัดปัจจัยนี้ออกไป คำตอบของคำถามว่าสัตว์ชนิดใดหูใหญ่ที่สุดก็คือช้างแอฟริกันอย่างที่หลายๆ คนคิดกัน

เจ้าหนูเจอร์โบอาหูยาว เป็นสัตว์ฟันแทะที่ออกหากินกลางคืน ดำรงชีวิตด้วยการหาแมลงเป็นอาหาร

นักวิทยาศาสตร์เพิ่งพบเจอสายพันธุ์นี้เมื่อสิบกว่าปีก่อน ในเขตทะเลทรายของประเทศจีนและมองโกเลีย

โดยทีมวิจัยที่พบได้ตั้งสมญานามให้ว่า “มิกกี้เมาส์แห่งทะเลทราย” (ตามลักษณะ)

ด้วยความที่มีขนาดตัวยาวประมาณ 4 นิ้ว (ไม่รวมหาง) แต่เจอร์โบอาหูยาวกลับมีขนาดของหูยาว 1.5-2 นิ้ว หรือคิดเป็น 40-50% ของขนาดร่างกาย ขณะที่ช้างแอฟริกา จะมีขนาดของหูอยู่ที่ 1.2 เมตร หรือคิดเป็น 17% ของขนาดตัวที่ใหญ่มโหฬาร

นั่นจึงทำให้เจอร์โบอาหูยาวได้รับตำแหน่งแชมป์สัตว์ที่มีขนาดหูใหญ่ที่สุดในโลกไปครอง

หูใหญ่แล้วไง!?

นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า ลักษณะของหูที่ใหญ่เป็นวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิตของสัตว์แต่ละสายพันธุ์

ความสำคัญของหูนอกเหนือจากการได้ยินแล้ว ประโยชน์ใหญ่ๆ อีกอย่าง คือ หูของสัตว์ยังช่วยควบคุมและระบายความร้อนในร่างกายให้กับสัตว์

หากเรามีสัตว์เลี้ยงลองสังเกตดูว่า ที่หูของพวกมันจะมีเส้นเลือดปรากฏให้เห็นอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดผ่านบริเวณหูจะช่วยให้สัตว์สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกาย หากอากาศร้อนมากเส้นเลือดที่หูจะดูใหญ่เพราะมีเลือดไหลมารวมมาก แต่เมื่ออากาศเย็นลงหรือเป็นช่วงเวลากลางคืนขนาดของเส้นเลือดก็จะเล็กลง

ซึ่งธรรมชาติได้ออกแบบขนาดของหูตามสภาพแวดล้อมถิ่นที่อยู่อาศัย

ในกรณีของเจอร์โบอาหูยาวที่อาศัยอยู่ในทะเลทราย หูที่ใหญ่จะช่วยให้สัตว์สามารถระบายความร้อนได้ดี

ตัวอย่างเปรียบเทียบที่เห็นได้ชัดคือ หูของช้างเอเชียและช้างแอฟริกา ซึ่งช้างแอฟริกาจะมีขนาดของหูที่ใหญ่เพราะอยู่ในเขตร้อน ส่วนช้างเอเชียอยู่ในเขตป่าฝนที่อุณหภูมิต่ำกว่า จึงไม่ต้องวิวัฒนาการขนาดของหูให้ใหญ่

แต่หูที่ใหญ่ของสัตว์ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเหตุผลเรื่องอุณหภูมิเพียงอย่างเดียว สัตว์บางชนิดมีหูที่ใหญ่ก็เพื่อประโยชน์การใช้งานในด้านอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

เช่น ค้างคาวบางชนิดมีหูที่ใหญ่เพื่อใช้เป็นโซนาร์ตรวจจับคลื่นสะท้อนของเสียงที่ส่งออกไป

ลิงซ์เปอร์เซีย มีหูต่างเรดาห์เพื่อใช้จับความเคลื่อนไหวและล่าสัตว์ในพงหญ้า

จิ้งจอกหูค้างคาว หมาป่าประหลาดที่ชอบกินปลวกกินแมลง นอกจากมีหูที่ใหญ่เพื่อระบายความร้อนแล้ว ยังมีไว้เพื่อจับสัญญาณความเคลื่อนไหวของแมลงอย่างที่มนุษย์ไม่มีอาจฟังได้อย่างมัน

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความมหัศจรรย์ทางวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลก ที่ทำให้เรารู้สึกประหลาดใจเมื่อได้เรียนรู้อยู่เสมอ

อ้างอิง