3 Min

รู้ไหม เลือดสีน้ำเงินของแมงดาทะเล ขายได้ลิตรละ 500,000 บาท

3 Min
3402 Views
30 Jun 2022

พูดถึงเลือดสีน้ำเงิน’ (blue blood) บางคนอาจจะพานคิดไปว่ามันเป็นเรื่องการเมืองของมนุษย์ แต่ในทางชีววิทยา ไม่มีมนุษย์คนใด หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดใดเกิดมาพร้อมกับเลือดสีน้ำเงิน และสัตว์ที่มีเลือดสีน้ำเงินในโลกนี้ ก็จะมีแค่พวกสัตว์ตระกูลกุ้ง หอย ปลาหมึก แมงมุม แมงป่อง หนอนทะเล ไปจนถึงกิ้งก่าบางชนิด

แต่ในบรรดาสัตว์ที่เลือดสีน้ำเงิน มีเลือดของสัตว์ชนิดเดียวที่เลือดของมันมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และมีมูลค่าอย่างมหาศาลด้วย สัตว์ที่ว่าคือ แมงดาทะเล

ถ้าพูดถึงแมงดาทะเล หลายคนอาจเปรี้ยวปากอยากกินยำไข่แมงดาขึ้นมา แต่ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งก็คือ สัตว์ที่หน้าตาแบบนี้มาเป็นล้านปีชนิดนี้ คนที่อื่นๆ เขาไม่เอามากินกัน (ซึ่งจริงๆ ก็กินกันแต่แถวบ้านเราและจีนในบางโซนเท่านั้น ซึ่งบ้านเราถือว่าดังสุด เพราะกินกันกว้างขวาง) แต่ถ้าจับมาได้เขาใช้เป็นพวกเหยื่อตกปลาหรือไม่ก็ทำปุ๋ย

พูดง่ายๆ คือ เมื่อก่อนมันแทบจะเป็นสัตว์ที่ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจใดๆ เลย

จนเมื่อไม่นานมานี้ เลือดสีน้ำเงินของมันถูกใช้ในทางการแพทย์ และมีมูลค่ามหาศาล

ถ้าจะประเมินคร่าวๆ เลือดแมงดาทะเลสดๆ มีมูลค่าถึงราวลิตรละกว่า 500,000 บาทเลยทีเดียว ซึ่งบางคนก็ถึงกับบอกว่านี่คือเลือดที่ราคาแพงที่สุดในโลกแล้ว แพงกว่าสิ่งมีชีวิตใดๆ ทั้งนั้น

ทำไมเลือดของมันถึงมีมูลค่ามากขนาดนั้น มีสรรพคุณอะไรกัน?

ถ้าจะให้พูดสั้นๆ ง่ายๆ เลือดแมงดาทะเล มันคือสารที่สามารถตรวจจับเชื้อโรคได้ดีที่สุดในโลก

และส่วนที่เป็นสีน้ำเงินของมันนี่แหละที่เป็นตัวสร้างสรรพคุณ

เนื่องจากแมงดาทะเลอาศัยอยู่ในน้ำตื้น ซึ่งเต็มไปด้วยเชื้อโรค มันเลยวิวัฒนาการสร้างเซลล์เฉพาะของมันเอาไว้ตรวจจับเชื้อโรคต่างๆ มาในเลือด ซึ่งเลือดของมันก็มีสรรพคุณคือ ถ้าเจอเชื้อโรคปุ๊บ มันจะสร้างเจลห่อหุ้มเชื้อโรคไว้เลย ไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจาย และองค์ประกอบในเลือดที่ว่านี้มันมีโมเลกุลของทองแดงเป็นหลัก ก็เลยทำให้เลือดเป็นสีน้ำเงิน (ดังนั้นเหตุผลที่สัตว์เลือดสีน้ำเงินทั้งหลายมีเลือดสีนี้ เพราะเลือดมันมีส่วนผสมของทองแดงนี่เอง)

จริงๆ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบสรรพคุณของเลือดแมงดาทะเลที่ว่านี้มากว่า  50 ปีแล้ว แต่มาช่วงหลังๆ นี่เองที่เริ่มเอาเลือดแมงดาทะเลมาพัฒนาเพื่อใช้ในทางการแพทย์จริงจังขึ้นเรื่อยๆ

เบื้องต้น ขนาดสารที่ทำจากเลือดแมงดาทะเลเจือจาง มันก็มีความสามารถในการตรวจจับเชื้อโรคได้น่าจะมากกว่าสารใดๆ ในโลก และสารนี้ก็ใช้เสริมในกระบวนการฆ่าเชื้อเครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆ ก่อนนำมาใช้กับผู้ป่วย เพราะเชื้อหลายๆ ตัวที่คนรับเข้าไปนิดเดียวก็อันตรายถึงตายนั้น บางทีใช้กระบวนการฆ่าเชื้อปกติก็ยังมีความเสี่ยง แต่ถ้าผ่านการตรวจสอบว่าปลอดเชื้อด้วยเลือดแมงดาทะเลแล้วมันก็จะชัวร์ขึ้นอีกมาก

เท่านั้นยังไม่พอ ความสามารถในการตรวจจับเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมระดับสุดยอดของเลือดแมงดาทะเล ยังสามารถนำไปวิจัยต่อเพื่อพัฒนาวิธีการรักษาโรคจากไวรัสบางชนิด ไปจนถึงรักษามะเร็ง ซึ่งไม่เคยมีการทำมาก่อนอีกด้วย

และไม่ต้องไปไหนไกล วัคซีน COVID-19 ที่เราฉีดๆ กันไปไม่รู้กี่เข็มแล้ว ตอนที่เขาพัฒนาวัคซีนกัน เขาก็ต้องใช้เลือดแมงดาในการช่วยพัฒนา เพราะมันเป็นตัวช่วยเช็กว่า เชื้อโรคตายหมดจริงไหม ในกระบวนการพัฒนาวัคซีน

ได้ยินแบบนี้ คงจะไม่แปลกใจแล้วว่าทำไมเลือดแมงดาทะเลถึงมีมูลค่าขนาดนี้

แต่นั่นก็ทำให้เป็นภัยต่อแมงดาทะเล

เพราะอย่างน้อยๆ ก็ทำให้จำนวนแมงดาทะเลในอ่าวเดลาแวร์ของอเมริกา ซึ่งเป็นอ่าวที่มีแมงดาทะเลชุกชุมที่สุดนั้นลดลงถึง 75-90 เปอร์เซ็นต์ ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา (แม้ว่าจริงๆ จะเริ่มมีการเก็บเลือดพวกมันมาใช้ เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้วก็ตาม)

ซึ่งจริงๆ ในกระบวนการ เขาก็ไม่ได้ดูดเลือดจากมันมาใช้จนมันตาย หลักการที่ทำมาตลอดคือการบังคับให้มันบริจาคเลือดมาบางส่วน (ราวๆ 1 ใน 3) แล้วปล่อยกลับลงทะเลไป

แต่ในความเป็นจริงที่ผ่านมา แมงดาทะเลราว 1 ใน 3 ที่กลับลงทะเลไปจะไม่รอด จำนวนมันก็เลยลดลงเรื่อยๆ จนน่าใจหาย

ดังนั้นก็จึงไม่แปลกที่หลังๆ คนเริ่มพยายามหาวิธีจะทำให้มันไม่ตาย ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการที่ทำให้มันไม่ต้องอยู่นอกน้ำนานเกินไป หรือการดูดเลือดมันมาใช้น้อยลง ก่อนปล่อยลงทะเล

ทั้งนี้ทั้งนั้น ที่เล่ามาทั้งหมดฟังแล้วก็อาจสงสัยว่า ถ้าเลือดมันมีมูลค่ามากขนาดนี้ ทำไมคนไทยไม่เอาเลือดมันมาขายบ้าง? เพราะแมงดาทะเลบ้านเราก็มีเยอะ

ในความเป็นจริง แมงดาทะเลบ้านเราเป็นคนละสายพันธุ์กับอเมริกา แต่เลือดก็ยังถือว่ามีสรรพคุณเหมือนกัน และเท่าที่ค้นมา ก็ไม่มีห้องแล็บเมืองไทยที่ไหนเอาแมงดาทะเลมาสูบเลือดขายกันเป็นล่ำเป็นสัน และแมงดาทะเลในบ้านเราส่วนใหญ่ก็จะมีปลายทางไปที่ร้านอาหารจำพวกทะเลเผา (ทั้งนี้แล็บใกล้บ้านเราสุดที่เอาแมงดาทะเลมาสูบเลือดอย่างเป็นล่ำเป็นสันน่าจะอยู่ที่จีน)

ส่วนทำไมบ้านเราไม่มีการสูบเลือดสีน้ำเงินอันทรงคุณค่า เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจบ้าง? ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน เดาว่าการทำห้องแล็บระดับนี้ มันต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ในระดับที่บ้านเราไม่มี (เช่นเดียวกับอีกหลายๆ เทคโนโลยี) และบริษัทต่างชาติก็อาจรู้สึกว่า ถ้าจะมาลงทุนทำโรงงานสูบเลือดแมงดาที่บ้านเราก็อาจไม่คุ้มเท่าที่อื่น ก็เลยยังไม่มีแล็บในบ้านเราจนทุกวันนี้

อ้างอิง

  • Big Think. Horseshoe crabs are drained for their blue blood. That practice will soon be over. https://bit.ly/3OveK7f
  • National Geographic. Horseshoe crab blood is key to making a COVID-19 vaccine—but the ecosystem may suffer. https://on.natgeo.com/3a3pcUs
  • Insider. Horseshoe crab blood could help scientists create a coronavirus vaccine. Here’s why the liquid is so expensive. https://bit.ly/3Nziza2