จะเป็นอย่างไรถ้าวันหนึ่งเราไม่มีความรู้สึกอีกต่อไป ไม่ว่าเจอเรื่องราวอะไรก็ไม่ได้รู้สึกยินดีแต่ก็ไม่ได้เสียใจอีกต่อไป อะไรที่เคยชอบทำ ทำแล้วมีความสุขกลับกลายเป็นไม่อยากทำมันอีกแล้ว หมดความสนใจในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารที่เคยชอบกินเอามาก ๆ หรือแม้แต่กระทั่งเรื่องเซ็กซ์!
Anhedonia หรือภาวะสิ้นยินดี จะพรากความรู้สึกของเราออกจากสิ่งต่าง ๆ ที่เราเคยชอบทำหรือเคยทำแล้วมีความสุขกับมัน เช่น ดนตรี อาหาร การสนทนา หรือแม้แต่เรื่องเพศ มันเป็นส่วนหนึ่งของอาการโรคซึมเศร้าที่จะสุขก็ไม่สุข จะทุกข์ก็ไม่ทุกข์ ไม่รู้ว่าตัวเองรู้สึกอะไรกันแน่ และสมาคมจิตเวชศาสตร์ของสหรัฐอเมริกายังระบุด้วยว่า ภาวะสิ้นยินดีนั้นสามารถพบได้ในโรคจิตเภทและความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ อีกด้วย
ในระยะแรกของผู้ที่มีอาการภาวะสิ้นยินดีนี้จะใช้ชีวิตได้อย่างปกติไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก แต่เมื่อนานเข้าอาการก็จะเริ่มแสดงออกมาเอง รับรู้ได้จากทุกอย่างที่เราเคยทำเป็นปกติทุกวันอยู่ ๆ ก็ไม่อยากทำอีกต่อไปเพราะคิดว่าทำไปก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา เช่น แค่หวีผมก็ไม่อยากทำ เพราะคิดว่าการที่ตัวเองดูแย่ก็ไม่ทำให้รู้สึกอะไร และจากคำบอกเล่าของผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าหลายคนที่มีอาการของภาวะสิ้นยินดียังบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เกลียดความรู้สึกว่างเปล่านี้ซะยิ่งกว่าอาการของโรคซึมเศร้าเสียอีก เพราะการที่ไม่สามารถทำในสิ่งที่ตัวเองเคยทำได้เหมือนเคย เป็นอะไรที่ทุกข์มาก และผู้ป่วยยังบอกอีกว่าการที่ตนรู้สึกเศร้านั้นยังดีกว่าการไม่รู้สึกอะไรเลย เมื่อไม่มีความสนใจหรือไม่อยากทำอะไรอีกแล้ว กิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยก็จะไม่เหมือนเดิม ทำให้ตัวตนของผู้ป่วยเปลี่ยนไปจากเคยเป็นคนที่ช่างพูดช่างคุย ก็ไม่อยากสนทนากับใคร หรือจากที่เป็นคนเงียบ ๆ อยู่แล้วก็จะยิ่งเข้าสังคมน้อยลงไปอีกและไม่ค่อยอยากเป็นมิตรกับใคร
หนึ่งในการศึกษาที่น่าสนใจพบกว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีอาการภาวะสิ้นยินดีในแถบยุโรปที่มีอาการรุนแรงในระดับร้อยละ 86.29 ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีความรู้สึกเฉยชากับเรื่องทางเพศ เพราะความผิดปกติของสารในสมองไปกดอารมณ์ความรู้สึกทางเพศไว้ จึงทำให้ไม่รู้สึกอยากมีเซ็กซ์ และการศึกษายังพบอีกว่าภาวะสิ้นยินดีมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับความคิดที่อยากจะฆ่าตัวตาย เพราะว่าไม่รู้สึกอะไรเลยทำให้ไม่กลัวความตาย เพราะงั้นจึงบอกได้เลยว่าภาวะสิ้นยินดีนี้เป็นปัญหาที่สำคัญต่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอย่างมาก
การรักษาภาวะสิ้นยินดีนี้ก็คือเมื่อเรารู้ตัวว่ามีอาการเหล่านี้ให้รีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้เร็วที่สุดอย่าปล่อยไว้นาน และนอกจากการพบแพทย์และทานยาตามที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำอย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอแล้ว การให้กำลังใจตัวเองเพื่อให้พ้นจากอาการที่ไร้ความรู้สึกนั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน โดยการค่อย ๆ พยายามทำสิ่งที่ตัวเองเคยชอบทำ ตั้งแต่สิ่งเล็ก ๆ ตามลำดับไปโดยที่ไม่กดดันตัวเองมากเกินไป เพื่อเป็นการฝึกให้ตัวเองกลับมามีความรู้สึกยินดียินร้ายต่อสิ่งต่าง ๆ เหมือนที่ตัวเองเคยรู้สึก
อ้างอิง
- https://bit.ly/2ROZ1X9
- https://bit.ly/2WcZ9hQ