เมื่อความหิวน่ากลัวกว่าจระเข้ คนแองโกลายอมลุยดงจระเข้อพยพออกนอกประเทศ เพราะรู้ว่าอยู่ไปก็มีแต่อดตาย

3 Min
722 Views
09 May 2022

ความอดอยากหิวโหยอาจสร้างแรงผลักดันให้คนเราตัดสินใจกระทำอะไรได้มากกว่าที่เราคิด

ดังเช่น คนชนบทในประเทศแองโกลา ทวีปแอฟริกาใต้ ที่กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตภัยแล้งรุนแรงมากที่สุดในรอบ 40 ปีจนไม่สามารถเพาะปลูกผลผลิตใดๆได้อีกในปีนี้

ตามรายงานที่เผยแพร่โดยโครงการอาหารโลกชี้แจงว่าประชาชนในบางจังหวัดกำลังอดอยากปากแห้งไม่ต่างจากที่คนในประเทศมาดากัสการ์ต้องกินกระบองเพชรประทังชีวิตไปเมื่อปีก่อน

แต่ ณ ประเทศแองโกลาเวลานี้ คนชายขอบหลายพันชีวิตต้องเด็ดยอดหญ้ามาปันกันกิน

เมื่อความหิวไม่เคยปรานีใคร คนแองโกลาจึงตัดสินใจอพยพไปประเทศนามิเบีย ซึ่งมีพรมแดนอยู่ติดกัน และเป็นที่ที่พวกเขาเชื่อว่าจะมีโอกาสหางานและอาหารได้มากกว่าการจมจ่อมอยู่กับผืนดินที่แตกระแหงร่วนร้าว

แม้จะมีเรื่องต้องเสี่ยงอันตรายรออยู่เบื้องหน้าก็ตาม

เรื่องเสี่ยงที่ว่า คือการจะไปยังนามิเบีย ผู้อพยพจะต้องเดินข้ามแม่น้ำกูเนเนที่กั้นขวางพรมแดน ซึ่งทราบกันดีว่าเป็นถิ่นของจระเข้แม่น้ำไนล์สัตว์นักล่าขนาดใหญ่ที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่องการล่าเหยื่ออย่างชาญฉกาจอาศัยอยู่ตลอดสาย และเป็นปรปักษ์กับผู้คนมาช้านาน

ทุกๆ ปี ไม่ว่าจะเป็นคนแองโกลาหรือคนนามิเบีย หากทะเล่อทะล่าไม่ระมัดระวัง มิวายต้องกลายเป็นเหยื่อจระเข้อย่างเลี่ยงไม่ได้

อันที่จริงการเดินทางไปยังนามิเบียไม่ใช่เรื่องยากหรือต้องมาเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายในทำนองอย่างว่า คนทั้งสองฝั่งสามารถไปมาหาสู่ได้ตามระเบียบของกฎหมาย

แต่ปัญหานั้นกลับอยู่ตรงที่ประเทศนามิเบียไม่ค่อยอยากรับผู้อพยพจากแองโกลาเข้าประเทศสักเท่าไหร่เหตุเพราะภัยแล้งที่แองโกลากำลังเผชิญที่นามิเบียเองก็ประสบพบเจอไม่ต่างกัน

ต่อสถานการณ์ที่มีทำให้รัฐบาลนามิเบียกลืนไม่เข้าคายไม่ออกว่าจะทำอย่างไรกับผู้อพยพดีหากรับคนแองโกลาเข้ามาย่อมหมายถึงการแบ่งปันทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้กับผู้อพยพตามหลักมนุษยธรรมเช่นพวกหยูกยารักษาโรคที่นามิเบียเองก็ไม่ได้มีมากพอสำหรับปันส่วนให้ใครได้อย่างอารี

สุดท้ายรัฐบาลนามิเบียจึงประกาศเสียงแข็งว่าจะส่งผู้อพยพจากแองโกลากลับประเทศ ทำนองว่านั่นเป็นปัญหาที่คุณต้องแก้ ไม่ใช่ปัดความรับผิดชอบมาให้ฉัน

เมื่อความเป็นเช่นนั้น ชาวแองโกลา (ที่ต่างก็ทราบดี) จึงต้องแอบเข้าประเทศผ่านช่องทางที่ไม่มีการตรวจสอบ โดยพร้อมรับความเสี่ยงว่าจะเจอะนักล่าแห่งแม่น้ำได้ทุกเมื่อ

เพราะหากเดินทางเข้าช่องทางปกติ พวกเขาจะมีชื่ออยู่ในระบบและกลายเป็นคนกลุ่มแรกที่ถูกส่งตัวกลับประเทศ และอาจต้องเผชิญชะตากรรมที่ไม่มีใครอยากพบเจอเป็นหนที่สองในช่วงชีวิต

ตามรายงานอย่างเป็นทางการยังไม่พบผู้เสียชีวิตจากการถูกจระเข้ทำร้ายในช่วงต้นปีที่ผ่านมาซึ่งแน่นอนว่าการเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายย่อมไม่มีรายงานที่ตรวจสอบได้เป็นธรรมดาอยู่แล้ว

แต่หากสืบสาวเรื่องราวย้อนหลังจะพบเหตุจระเข้ทำร้ายคนตามจุดต่างๆ ของแม่น้ำกูเนเนปรากฏอยู่ตลอด และในด้านตรงกันข้ามก็พบศพจระเข้ลอยอืดกลางแม่น้ำในจำนวนไม่น้อยไปกว่ากัน

ในระหว่างปี 2019-2020 สื่อของนามิเบียรายงานว่า มีจระเข้ถูกฆ่าจำนวน 20 ตัวขณะที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมของนามิเบียให้ข้อมูลว่าเป็นฝีมือของกลุ่มผู้อพยพเข้าประเทศ

หากมองในมุมการอนุรักษ์ก็ถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ควรจะเกิด แต่จะให้ทำอย่างไรได้ ในเมื่อทั้งแองโกลาและนามิเบียล้วนลำบากยากแค้นไม่ต่างกัน ผลสุดท้ายจึงกลายเป็นเรื่องทะเลาะเบาะแว้งของคนกับสัตว์เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งปัญหา

ปัจจุบันคนแองโกลาที่อพยพไปอยู่นามิเบียส่วนใหญ่จะรวมตัวตั้งแคมป์กันอยู่รอบๆชุมชนชนบทของนามิเบียสร้างที่พักอาศัยด้วยกิ่งไม้กระดาษลังและถุงพลาสติกมีจำนวนไม่น้อยที่อยู่อย่างคนมีฟ้าเป็นมุ้งมีพื้นดินเหมือนดั่งพื้นเรือนดำรงชีพด้วยการหาเช้ากินค่ำเก็บฟืนไปขายในตลาดนำเงินไปซื้ออาหาร

แม้คุณภาพชีวิตจะไม่ได้ดีเลิศ แต่ก็พอมีโอกาสฆ่าความหิวให้ผ่านพ้นวัน

ในการสัมภาษณ์ผู้อพยพบางส่วนยังคงคิดถึงบ้านเกิด และอยากกลับไปทำมาหากินในถิ่นเดิม แต่มีเงื่อนไขว่าต้องรอให้ฝนกลับมาตกเป็นปกติเสียก่อน

ขณะที่ผู้อพยพบางส่วนคิดว่าอยากกลับไปพาญาติพี่น้องมาอยู่นามิเบีย แต่เมื่อคำนวณความเสี่ยงแล้ว ก็ทำได้แค่คิด

อ้างอิง