2 Min

รู้จัก “นกยักษ์” ที่บินได้เป็นร้อยกิโลเมตร โดยไม่ต้องกระพือปีก!?

2 Min
3045 Views
24 Jan 2021

Select Paragraph To Read

  • ทำไมการบินของนกแร้งคอนดอร์แอนดีสถึงน่าสนใจเป็นพิเศษ?
  • แล้วพวกมันบินได้อย่างไร?

โลกปัจจุบันนี้มี ‘นก’ อยู่มากมาย ถ้าถามถึงนกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทุกคนก็คงจะรู้กันว่าคือ ‘นกกระจอกเทศ’

อย่างไรก็ดี ถ้าพูดถึงนก ความเป็นนกคือการที่มัน “บิน” ได้ และมีน้อยคนที่รู้ว่านกที่ใหญ่ที่สุดที่บินได้คือนกอะไร

คำตอบสั้นๆ มันคือ ‘นกแร้งคอนดอร์แอนดีส’ (Andean Condor) ซึ่งเป็นนกพื้นถิ่นแถบเทือกเขาแอนดีสในทวีปอเมริกาใต้

ถามว่าตัวมันใหญ่ขนาดไหน คำตอบคือความกว้างของปีกมันกว้างถึง 3.3 เมตร และน้ำหนักตัวของพวกมันประมาณ 12 กิโลกรัม ซึ่งไม่ใช่น้อยๆ และเราสามารถเรียกว่า “นกยักษ์” ได้เต็มปาก

ด้วยความที่มันตัวใหญ่ขนาดนี้ นักวิจัยก็สงสัยว่า ทำไมมันถึงบินได้นี่แหละ

ทำไมการบินของนกแร้งคอนดอร์แอนดีสถึงน่าสนใจเป็นพิเศษ?

เพราะพวกมันน่าจะช่วยไขปริศนาได้ว่า ทำไมสัตว์ตัวใหญ่ๆ แบบ “กิ้งก่ายักษ์” ในอดีตอย่างไดโนเสาร์บางชนิดถึงบินได้ และบางคนก็อาจคิดไปถึงว่า ถ้ามังกรมีจริงๆ พวกมันน่าจะบินได้อย่างไร

นกแร้งคอนดอร์แอนดีสขณะบิน | CNET

พอนักวิทยาศาสตร์ไปศึกษา สิ่งที่ค้นพบนั้นน่าสนใจมาก เพราะนกชนิดนี้เวลาบิน มันแทบไม่กระพือปีกเลย เรียกได้ว่ากระพือนิดหน่อยตอนเริ่มบิน กับตอนจะลงสู่พื้นดิน ทว่าขณะอยู่กลางอากาศ พวกมันจะไม่กระพือปีกเลย

โดยนักวิทยาศาสตร์เอาเซนเซอร์ไปติดที่ปีกพวกมันเพื่อสังเกตการณ์ และพบเลยว่า พวกมันสามารถบินระยะเป็นร้อยกิโลเมตร โดยมีการกระพือปีกแค่ครั้งเดียว หรือให้ตรงกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์พบว่าพวกมันใช้เพียง 1% ของเวลาในการบินทั้งหมดในการกระพือปีก

ถามว่าน่าตื่นเต้นไหม คำตอบคือน่าตื่นเต้นสิ!

เพราะจากข้อมูลที่วิจัยกันมา นกที่บินได้มักจะกระพือปีกเฉลี่ยประมาณ 20% ของเวลาที่บิน ดังนั้นตัวเลข 1% นี่ไม่ปกติแน่ๆ และพอมันยิ่งเป็นนกบินได้ที่น้ำหนักมากที่สุด ก็ยิ่งน่าตื่นเต้น เพราะมันเป็นการพิสูจน์ชัดๆ ว่า จะบินได้หรือไม่ บินไกลหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นกับน้ำหนัก

แล้วพวกมันบินได้อย่างไร?

อธิบายง่ายๆ ก็คือในถิ่นที่อยู่ของนกแร้งคอนดอร์แอนดีสทั้งอากาศร้อนและลมแรง เวลามันบิน มันเหมือนทำการ “ร่อน” คือกางปีกออก แล้วใช้ลมที่พัดมาช่วยให้มันลอยตัวกลางอากาศได้ พร้อมกันนั้นมันก็จะใช้ประโยชน์จากอากาศร้อนที่ลอยขึ้นสูงด้วย

การค้นพบนี้ดูจะเป็นการค้นพบใหม่พอควร และมันเพิ่งเป็นไปได้ เพราะในอดีต มนุษย์ไม่ได้มีเทคโนโลยีที่ติดตามนกได้ละเอียดถึงขั้นไปนับการกระพือปีกของมัน

และเราก็เพิ่งมีเทคโนโลยีการติดตามสมัยใหม่นี่แหละ ที่ทำให้เรารู้ว่าจริงๆ แล้วเวลานกบางชนิดบิน มันแทบไม่จำเป็นต้องกระพือปีกเลย

อ้างอิง: