รู้จัก ‘มิกาเอริ อมิดะ’ พระพุทธรูป ‘ปางเหลียวหลัง’ จากประเทศญี่ปุ่น กับเรื่องราวซึ้งๆ ที่บอกว่า ‘ตถาคตไม่เคยทิ้งพวกเราไปไหน’
แม้ดูภายนอกแล้วญี่ปุ่นอาจจะเป็นประเทศที่ไม่ได้ใส่ใจอะไรกับศาสนามากนัก ทว่าในอดีตนั้นญี่ปุ่นเองก็ถือเป็นหนึ่งในดินแดนของ ‘เหล่าศรัทธาชน‘ ไม่แพ้ดินแดนแห่งศาสนาอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ก็เลยทำให้ญี่ปุ่นมีแง่มุมทางศาสนาที่น่าสนใจอยู่เต็มไปหมด วันนี้เลยอยากพาทุกคนมารู้จักกับพระพุทธรูปปางหนึ่ง ที่ถือกำเนิดขึ้นในญี่ปุ่นเป็นที่แรกของโลก โดยเป็นพระพุทธรูปที่แตกต่างจากทั่วๆ ไป คือ ‘กำลังทำท่าเหลียวหลัง’ อยู่ เรื่องราวที่มาที่ไปของพระพุทธรูปองค์นี้จะเป็นอย่างไรนั้น วันนี้จะเล่าให้ฟัง
พระพุทธรูปองค์นี้มีชื่อว่า ‘มิกาเอริ อมิดะ’ (みかえり阿弥陀) ที่แปลได้ว่า ‘พระอมิตาภพุทธเจ้าผู้มองมาด้านหลัง’ เรื่องราวของมิกาเอริ อมิดะนั้นเกิดขึ้นในวัดสำคัญแห่งหนึ่งในเกียวโตอย่างวัด ‘เอกัง-โด เซนริน-จิ’ (永観堂禅林寺) หรือชื่อเก่าเรียกว่า ‘วัดเซนรินจิ’
วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยคาบเกี่ยวกับปลายยุคเฮอันถึงต้นคามากุระ โดยพระสงฆ์รูปหนึ่งชื่อว่า ‘ชินโช’ ผู้เป็นศิษย์สายตรงของท่านโคโบ ไดชิ ปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งนิกายชินงอน หรือมนตรยานแบบญี่ปุ่น ทำให้วัดนี้ถือเป็นอีกหนึ่งในวัดที่เผยแผ่หลักธรรมคำสอนของนิกายชินงอนมาอย่างยาวนาน กระทั่งสมัยเจ้าอาวาสรุ่นที่ 7 ของวัด ที่มีนามว่า ‘ท่านเอกัง’
ท่านก็ได้เปลี่ยนให้วัดจากสังกัดนิกายชินงอน กลายเป็นสังกัดนิกาย ‘โจโด-ชู’ หรือ ‘นิกายวิศุทธิภูมิ’ ที่มีความเชื่อในเรื่องสุขาวดีพุทธเกษตร และนับถือพระอมิตาภพุทธเจ้า (หรือพระอมิดะ ในภาษาญี่ปุ่น) เป็นหลัก โดยเชื่อว่าถ้าใครก็ตามที่สวดภาวนาชื่อของพระอมิตาภพุทธเจ้านี้ (นโม อมิตาภพุทธ) เป็นกิจวัตร เวลาเสียชีวิต พระอมิตาภพุทธเจ้าก็จะมารับดวงวิญญาณให้ไปเกิดในดินแดนสุขาวดีพุทธเกษตร
ทีนี้หลังจากที่ท่านเอกังเปลี่ยนนิกายให้วัดแล้ว ท่านก็เริ่มพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองในด้านต่างๆ พร้อมกับเปิดพื้นที่บางส่วนให้เป็นโรงพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้คน ก่อนจะอัญเชิญพระพุทธรูปพระอมิตาภพุทธเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์ขนาดเมตรกว่าจากวัดโทไดจิ (วัดในเมืองนาราที่มีกวางเยอะๆ นั่นแหละ) มาประดิษฐานไว้ที่แท่นบูชาภายในวัด
เพื่อให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็น ‘เสาหลัก’ ของคณะสงฆ์รวมถึงชุมชนรอบข้าง โดยในทุกๆ วันท่านเอกังก็จะนำพระลูกวัดสวดภาวนาพุทธนาม ด้วยการเดินวนรอบแท่นบูชาที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์นี้ (ฟีลแบบทำวัตรเช้าของพระบ้านเรา)
แต่แล้วในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1082 ขณะที่ท่านเอกังและพระรูปอื่นๆ กำลังเดินภาวนาอยู่ตามปกตินั้น อากาศภายในวิหารก็เย็นฉับพลันขึ้นมาทันที ก่อนที่พระพุทธรูปพระอมิตาภพุทธเจ้าจะเริ่มเคลื่อนไหวได้ และเดินลงจากแท่นบูชา มาเดินนำท่านเอกังและพระลูกวัดสวดภาวนา ซึ่งแน่นอนว่า การที่พระพุทธรูปเดินได้แบบนี้ ก็ทำให้ท่านเอกังและพระลูกวัดตกตะลึงทำอะไรไม่ถูก จนหยุดภาวนาไป
ทำให้พระพุทธรูปหันศีรษะกลับไปด้านหลังเล็กน้อย ก่อนจะกล่าวกับท่านเอกังว่า “เอกัง ตามเรามา” และความอัศจรรย์แบบนี้เองทำให้ท่านเอกังกล่าวขอกับพระพุทธองค์ว่า ให้พระพุทธรูปค้างอยู่ในท่านี้ได้ไหม เพื่อเป็นประจักษ์พยานให้คนรุ่นหลังเห็นว่า พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่กับผู้ที่ภาวนาถึงพระองค์จริงๆ
ซึ่งก็ดูเหมือนว่าพระอมิตาภพุทธเจ้าจะตอบรับคำขอนี้ของท่านเอกัง และทำให้ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา พระพุทธรูปองค์ดังกล่าวก็อยู่ในท่ามองมาด้านหลังมาโดยตลอด และกลายเป็นพระพุทธรูปไอคอนองค์หนึ่งของศาสนาพุทธมหายานแบบญี่ปุ่น
ทั้งนี้นอกจากท่ามองมาด้านหลังที่ไม่เหมือนใครแล้ว สาเหตุที่พระพุทธรูปองค์นี้กลายเป็น ‘ไอคอน’ และเป็นที่รู้จักในวงการพุทธศาสนาทั่วโลก ก็คือลักษณะของพระพุทธรูปที่บ่งบอกสาระสำคัญของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน นิกายวิศุทธิภูมิได้อย่างตรงไปตรงมาที่สุด กล่าวคือมหายานเชื่อว่าพระพุทธเจ้าทรงห่วงใยสรรพสัตว์เสมอ ทำให้พระองค์คอยสอดส่องและนำทางให้กับพวกเราทุกคนให้ดำเนินไปในหนทางแห่งการหลุดพ้น
อ้างอิง
- Eikando-Shinrinji.Mikaeri Amida (Amitabha looking back).https://www.eikando.or.jp/mobile_en./mb_mikaeriamida_en.html