หลายชีวิต…กว่าจะเป็น ‘สหรัฐอเมริกา’ : ใครเป็นใคร ในเหตุการณ์ ‘วันประกาศอิสรภาพของอเมริกา’ ถึง ‘สงครามปฏิวัติอเมริกา’
วันที่ 4 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันสำคัญของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็น ‘วันชาติ’ ของสหรัฐฯ สืบเนื่องจากการที่ประชุมสภาคองเกรสแห่งภาคพื้นทวีป (Continental Congress) ของรัฐอาณานิคมอเมริกามีมติรับรอง ‘คำประกาศอิสรภาพ’ (The Declaration of Independence) เพื่อแยกตัวจากจักรวรรดิอังกฤษอย่างเป็นทางการในปี 1776 (แม้ว่าวันลงคะแนนเสียงจะเกิดขึ้นในวันที่ 2 กรกฎาคม)
แต่กว่าจะมาเป็นวันสำคัญดังกล่าว มีหลายเหตุการณ์และผู้คนเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย อีกทั้งกว่าอังกฤษจะยอมรับเอกราชและอธิปไตยของสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ หลังจากการทำสงคราม ก็เป็นเวลาหลายปีหลังจากการประกาศอิสรภาพของอเมริกา
เราจึงอยากชวนย้อนจุดเริ่มต้นของชาติมหาอำนาจตั้งแต่ก่อนวันประกาศอิสรภาพจนถึงสงครามปฏิวัติอเมริกา ผ่าน ‘บุคคล’ ส่วนหนึ่งที่แวดล้อมการก่อกำเนิดประเทศที่แม้จะไร้ซึ่งประวัติศาสตร์อันยาวนานหากเทียบกับชาติอื่นๆ แต่กลับมีบทบาทกับโลกมากที่สุดตั้งแต่อดีตจนถึง ณ เวลานี้
พระเจ้าจอร์จที่ 3
(King George III)
กษัตริย์อังกฤษผู้กลายเป็นปฏิปักษ์
กับชาวอาณานิคมอเมริกา
[พระเจ้าจอร์จที่ 3 (King George III)]
จากกษัตริย์อังกฤษผู้เป็นที่รักของชาวอาณานิคมอเมริกา ในช่วงแรกๆ ของการขึ้นครองราชย์ในช่วงทศวรรษ 1760 กลับกลายเป็นกษัตริย์ที่ถูกจดจารลงไปในคำประกาศอิสรภาพถึงการกระทำอันเลวร้ายต่างๆ ของพระองค์ถึงจำนวน 27 ข้อ พร้อมกับระบุว่า“…ทรราชนั้นไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้ปกครองของประชาชนเสรี”
ถึงแม้พระองค์จะทรงลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายต่างๆ ตามหน้าที่ของกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ที่กลายเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างจักรวรรดิและอาณานิคม เนื่องด้วยความเสียหายภายหลัง ‘สงคราม 7 ปี’ เช่น พระราชบัญญัติแสตมป์ (1765), พระราชบัญญัติทาวน์เซนด์ (1767), พระราชบัญญัติชา (1773) เป็นต้น นั่นก็ยังไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่าง ‘กษัตริย์’ กับ ‘ราษฎร’
แต่เหตุการณ์ที่กลายเป็น ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ ทำให้ชาวอาณานิคมไม่พอใจในตัวพระเจ้าจอร์จที่ 3 อย่างรุนแรง คือการปฏิเสธคำร้อง ‘Olive Branch’ ที่สภาฯ แห่งภาคพื้นทวีปส่งถึงพระเจ้าจอร์จที่ 3 ที่หวังจะปรองดองและหลีกเลี่ยงการแตกหักกับอังกฤษหลังจากเหตุการณ์ปะทะระหว่างกองกำลังท้องถิ่นของชาวอาณานิคมกับทหารอังกฤษในเหตุการณ์ ‘ยุทธการเลกซิงตันและคอนคอร์ด’ (Battles of Lexington and Concord) เมื่อเดือนเมษายน 1775
โดยมีพระราชโองการปราบปรามการกบฏและการก่อจลาจล (By the King, A Proclamation, For Suppressing Rebellion and Sedition) ที่นอกจากจะปฏิเสธการปรองดองแล้ว ยังประกาศว่าการกระทำของฝ่ายอาณานิคมเป็น ‘กบฏ’ และมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ของอังกฤษ ‘ใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถ’ ในการปราบปรามกบฏ
ลอร์ด นอร์ธ
(Lord North)
นายกรัฐมนตรีอังกฤษ
ผู้รับมือกับสถานการณ์ความขัดแย้ง
กับอาณานิคมถึงสงครามปฏิวัติอเมริกา
[เฟรเดอริก นอร์ธ (Frederick North) หรือ ลอร์ด นอร์ธ (Lord North)]
นายกรัฐมนตรีหนุ่มโปรไฟล์ดี ผู้เข้ามารับตำแหน่งสำคัญในช่วงเวลาแห่งความท้าทายของอังกฤษที่มีปัญหาทั้งภายในและภายนอกประเทศ แต่เขาก็สามารถจัดการเรื่องที่สำคัญได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการปฏิรูปการเงินเพื่อจัดการกับหนี้สาธารณะที่เกิดจากสงคราม 7 ปี และรักษาสมดุลระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และรัฐสภาอังกฤษ ถึงขั้นทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในสามัญชนที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เทอร์จากพระเจ้าจอร์จที่ 3 ภายในไม่กี่ปีของการดำรงตำแหน่ง
และแน่นอนว่าเรื่องที่เขาต้องจัดการ ยังรวมไปถึงความสัมพันธ์กับอาณานิคมอเมริกาที่ตึงเครียดภายหลังการผ่านพระราชบัญญัติแสตมป์ (1765) และการผ่านพระราชบัญญัติทาวน์เซนด์ (1767) ที่กำหนดภาษีนำเข้าเครื่องเคลือบดินเผา แก้ว ตะกั่ว สี กระดาษ และชาที่นำเข้ามาในอาณานิคม
แม้เขาจะหาทางลดแรงเสียดทานด้วยการขอให้สภาฯ ยกเลิกพระราชบัญญัติทาวน์เซนด์ (พระราชบัญญัติแสตมป์ถูกยกเลิกไปก่อนหน้าที่เขาดำรงนายกฯ แล้ว) แต่สิ่งที่ยังคงไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจแห่งรัฐสภาเหนืออาณานิคม คือการเก็บภาษีชา
กระทั่งส่งผลกระทบกับบริษัทของจักรวรรดิ ‘East India Company’ ที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจอังกฤษอย่างหนัก เนื่องจากชาวอาณานิคมเลือกที่จะบริโภคชาที่ลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย เพราะราคาที่ถูกกว่า ทำให้ต้องกอบกู้บริษัทดังกล่าวด้วยการออกกฎหมาย ‘พระราชบัญญัติชา’ (1773) ซึ่งให้สิทธิบริษัท East India Company สามารถแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายชาในอาณานิคมแต่เพียงผู้เดียว และสามารถนำเข้าชาไปยังอาณานิคมโดยตรง ไม่ต้องผ่านอังกฤษ
แม้จะทำให้ราคาชาถูกลง แต่ชาวอาณานิคมไม่ได้คิดเช่นนั้น ชาวอาณานิคมกลับคิดว่านี่เป็นการสร้างการผูกขาดทางการค้าและเป็นกลอุบายที่ทำให้พวกตนต้องยอมจ่ายภาษีให้อังกฤษ ซึ่งผลที่ตามมากลายเป็นการต่อต้านและนำไปสู่เหตุการณ์ ‘งานเลี้ยงน้ำชาที่บอสตัน’ (The Boston Tea Party) ที่รัฐอาณานิคมแมสซาชูเซตส์ ในเดือนธันวาคม 1773
นอร์ธจึงตอบโต้การกระทำในเหตุการณ์ ‘งานเลี้ยงน้ำชาที่บอสตัน’ ด้วยการขอให้สภาฯ ผ่านกฎหมาย ‘Coercive Acts’ หรือที่ชาวอาณานิคมเรียกกฎหมายนี้ว่า ‘Intolerable Acts’ ในปี 1774 เพื่อดำเนินมาตรการต่างๆ กับอาณานิคมแมสซาชูเซตส์ จนกว่าจะมีการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจาก ‘งานเลี้ยงน้ำชาที่บอสตัน’
แทนที่ชาวอาณานิคมจะยอมจำนน กลับยิ่งทำให้ชาวอาณานิคมไม่พอใจอังกฤษอย่างหนัก นอร์ธจึงเปลี่ยนมาดำเนินนโยบายปรองดองกับอาณานิคมด้วยการเสนอข้อเสนอ ‘Conciliatory Resolution’ เมื่อปี 1775 ที่จะให้แต่ละรัฐจัดเก็บภาษีในอาณานิคมด้วยตนเอง แต่ยังอยู่ในความควบคุมของอังกฤษ
ทว่ากว่าข้อเสนอดังกล่าวจะถูกพิจารณาโดยสภาฯ แห่งภาคพื้นทวีปของอาณานิคม ก็เรียกได้ว่าสายไปเสียแล้ว เพราะ ‘ยุทธการเลกซิงตันและคอนคอร์ด’ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘สงครามปฏิวัติอเมริกา’ ก็เกิดขึ้นไปแล้ว และคณะกรรมการของสภาฯ ที่พิจารณาข้อเสนอก็ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวของนอร์ธ
ในที่สุดในช่วงท้ายสงครามปฏิวัติอเมริกา จากความปราชัยให้กับฝั่งอเมริกา เขาก็ถูกสภาฯ ไม่ไว้วางใจ จนเขาต้องลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ในปี 1782
โธมัส เพน
(Thomas Paine)
เจ้าของงานเขียน ‘Common Sense’
ที่จุดประกายการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ
[โธมัส เพน (Thomas Paine)]
“หากไร้ปลายปากกาของผู้เขียน Common Sense คมดาบของ [จอร์จ] วอชิงตันก็ถูกชูอย่างไร้ความหมาย”
นี่คือวิวาทะของหนึ่งในกลุ่มบิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐฯ ‘จอห์น อดัมส์’ (John Adams) ที่สะท้อนอิทธิพลของงานเขียนที่จุดประกายความคิดในการแยกตัวเป็นเอกราชจากอังกฤษให้เป็นที่แพร่หลายในหมู่ชาวอาณานิคม
งานเขียนดังกล่าวถูกเขียนขึ้นโดยชายชาวอังกฤษผู้มีชีวิตอันผกผัน อยากเป็นทหารเรือแต่โดนพ่อสั่งห้าม เคยเป็นลูกเรือในเรือโจรสลัด เริ่มธุรกิจช่างฝีมือแต่ล้มเหลว และอื่นๆ อีกมากมาย รวมไปถึงโดนไล่ออกจากงานราชการถึง 2 ครั้ง ซึ่งการโดนไล่ออกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นจากการที่เขาเขียนแผ่นพับเรียกร้องไปยังสภาฯ ของอังกฤษเพื่อเรียกร้องค่าจ้างที่สูงขึ้น แต่ไม่ประสบความสำเร็จในปี 1772
เมื่อชีวิตในอังกฤษไร้ซึ่งความหวัง เขาจึงตัดสินใจอพยพไปอเมริกาในปี 1774 ซึ่งว่ากันว่าเป็นการให้ความช่วยเหลือของ ‘เบนจามิน แฟรงคลิน’ (Benjamin Franklin) ที่ขณะนั้นเป็นผู้แทนของรัฐอาณานิคมเพนซิลเวเนีย ซึ่งคาดว่าเคยพบเจอกับเพนที่ลอนดอน ได้เขียนจดหมายรับรองเขาให้กับคนรู้จักในเมืองฟิลาเดลเฟีย
ทำให้เพนได้เข้ามาทำงานเป็นนักข่าวและบรรณาธิการของนิตยสารฟิลาเดลเฟีย ในช่วงสถานการณ์ที่ตึงเครียดระหว่างอาณานิคมกับจักรวรรดิกำลังสุกงอมได้ที่ ทำให้ปี 1775 เขาเริ่มเขียนแผ่นพับในการปกป้องเอกราชของอเมริกา แต่แผ่นพับที่กลายเป็นจุดพลิกสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์อย่าง ‘Common Sense’ ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 1776
เนื่องด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายและเข้าถึงผู้คนในเวลานั้น ทำให้ภายในปีเดียวแผ่นพับถูกจำหน่ายออกไปนับกว่าแสนฉบับ อีกทั้งมันยังปลุกให้ชาวอาณานิคมยอมรับใน ‘สามัญสำนึก’ ของตัวเองที่มีต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตามคำอธิบายของฮาร์วีย์ เจ. เคย์ (Harvey J. Kaye) ผู้เขียน ‘Thomas Paine and the Promise of America’
โธมัส เจฟเฟอร์สัน
(Thomas Jefferson)
ผู้ร่างคำประกาศอิสรภาพ
ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐฯ
[โธมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson)]
เมื่อสถานการณ์สุกงอม วันที่ 7 มิถุนายน 1776 ‘ริชาร์ด เฮนรี ลี’ (Richard Henry Lee) ผู้แทนของรัฐอาณานิคมเวอร์จิเนีย ได้ลุกขึ้นยืนและเสนอต่อสภาฯ ภาคพื้นทวีปว่า “อาณานิคมอันเป็นหนึ่งเดียวเหล่านี้ควรเป็นรัฐเสรีและเอกราชโดยชอบธรรม และควรพ้นจากพันธะทั้งปวงจากการจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษและความสัมพันธ์ทางการเมืองใดๆ ระหว่างอาณานิคมกับรัฐบริเตนใหญ่…”
แม้ผู้แทนรัฐอาณานิคมส่วนใหญ่จะเห็นพ้องต้องกันต่อข้อเสนอ แต่ก็มีผู้แทนบางส่วนไม่เห็นด้วย จึงมีการชะลอการลงคะแนนเสียง เพื่อให้ผู้แทนของแต่ละรัฐไปตกลงกันและไปหารือกับสภาฯ ในรัฐตนเอง เพื่อให้การลงมติมีความเป็นเอกฉันท์
ขณะเดียวกันสภาฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดทำเอกสารระบุเหตุผลที่ชาวอาณานิคมต้องการตัดความสัมพันธ์กับอังกฤษจำนวน 5 คน ประกอบด้วย จอห์น อดัมส์, เบนจามิน แฟรงคลิน, โรเบิร์ต ลิฟวิงสตัน, โรเจอร์ เชอร์แมน และโธมัส เจฟเฟอร์สัน
ผู้ที่ได้รับหน้าที่หลักในการร่างเอกสารดังกล่าวคือเจฟเฟอร์สัน ผู้แทนจากรัฐอาณานิคมเวอร์จิเนีย แม้ว่าเขาจะอาวุโสน้อยกว่าคณะกรรมการส่วนใหญ่ แต่เขาก็ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการผู้อาวุโสสูงกว่าถึงฝีมือและสำนวนการเขียนของเจฟเฟอร์สัน เพราะเขาเขียนงานหลายชิ้นที่พูดถึงแนวคิดสิทธิตามธรรมชาติ (Natural Rights) และการเป็นสาธารณรัฐ
รวมถึงเหตุผลในทางการเมือง เพื่อแสดงให้เห็นถึงการเห็นด้วยกับการแยกตัวของรัฐทางใต้ เนื่องจากเจฟเฟอร์สันเป็นตัวแทนจากรัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งเป็นรัฐทางใต้ เพราะรัฐทางใต้บางแห่งมองว่าตนเองจะเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เนื่องด้วยรัฐทางใต้พึ่งพิงการเกษตร ต่างจากรัฐทางเหนือที่มีอุตสาหกรรมหลากหลายกว่า
ในที่สุดร่างดังกล่าวได้รับการบรรจุในสภาฯ ภาคพื้นทวีปในวันที่ 28 มิถุนายน และมีการอภิปรายถกเถียงในวันที่ 1 กรกฎาคม แม้ในตอนแรกจะมี 4 รัฐอาณานิคมไม่ได้ลงมติเห็นชอบ ได้แก่ เซาท์แคโรไลนา, เดลาแวร์, เพนซิลเวเนีย และนิวยอร์ก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรัฐทางตอนกลางที่ไม่เห็นด้วยกับการแยกตัว
แต่ท้ายที่สุด ในวันที่ 2 กรกฎาคม มี 12 จาก 13 รัฐลงมติเห็นชอบกับการประกาศเอกราช (โดยที่นิวยอร์กให้ความเห็นชอบในภายหลังจากที่สภาฯ ของรัฐมีมติ ซึ่งทำให้คำประกาศได้รับการลงนามครบทุกรัฐในวันที่ 2 สิงหาคม) และนำไปสู่การร่วมกันปรับแก้คำประกาศและรับรองจริงๆ ในวันที่ 4 กรกฎาคม
จอร์จ วอชิงตัน
(George Washington)
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
ของฝ่ายอาณานิคมในสงครามปฏิวัติอเมริกา
ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ
[จอร์จ วอชิงตัน (George Washington)]
แน่นอนว่าอเมริกาไม่ได้มีเอกราชโดยสมบูรณ์ในชั่วข้ามคืน แต่ต้องใช้เวลาราวๆ 6 ปีภายหลังเหตุการณ์การประกาศอิสรภาพของอาณานิคม ซึ่งบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในสมรภูมิ ‘สงครามปฏิวัติอเมริกา’ คือ ‘จอร์จ วอชิงตัน’ บุคคลผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากสภาฯ แต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพฝั่งอเมริกาภายหลังเหตุการณ์ ‘ยุทธการเลกซิงตันและคอนคอร์ด’ ในปี 1775
ทว่าระยะแรกในการนำทัพของวอชิงตันกลับพ่ายให้กับกองทัพอังกฤษที่นำโดย ‘วิลเลียม ฮาว’ (William Howe) และ ‘ชาร์ลส์ คอร์นวอลลิส’ (Charles Cornwallis) แต่ความเป็นผู้นำของเขาและการสนับสนุนอย่างลับๆ จากฝรั่งเศสที่แพ้สงคราม 7 ปีให้กับอังกฤษ ยังทำให้กองทัพของอเมริกายังเข้มแข็งและเดินหน้าสู้รบต่อไป
แต่จุดเปลี่ยนสงครามเกิดขึ้นเมื่ออเมริกาเอาชนะอังกฤษในยุทธการซาราโทกา (Battles of Saratoga) ในปี 1777 ทำให้ฝรั่งเศสเห็นโอกาสในชัยชนะเหนืออังกฤษ ฝรั่งเศสจึงเป็นพันธมิตรกับอเมริกาอย่างเป็นทางการในปี 1778 รวมถึงกระแสการต่อต้านของชาวอาณานิคมที่มากขึ้นหลังถูกสั่งให้ปฏิญาณตนจงรักภักดีต่อราชวงศ์อังกฤษ
และในที่สุดในปี 1781 สงครามครั้งนี้ก็เป็นอันสิ้นสุดเมื่อคอร์นวอลลิสยอมจำนนต่อกองทัพของอเมริกันที่นำโดยวอชิงตันกับฝรั่งเศสในยุทธการ ‘ปิดล้อมยอร์กทาวน์’ (Siege of Yorktown) ซึ่งนำไปสู่การลงมติยุติสงครามของอังกฤษในปี 1782 และรับรองเอกราชของอเมริกาในสนธิสัญญาปารีสในปี 1783
เมื่อสงครามสิ้นสุด วอชิงตันก็ขอลงจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพื่อเกษียณตัวเองไปอยู่ไร่ของตนในเมืองเมานต์เวอร์นอน แต่เขาก็กลับมาสู่วงการการเมือง เพื่อทำหน้าที่เปลี่ยนผ่านประเทศ โดยเป็นผู้ริเริ่มการประชุมร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ จนกระทั่งรับหน้าที่เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ ในปี 1789 ด้วยคะแนนเสียงที่เป็นเอกฉันท์จากคณะผู้เลือกตั้ง
อ้างอิง:
- The Declaration of Independence, 1776. https://tinyurl.com/2st7apac
- Declaration of Independence: A Transcription. https://tinyurl.com/yckdayvb
- America’s Last King Wasn’t the Crazy Tyrant You’ve Been Led to Believe. https://tinyurl.com/27ywcua5
- He was the last king of America. Here’s how he lost the colonies. https://tinyurl.com/32em5az6
- 7 Events That Enraged Colonists and Led to the American Revolution. https://tinyurl.com/h3z6rvn5
- Congress adopts Olive Branch Petition. https://tinyurl.com/32v98ccb
- “By the King, A Proclamation, For Suppressing Rebellion and Sedition” (1775). https://tinyurl.com/w4n943wx
- Townshend Acts. https://tinyurl.com/bdzm3mr7
- Tea Act. https://tinyurl.com/29mf8muy
- Lord Frederick North. https://tinyurl.com/3tkyhuyn
- The Prime Ministry of Lord North. https://tinyurl.com/489z4bs2
- Lord North. https://tinyurl.com/3we8vhwz
- The Lord North Conciliatory Proposal: A Case of Too Little Too Late. https://tinyurl.com/52hwy8bp
- How Thomas Paine’s ‘Common Sense’ Helped Inspire the American Revolution. https://tinyurl.com/yynkr7rk
- Thomas Paine. https://tinyurl.com/48raxyt5
- Thomas Paine. https://tinyurl.com/6kzdzj8s
- Thomas Jefferson and the Declaration of Independence. https://tinyurl.com/b5kwscwk
- Jefferson and the Declaration of Independence. https://tinyurl.com/2v3z4jnc
- Thomas Jefferson. https://tinyurl.com/nhejhymy
- July 1776 Was a Shotgun Wedding. https://tinyurl.com/4874327v
- Declaration of Independence. https://tinyurl.com/3vt7kpjw
- Why Was the Declaration of Independence Written? https://tinyurl.com/yp6j9udt
- George Washington. https://tinyurl.com/5873xdjr
- George Washington. https://tinyurl.com/4chdj3h4
- Charles Cornwallis. https://tinyurl.com/3de8bwmd
- 5 Ways the French Helped Win the American Revolution. https://tinyurl.com/cbw9srtf
- Battle of Yorktown. https://tinyurl.com/3cwh5yzh