3 Min

ทำไมอเมริกาถึงเป็นชาติที่มี ‘เสือโคร่ง’ มากที่สุดในโลก

3 Min
646 Views
15 Aug 2022

ถ้าพูดถึงเสือโคร่งในโลกนี้ หลายๆ คนก็คงจะรู้ว่าปริมาณมันน้อยลงมากแล้วในปัจจุบัน น่าจะมีรวมกันตามธรรมชาติไม่ถึง 5,000 ตัว และประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ของพวกมันอยู่ที่อินเดีย

แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ก็คือ จริงๆ เสือโคร่งในโลกมีมากกว่านั้น แต่มันอยู่นอกป่าหรืออยู่ในพื้นที่ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นสวนสัตว์ ศูนย์อนุรักษ์ ฟาร์มเสือ หรือกระทั่งในบ้านคน

และในโลกนี้ ประเทศที่คาดว่าน่าจะมีเสือโคร่งอยู่มากที่สุดในโลกคือสหรัฐอเมริกา โดยคาดว่ามีจำนวนถึง 10,000 ตัว และไม่มีตัวไหนอยู่ตามธรรมชาติเลย เพราะประเทศนี้ไม่เคยมีเสือโคร่งอยู่ตามธรรมชาติมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว

ทำไมอเมริกาถึงมีเสือโคร่งมากมายขนาดนี้ เราอาจต้องย้อนไปอธิบายขนาดของประเทศยันเรื่องกฎหมาย

ในทางประชากร สหรัฐฯ เป็นประเทศใหญ่ มีประชากรเป็นอันดับ 3 ของโลก การมีเสือเยอะก็ไม่แปลก เพราะถ้าเทียบกับจำนวนเสือประมาณ 3,000 ตัวตามธรรมชาติของอินเดียก็เหมาะสมกับขนาดประเทศและพื้นเพที่เป็นที่อยู่ของเสือโคร่ง และเสือโคร่งประมาณ 5,000 ตัวในฟาร์มเสือโคร่งของจีน ก็เหมาะกับเหตุผลที่จีนจะเพาะเสือไว้ทำยาจีน

แต่ในทางกลับกัน เสือโคร่งราว 10,000 ตัวในสหรัฐฯ มีแค่ราวๆ ไม่เกิน 400 ตัวเท่านั้นที่อยู่ในสวนสัตว์ที่มีใบอนุญาต ดังนั้นที่เหลืออีก 9,000 กว่าตัว คืออยู่ในฟาร์มเอกชน และกับคนทั่วไปที่เลี้ยงไว้เล่นๆ ทั้งหมด

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? อันนี้ต้องเข้าใจระบบกฎหมายอเมริกาก่อนว่า รัฐบาลกลางนั้นอาจจะมีอำนาจกฎหมายที่ครอบคลุมทั้งประเทศก็จริง แต่การออกกฎหมายควบคุมเรื่องพวกนี้ทำได้ยากมากๆ เพราะประเทศนี้ถือว่าแต่ละรัฐมีอำนาจในการกำหนดชะตาชีวิตตัวเองมากๆ (กฎหมายควบคุมอาวุธปืนที่ออกไม่ได้ซะทีเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน) และแม้ว่าอเมริกาจะถือว่าเสือโคร่งเป็นสัตว์คุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ลงนามและได้ให้สัตยาบันเอาไว้ แถมยังห้ามนำเข้า แต่ในระดับภายในประเทศก็ยังไม่มีกฎหมายของรัฐบาลกลางใดๆ ที่จะครอบคลุมการเลี้ยงเสือหรือเพาะพันธุ์เสือทั่วประเทศ ดังนั้นมันเลยขึ้นกับกฎหมายของแต่ละรัฐเต็มๆ

ในอเมริกามี 50 รัฐ และมีเพียง 30 รัฐที่มีกฎหมายห้ามเลี้ยงเสือ (และพวกสัตว์ป่าอันตราย’) มี 14 รัฐที่จะเลี้ยงได้ต้องมีใบอนุญาต (ซึ่งก็ว่ากันว่าใบอนุญาตนี้ของ่ายสุดๆ แค่กรอกแบบฟอร์มและจ่ายเงินประมาณ 30 ดอลลาร์ หรือประมาณ 1,000 บาท ก็จบแล้ว) และมีอีก 6 รัฐที่จะเลี้ยงเสือก็เลี้ยงได้เลย ไม่มีกฎหมายใดๆ ควบคุมทั้งนั้น (ซึ่งรัฐทั้ง 6 คือ นอร์ธแคโรไลนา เซาธ์แคโรไลนา วิสคอนซิน เนวาดา แอละบามา และเวสต์เวอร์จิเนีย)

ในทางปฏิบัติ ถ้ามีบางรัฐอนุญาตให้เลี้ยงเสือได้ และบางรัฐไม่มีการกำกับดูแลใดๆ คนที่อยากเลี้ยงเสือในรัฐที่ห้ามเลี้ยงก็อาจจะแอบไปเอาเสือมาจากรัฐอื่นที่เลี้ยงได้โดยเสรีก็ได้ และเคสแบบนี้ก็มีจริงๆ เพราะอย่างรัฐนิวยอร์คที่ห้ามเลี้ยงเสือ แต่ก็เคยมีคนแอบเลี้ยง และเคสแบบนี้ก็มีทั่วไปในอเมริกา

ทำไมมันยุ่งเหยิงแบบนี้? แน่นอน พวกองค์กรสัตว์ป่าก็ไม่ปลื้ม และหน่วยงานด้านสัตว์ป่าของรัฐก็ไม่ปลื้ม แต่ประเด็นคือ ทั้งสหรัฐอเมริกา มีผู้ตรวจการสัตว์ป่าซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการดูแลการลักลอบเลี้ยงสัตว์ป่าทั้งประเทศ เพียง 120 คนเท่านั้น หรือพูดง่ายๆ มีบุคลากรน้อยกว่างานมากๆ ทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง ซึ่งก็ต้องไม่ลืมว่า คนเหล่านี้ไม่ได้มีหน้าที่ตรวจแค่เสือ สัตว์อย่างอื่นก็ต้องตรวจ ดังนั้นการดูแลอย่างละเอียดมันจึงเป็นไปไม่ได้

ถามว่าทำไมภาครัฐไม่แฮปปี้กับเรื่องนี้ เบื้องต้นเลยก็คือเหตุผลตามสามัญสำนึกว่ามันอันตรายที่จะให้สัตว์ป่าแบบนี้อยู่ในที่คุมขังของใคร เพราะในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 1992 ก็มีเคสเสือหลุดมาทำร้ายคนเกิน 100 เคส และสำหรับตัวเสือเอง นักอนุรักษ์ก็จะมองว่ามันผิดธรรมชาติอยู่แล้วที่จะอยู่กับมนุษย์ ซึ่งทั่วๆ ไปคนที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวก็เสี่ยงจะเลี้ยงไม่ไหวด้วย เพราะแค่ค่าอาหารเสือที่จะทำให้เสือได้โภชนาการครบ ก็น่าจะล่อไปราวๆ 300,000 บาทต่อตัวต่อปี หรือพูดง่ายๆ จะเลี้ยงดีต้องมีเงินแบบเยอะๆ เลย และคนจำนวนไม่น้อยก็ไม่คิดว่าการเลี้ยงจริงๆ ต้องเสียเงินขนาดนี้ ผลคือเสือก็จะขาดสารอาหารบ้าง หรือขั้นเลวร้ายก็คือ คนก็แอบเอาไปปล่อยทิ้งเพราะเลี้ยงไม่ไหว

เรื่องนี้จริงๆ พวกองค์กรด้านสัตว์ป่าก็พยายามต่อสู้ให้รัฐบาลกลางออกกฎหมายห้ามเลี้ยงเสือให้ครอบคลุมทั่วประเทศมานานแล้ว โดยกฎหมายที่ชื่อ Big Cat Public Safety Act ก็เพิ่งผ่านสภาล่างไปแบบชนะล้นหลามในปลายเดือนกรกฎาคม 2022 และก็ต้องไปลุ้นต่อว่าทางวุฒิสภาและประธานาธิบดีจะอนุมัติกฎหมายนี้หรือไม่

ถ้ากฎหมายผ่านได้ในที่สุด เราก็อาจมีมุกตลกๆ ไปล้ออเมริกาได้ว่า ในที่สุดประเทศนี้การมีเสือนั้นก็จะยากกว่าการมีปืนซะที

อ้างอิง