ที่จริง ‘เกาหลีใต้’ ก็อยากแบนโฆษณาเหล้า แต่ไม่สำเร็จ เพราะ ‘วัฒนธรรมการดื่ม’ แข็งแกร่ง!
ถึงแม้ว่าโฆษณาเหล้าเบียร์ในเกาหลีใต้จะจ้างคนดังๆ เป็นพรีเซนเตอร์จนเป็นเรื่องปกติ (ไม่ใช่แค่กรณี ลิซ่า BLACKPINK ที่กำลังเป็นประเด็นในไทย) จนคนที่คุ้นเคยกับวงการบันเทิงเกาหลีใต้อาจรู้สึกว่าการส่งเสริมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในฐานะ ‘สินค้าทางวัฒนธรรม’ คือสิ่งที่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ
ที่จริงแล้วก็ไม่ใช่อย่างนั้นเสียทีเดียว
ก่อนโควิด-19 จะแพร่ระบาด กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการเกาหลีใต้ รวมถึงองค์กรเอกชนที่รณรงค์ต่อต้านการดื่มแอลกอฮอล์ พยายามเสนอให้มีการปรับแก้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ห้ามคนดังเป็นพรีเซนเตอร์ เพราะผลสำรวจเชิงสถิติยืนยันได้ว่าการที่คนดังซึ่งเป็นที่นิยมมาโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลกระตุ้นยอดขายในเกาหลีใต้ได้จริง และการบริโภคแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นมีผลต่อสุขภาพและสวัสดิภาพโดยรวมของประชาชนอีกต่อหนึ่ง
บทความในเซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ (SCMP) ซึ่งเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2019 ระบุว่า ยอดขายโซจู (Soju) เหล้ากลั่นที่เป็นหนึ่งในเครื่องดื่มยอดนิยมของคนเกาหลีใต้ โดยเฉพาะแบรนด์ชัมชูรัม (Chum Churum) ที่ผลิตโดยเครือบริษัทล็อตเต (Lotte) มีกลุ่มลูกค้าผู้หญิงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2007 ซึ่งตอนนั้น ‘อี ฮโยรี’ (Lee Hyori) นักร้องและนักแสดงหญิงชื่อดังเป็นพรีเซนเตอร์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นี้ครั้งแรก
การส่งเสริมยอดขายด้วยวิธีนี้น่าจะได้ผลดี เพราะหลังจากนั้นชัมชูรัมก็ยังทำสัญญากับไอยู (IU) และเจนนี่ BLACKPINK นักร้องหญิงที่โด่งดังระดับโลกด้วยกันทั้งคู่ ให้เป็นพรีเซนเตอร์ต่อจากอี ฮโยรี ในปี 2014 และ 2021 ตามลำดับ
สิ่งที่หน่วยงานภาครัฐของเกาหลีใต้เป็นกังวล เกี่ยวพันกับกรณีของไอยู ที่เพิ่งจะมีอายุ 21 ปีตอนที่รับเป็นพรีเซนเตอร์ให้แบรนด์โซจูเมื่อปี 2014 โดยเกรงว่าจะมีผลให้เยาวชนหันมาดื่มแอลกอฮอล์กันเร็วยิ่งกว่าเดิม ทำให้มีการหารือให้ปรับแก้กฎหมายกำกับดูแลเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อห้ามการว่าจ้างคนดังที่มีอายุไม่ถึง 24 ปีเป็นพรีเซนเตอร์เหล้าเบียร์ไวน์และของมึนเมาต่างๆ ซึ่งที่จริงแล้วร่างกฎหมายนี้ถูกเสนอในสภาตั้งแต่ปี 2012 แต่ไม่ผ่านการพิจารณา และแม้จะมีกรณีไอยูเกิดขึ้นในอีก 2 ปีต่อมา ร่างกฎหมายนี้ก็ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกสภาส่วนใหญ่อยู่ดี
นอกจากนี้ รายงานที่เผยแพร่ในปี 2019 ยังชี้ด้วยว่าการจ้างคนดังเป็นพรีเซนเตอร์ไม่ได้แค่มีผลกระตุ้นยอดขายเพื่อบริโภคเพียงอย่างเดียว เพราะการออกสินค้าพรีเมียมที่มีรูปศิลปินคนดังบนขวดโซจู มีผลให้เหล่าแฟนคลับซื้อหามาสะสมอีกทางหนึ่ง จึงช่วยเพิ่มยอดขายเครื่องดื่มจากที่บริโภคกันตามปกติ ทั้งยังมีผลให้สถิติ ‘นักดื่มหญิง’ อายุต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 19 ปีเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จาก 41.5 เปอร์เซ็นต์ในปี 2007 กลายเป็น 50.5 เปอร์เซ็นต์ในปี 2017
ตัวเลขดังกล่าวก็น่ากังวลจริงๆ สำหรับหน่วยงานรัฐที่ดูแลเรื่องสุขภาพและสวัสดิภาพของประชาชน แต่การห้ามโฆษณาหรือห้ามการส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเกาหลีใต้ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เห็นได้จากการที่ร่างกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ฉบับปี 2012 ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภา โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าวัฒนธรรมการดื่มแอลกอฮอล์ในเกาหลีใต้นั้นเรียกได้ว่าแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของคนแทบทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นการดื่มสังสรรค์ในที่ทำงาน ดื่มเพื่อฉลองกับครอบครัว ดื่มเพื่อกระชับความสัมพันธ์พี่น้องเพื่อนฝูง หรือดื่มเพื่อพิธีการทางสังคมต่างๆ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ถือเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของประเทศด้วย
เว็บไซต์ MOVENDI International องค์กรระหว่างประเทศ รายงานอ้างอิงข้อมูลสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า อายุเฉลี่ยที่คนเกาหลีใต้ทั้งหญิงชายเริ่มดื่มแอลกอฮอล์จะอยู่ที่ประมาณ 15 ปีขึ้นไป และดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ยคนละประมาณ 16.0 ลิตรต่อปี
ขณะที่เว็บไซต์ Statista ซึ่งรวบรวมข้อมูลเชิงสถิติทั่วโลกระบุว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่คนเกาหลีนิยมดื่มกันมากที่สุดคือเบียร์ คิดเป็น 40.2 เปอร์เซ็นต์ของส่วนแบ่งตลาดน้ำเมาในเกาหลีใต้ทั้งหมด รองลงมาถึงจะเป็นโซจู คิดเป็น 33.1 เปอร์เซ็นต์ (อ้างอิงผลสำรวจล่าสุดในปี 2021)
แต่ช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด ปี 2020-2021 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเกาหลีใต้เช่นกัน เพราะมาตรการปิดร้านอาหาร ผับ บาร์ ก่อนเวลา รวมถึงสั่งห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบางช่วง ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ไม่ได้อุดหนุนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเท่าเดิม แม้จะมีรายงานว่าสถิติผู้ดื่มแอลกอฮอล์ที่บ้านหรือในที่พักอาศัยเพิ่มจำนวนขึ้น แต่ส่งผลให้ ‘สินค้านำเข้า’ ขายดีกว่าเหล้าเบียร์ที่เป็นแบรนด์ในประเทศ โดยเหตุผลหนึ่งเป็นเพราะสินค้าเหล่านี้สามารถสั่งซื้อผ่านแอปพลิเคชันทางมือถือ ทำให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเกาหลีใต้สะท้อนความกังวลประเด็นนี้ และเรียกร้องรัฐบาลเกาหลีใต้ให้พิจารณามาตรการคุ้มครองเครื่องดื่มมึนเมาในประเทศ ไม่ให้ทุนใหญ่จากต่างประเทศฉวยโอกาสนี้ในการขยายส่วนแบ่งทางการตลาด
ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นอีกหนึ่งผู้เล่นที่สำคัญที่มีบทบาทในการกำกับดูแลการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศสมาชิกสหประชาชาติ โดยรณรงค์ให้รัฐกำกับดูแลโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางสื่อต่างๆ เก็บสถิติเรื่องโรคภัยความเจ็บป่วยต่างๆ ที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงรณรงค์ต่อต้านอุบัติเหตุทางถนนที่เกี่ยวข้องกับการดื่มของมึนเมา
อย่างไรก็ดี เกาหลีใต้เป็นประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่มีกฎหมายเข้มงวดกรณีเมาแล้วขับ ทำให้สถิติคดีเมาขับมีน้อยกว่าอีกหลายประเทศเมื่อเทียบกับจำนวนคดีและสัดส่วนประชากร โดยรายงานของยอนฮัป (Yonhap) ระบุว่า การปรับกฎหมายลงโทษผู้ที่เมาแล้วขับที่ร่างขึ้นในปี 2016 มีผลให้สถิติอุบัติเหตุทางถนนจากกรณีเมาแล้วขับลดลงในเขตกรุงโซล โดยเปรียบเทียบจากสถิติอุบัติเหตุรถชน 1,583 คดีในปี 2017 ลดเหลือ 931 คดีในปี 2018
การแก้ไขกฎหมายรวมถึงการปรับลดเกณฑ์ขั้นต่ำของระดับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือด จาก 0.05 กรัมต่อเดซิลิตร เหลือ 0.03 กรัมต่อเดซิลิตร รวมถึงเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐที่เมาขับจะต้องเจอกับบทลงโทษที่รุนแรงกว่าประชาชนทั่วไป รวมถึงการไล่ออกจากตำแหน่งและจำคุก
อ้างอิง
- 90Day Korean. Drinking Culture in Korea. https://bit.ly/3tkHjw1
- MOVENDI International. South Korea: Alcohol Industry Pushes for Weakening of Alcohol Policy. https://bit.ly/3Ii51x5
- Yonhap. Tightened traffic law brings down number of DUI cases: police. https://bit.ly/3u3UTmn
- WHO. Advertising restrictions on national television by country. https://bit.ly/3tijViA
- SCMP. K-pop alcohol ads face ban in South Korea amid rise in underage drinking. https://bit.ly/3CWhWnh
- Statista. Alcoholic beverages in South Korea – Statistics & Facts. https://bit.ly/3MU4tBb