รู้ไหม ‘เครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์’ จริงๆ แล้วมีแอลกอฮอล์นะ และมันกำลังขายดีถล่มทลายเลยด้วย
โควิด-19 ดูเหมือนกำลังจะผ่านพ้นไป และโลกของเราได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปเยอะ ธุรกิจจำนวนมากที่ปางตายรอการฟื้นตัว แต่ธุรกิจอีกจำนวนหนึ่งก็เติบโตอย่างถล่มทลายในช่วงโควิด และก็ยังไม่หยุดโตหลังจากโควิดเริ่มซา
เรากำลังพูดถึงธุรกิจ ‘เครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์’ ที่เป็นหนึ่งใน ‘ผู้ชนะ’ จากโควิด เพราะยอดขายมันโตมาตลอดช่วงโควิด เรียกว่าโตเร็วแบบฉุดไม่อยู่ก็ว่าได้
นักดื่มทุกคนที่เคยลองลิ้มรส ‘เบียร์ไร้แอลกอฮอล์’ ก็คงจะรู้สึกว่า …เออ รสมันเหมือน ‘เบียร์จริงๆ’ แต่ด้วยความเป็น ‘นักดื่ม’ ก็คงจะสงสัยว่าไอ้ของพวกนี้ทำมาเพื่ออะไรกัน? กินไปก็ไม่เมา และหลายคนก็คงคิดว่าจริงๆ แล้วของพวกนี้มันคงเอาไว้ขายในโลกมุสลิมที่การขายแอลกอฮอล์ผิดกฎหมาย
แต่ในความเป็นจริง ทุกวันนี้เครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์มันก็ไปบุกตลาดตะวันตกได้อย่างถล่มทลายแล้ว ยอดขายโตหลักหลายสิบเปอร์เซ็นต์ หรือกระทั่งเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
มันเกิดอะไรขึ้น? ก่อนจะไปถึงตรงนั้น เรามารู้จักเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์กันก่อนดีกว่า
เรียกได้ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์น่าจะ ‘ทุกชนิด’ ในโลก กระบวนการพื้นฐานคือการเอาอะไรก็ได้ที่มีน้ำตาลไปหมักกับยีสต์ ยีสต์นี่แหละจะเป็นตัวแปลงน้ำตาลให้เป็นแอลกอฮอล์ ซึ่งความต่างกันของแอลกอฮอล์แต่ละชนิดก็ขึ้นอยู่กับผลของกระบวนการนี้ว่าจะเปลี่ยนแอลกอฮอล์ไปพร้อมๆ กับมีสิ่งหลงเหลืออื่นๆ ที่สร้าง ‘รสชาติเฉพาะ’ ไหม ซึ่งบางทีรสชาติเฉพาะขึ้นอยู่กับเทคนิคต่างๆ ที่ใส่ไปเพื่อแต่งสีและรสด้วย ไม่ว่านั่นจะเป็นพวกสมุนไพร คาราเมล หรือกระทั่งการบ่มในถังไม้
ดังนั้น ทุกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มันมีอย่างอื่นนอกจากแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบอยู่แล้ว และวิธีการทำเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์พื้นฐานก็คือ การเอาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากลั่นเอาแอลกอฮอล์ออก ถ้ารสมันเพี้ยนก็เติมรสเข้าไป อย่างเช่นเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ กระบวนการพื้นฐานก็คือเอาเบียร์มากลั่นแอลกอฮอล์ออกไป แล้วอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กับน้ำตาลเข้าไป เพื่อให้รสคล้ายเดิม (ใช่ครับ ปกติมันใส่น้ำตาลเพิ่มไป ดังนั้นถ้าไม่เช็กดีๆ กินเข้าไปนี่อ้วนแน่นอน)
ทีนี้ ปกติกระบวนการกลั่นแอลกอฮอล์ออกไปไม่ได้ทำให้แอลกอฮอล์หายไปหมด ซึ่งการทำให้แอลกอฮอล์หายไปหมดมันทำยาก และโดยทั่วไปในโลกเขาจึงกำหนดเลยว่า ถ้าแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 0.5 เปอร์เซ็นต์ ก็เพียงพอที่จะ เรียกว่า ‘เครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์’ ได้แล้ว (บางประเทศก็จะสูงกว่า เช่น ฟินแลนด์ให้สูงถึง 2.8 เปอร์เซ็นต์ ญี่ปุ่นให้ 1 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอังกฤษต้องต่ำถึง 0.05 เปอร์เซ็นต์ ถึงจะเรียกได้ เป็นต้น)
ดังนั้นโดยทั่วไปเครื่องดื่ม ‘ไร้แอลกอฮอล์’ มักจะมีแอลกอฮอล์ปนอยู่ด้วยนิดหน่อย มันไม่ได้ ‘ไร้แอลกอฮอล์’ ตามชื่อ แต่ตรงนี้ก็อยากจะให้เข้าใจก่อนว่า จริงๆ ในพวกผลไม้และน้ำผลไม้ที่เรากินกัน ก็มักจะมีแอลกอฮอล์ที่เกิดตามธรรมชาติปนอยู่ และผลไม้บางอย่างเขาวัดได้ว่ามีแอลกอฮอล์ 0.35 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ
นั่นหมายความว่า ชีวิตเราไม่ได้ ‘ปลอดแอลกอฮอล์’ 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นไม่ต้องไปซีเรียสเรื่อง ‘เครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์’ มันมีแอลกอฮอล์ 0.5 เปอร์เซ็นต์ แทนที่จะเป็น 0 เปอร์เซ็นต์ ในทางสถิติเขาเรียกกันว่ามัน ‘น้อยจนไม่ควรจะเอามาคิด’
แล้วทำไมมันขายดีถล่มทลายช่วงโควิด?
ผลวิจัยจาก NielsonIQ พบว่า คนอเมริกัน ‘ดื่มน้อยลง’ ในช่วงโควิด ด้วย 3 เหตุผลพอๆ กันคือ 1. ไม่ค่อยได้ออกไปไหน 2. เริ่มไม่อยากกินเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3. อยากสุขภาพดีขึ้น
ในภาพรวมบรรยากาศที่คนตายไปเยอะๆ ขณะเดียวกันก็ต้องทำงานอยู่บ้านในช่วงโควิด ทำให้หลายคนได้ครุ่นคิดเรื่องชีวิต และมองเห็นว่าชีวิตเปราะบางแค่ไหน และตระหนักได้ว่าสุขภาพสำคัญแค่ไหน นอกจากนี้การล็อกดาวน์ยาวนานทำให้หลายๆ คนที่สังสรรค์เป็นชีวิตจิตใจเริ่มชินกับชีวิตที่ไม่ต้อง ‘ปาร์ตี้’ อะไรขนาดนั้นก็อยู่ได้
บอกตรงๆ ว่า ‘นักดื่ม’ แทบทุกคน พอไม่ได้ดื่มนานๆ มันก็จะรู้สึกว่าร่างกายดีขึ้นจริงๆ หลายคนก็แทบจะรู้สึกเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ไม่อยากจะไปเมาหัวราน้ำเหมือนเดิมอีกแล้ว
และนี่ก็คือจุดที่ ‘เครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์’ มันพัฒนาตลาดมาพอดี
คือสมัยนี้ไม่ได้มีแค่ ‘เบียร์ไร้แอลกอฮอล์’ แต่มันมีทั้ง ‘ไวน์ไร้แอลกอฮอล์’ และสารพัด ‘เหล้าไร้แอลกอฮอล์’ ซึ่งถ้าไปดูยอดขายก็จะเห็นเลยว่าในบรรดาเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ทั้งหลาย ‘เหล้าไร้แอลกอฮอล์’ นั้นโตเร็วสุด ตอนนี้พวกร้านอาหารยันบาร์ในอเมริกาก็จะมีให้บริการแล้ว เพราะคนนิยมดื่มกันเยอะ ดังนั้นร้านก็เลยต้องสต็อกไว้เสิร์ฟลูกค้า เป็นการเพิ่มยอดขายให้กับผู้ผลิตอีกทอด
ที่น่าสนใจกว่านั้น ปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดเพราะคน ‘เลิกแอลกอฮอล์’ เท่ากับ ‘ลดแอลกอฮอล์’ เพราะการสำรวจชี้ว่า ลูกค้ากลุ่มใหญ่ของ ‘เครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์’ ก็คือคนที่ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้วนั่นแหละ คือเวลาไปซื้อก็ซื้อทั้งแบบมีหรือไม่มีแอลกอฮอล์ปนกัน นอกจากนั้นมันแสดงให้เห็นอีกว่า คนไม่ได้มองว่ามัน ‘ต้องเลือก’ ระหว่างดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับการดื่มเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ เพราะกินสลับไปสลับมาก็ได้ ไม่เห็นจะเป็นอะไร
สุดท้าย ถ้าใครอยากเกาะกระแสก็ต้องเข้าใจด้วยว่าเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์อาจ ‘ไม่ดีต่อสุขภาพ’ เสมอไป เพราะอย่างที่บอก บางทีมันลดแอลกอฮอล์แต่เพิ่มน้ำตาลไปแทน ดังนั้นในทางเทคนิคมันก็คือ ‘น้ำหวาน’ และการกินน้ำหวานไปเยอะๆ ก็คงไม่ต้องเถียงกันแล้วว่ามันดีต่อสุขภาพหรือไม่
อ้างอิง
- Forbes. The No-Alcohol Industry Boomed Over the Pandemic. Where’s It Going Next? https://bit.ly/3yWoqRt
- CNBC. People are paying top dollar for cocktails with no alcohol in them. https://cnb.cx/3zlDlWG
- NielsenIQ. The sober curious movement is impacting what Americans are drinking. https://bit.ly/3ogrW4r
- Healthline. Everything You Need to Know About Non-Alcoholic Beer. https://www.healthline.com/nutrition/non-alcoholic-beer
- The Drink Business. No and low alcohol drinks category continues to grow, reaching US$10billion in value. https://bit.ly/3v4BwLf
- Steady Drinker. How much alcohol is in non-alcoholic beer? https://bit.ly/3ciQlTZ
- Wikipedia. Non-Alcoholic Drink. https://en.wikipedia.org/wiki/Non-alcoholic_drink