5 Min

รู้ไหม ญี่ปุ่นต้องแจกบ้านฟรี!!! เพราะบ้านร้างเยอะเกิน

5 Min
1898 Views
09 May 2021

Select Paragraph To Read

  • สังคมอุดมบ้านร้าง
  • ปัญหาของภาษีที่ดิน
  • วิธีจัดการบ้านร้าง

ภายหลังกระแสอยาก “ย้ายประเทศ” ที่เกิดขึ้นหลังจาก COVID-19 ระบาดแล้วรัฐบาลไทยจัดการไม่ได้ สิ่งที่สังเกตได้คือ “ญี่ปุ่น” เป็นประเทศที่ชาวไทยหลายๆ คนอยากไปตั้งรกราก ซึ่งก็แน่นอนบางคนก็คิดว่าเป็นแค่ฝัน แต่ในความเป็นจริง ญี่ปุ่นในแถบชนบทมีปัญหามากๆ เพราะเขามีบ้านร้างมากมายที่ไม่มีคนอยู่และอยากให้คนไปอยู่ และเขาถึงกับต้อง “ฮาร์ดเซลล์” กันระดับแจกฟรี

ซึ่งมันเป็นแบบนั้นได้ยังไง ไปดูกันครับ

สังคมอุดมบ้านร้าง

ญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ประสบภาวะสังคมผู้สูงอายุร้ายแรงที่สุดในโลกแล้ว ประชากรโดยรวมลดลงแล้วมาตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปัจจุบันนี้ประชากรลดลงเป็นล้านแล้วถ้านับจากจุดสูงสุด และนั่นส่งผลสารพัดกับสังคมญี่ปุ่น และปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เรียกได้ว่าพิลึกสุดๆ แบบแทบจะเป็น “แจแปนออนลี่” คือมันเกิดบ้านร้างไปทั่วญี่ปุ่นโดยเฉพาะแถบชนบท ในปี 2013 มีการประเมินว่าทั่วญี่ปุ่นมีบ้านร้านอยู่กว่า 7.5 ล้านหลัง หรือเอาจริงๆ ก็เรียกได้ว่าบ้านทั่วญี่ปุ่นเกิน 10% เป็นบ้านร้างไม่มีคนอยู่ และมีการประเมินกันว่ามันจะขึ้นเป็นราวๆ 33% ในปี 2033 หรือพูดง่ายๆ อีก 15 ปี บ้านญี่ปุ่น 1 ในสามจะกลายเป็นบ้านร้าง

กล่าวคือ ในขณะที่หลายๆ ประเทศในโลกคนมีปัญญาไม่มีที่จะอยู่อาศัยกัน ญี่ปุ่นกลับเกิดภาวะที่มีบ้านว่างๆ ไร้คนอยู่อาศัยเต็มไปหมด

บ้านร้างเหล่านี้เกิดจากอะไรบ้าง? คือแน่นอนบางส่วนเกิดจากบ้านมีคนฆ่าตัวตายอะไรแบบนี้ คนญี่ปุ่นก็ไม่อยากอยู่ (ก็คล้ายๆ กะคนบ้านเรา) แต่บ้านอีกจำนวนไม่น้อยก็ไม่ได้มีเรื่องยาวสยองอะไรเลย ก็เกิดจากคนที่เคยอยู่เป็นคนแก่ แล้วก็แก่ตายไปตามปกติอย่างสงบ ซึ่งถ้าบ้านแบบนี้เป็นบ้านชนบทห่างไกล ลูกหลานที่เข้าไปทำงานในเมืองก็ไม่ยอมกลับมาเคลมความเป็นเจ้าของ ก็ทิ้งไว้แบบนั้น และจริงๆ ปรากฏการณ์บ้านชนบทถูกทิ้งร้างแบบนี้มีมาเป็นร้อยปีแล้ว แต่มาหนักมากๆ ช่วงหลังๆ

เป็นคนบ้านเราอาจจะงง บ้านเรานี่อาจจะมีแต่ลูกหลานตบตีกันแย่งที่ดินปู่ย่าตายายกัน แต่คนญี่ปุ่นกลับทิ้งบ้านและที่ดินของปู่ย่าตายายไปดื้อๆ เลย ทำไมเป็นงั้น?

ปัญหาของภาษีที่ดิน

คำตอบคือ ภาษีที่ดิน ครับ คือในญี่ปุ่นและในประเทศส่วนใหญ่ในโลกมันมีภาษีแบบนี้กันมานานนมแล้ว ไทยคือส่วนน้อยมากๆ ที่เพิ่งมีภาษีแบบนี้จริงจัง ซึ่งในประเทศอื่นเขาไม่ยกเว้น “บ้านหลังแรก” แบบเมืองไทยด้วย มีบ้านกี่หลังๆ ก็ต้องจ่ายหมด

นี่หมายความว่าใครถือครองบ้านและที่ดิน ต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาลท้องถิ่นเป็นรายปี และนั่นคือรายได้หลักของรัฐบาลท้องถิ่น ที่เอาไว้ทำนุบำรุงสาธารณูปโภคในแถบนั้น จะตัดถนนใหม่ ซ่อมถนน จะซ่อมไฟฟ้าประปาอะไรก็ว่าไป มันมาจากงบตรงนี้

คิดง่ายๆ รัฐบาลท้องถิ่นมันก็คล้ายๆ นิติบุคคลคอนโดน่ะครับ ซึ่งลูกบ้านก็ต้องจ่าย “ค่าส่วนกลาง” ทุกปี และ “ค่าส่วนกลาง” ตรงนี้ ก็เรียกว่า “ภาษีที่ดิน” นี่เอง

และภาษีที่ดินญี่ปุ่นนี่โหดจัดๆ เลยครับ 1.7% ของมูลค่าที่ดิน ถือว่าเป็นเรตที่สูงมากๆ เลยในโลก เรียกได้ว่าถ้าคนญี่ปุ่นรับมรดกบ้านและที่ดินมา สมมติมูลค่า 5 ล้านบาท ก็จะโดนภาษีไปปีละ 85,000 บาท อาจฟังดูปีหนึ่งไม่เยอะ แต่จ่ายไปทุกปีเรื่อยๆ เกือบ 60 ปี นี่ก็จะเสียภาษีเท่ามูลค่าบ้านแล้ว

ซึ่งถ้ารับมรดกบ้านไม่อยู่เนี่ย มันไม่คุ้มเลยที่จะเสียภาษีไปเรื่อยๆ แบบนี้ เพราะราคามันไม่ได้ขึ้นไปเรื่อยๆ อสังหาริมทรัพย์ของญี่ปุ่นมันนิ่งมานานแล้ว แม้แต่ในเมืองใหญ่ๆ พวกบ้านนอกนี่ไม่ต้องพูดเลย มีแต่ราคาจะตกลง ดังนั้นรับบ้านพร้อมที่ดินมรดกมาถือไว้เก็งกำไรก็ไม่ได้ เพราะมันคือบ้านร้างในบ้านนอก ไม่ใช่บ้านเดี่ยวในย่านคนรวยในโตเกียวแบบเมกุโระ หรือเขตใดๆ ในโตเกียวขั้นใน

นี่เลยทำให้คนญี่ปุ่นไม่ยอมไปรับมรดกบ้านและที่ดินจากปู่ย่าตายายจนทำให้เกิดบ้านร้างเต็มไปหมด

วิธีจัดการบ้านร้าง

ที่นี้พอบ้านร้างมันมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลท้องถิ่นก็มีปัญหาน่ะสิครับ ถ้าเขตตัวเองไม่มีคนอยู่ มันจะเอารายได้มาจากไหน เพราะรายได้หลักมันมาจากภาษีที่ดิน และนี่ก็ยังไม่ต้องพูดถึงว่าเมื่อเขตมันเริ่มร้าง ร้านค้าต่างๆ มาเปิดแล้วก็เจ๊ง เพราะไม่มีลูกค้า คนก็ยิ่งไม่อยากอยู่ คนก็ย้ายออกเพิ่มอีก ปัญหามันขยายตัวไปกันใหญ่ และทำให้เมืองตรงนั้นกลายเป็น “เมืองร้าง”

หลังๆ มันเลยเกิดปรากฏการณ์แบบ “ฮาร์ดเซลล์” ระดับที่มีการเอาบ้านร้างที่พอจะหาเจ้าของได้แต่เจ้าของไม่อยากจะอยู่มาแจกกันดื้อๆ เลย ซึ่งหน่วยงานที่ทำหน้าที่แบบนี้ในท้องถิ่นเรียกว่า “ธนาคารบ้านร้าง” หรือ Akiya Bank (Akiya แปลไทยได้ง่ายๆ ว่า บ้านร้าง)

และเขาก็ว่ากันว่าแจกฟรีแบบฟรีจริงๆ ครับ จ่ายแค่ค่าโอนและภาษีจิปาถะแล้วเอาไปเลย (โดยทั่วๆ ไปน่าจะหลักหมื่นบาท) ไม่ได้มีทริคหลอกอะไรทั้งนั้น แค่ซื้อไปแล้วก็จ่ายภาษีทุกปีตามปกติพอ โดยทั้งนี้ ก็ตามปกติ เขาก็มีข้อกำหนดว่า คุณก็ต้องอยู่จริงๆ นะ ไม่ใช่ซื้อไปขายต่อ

แน่นอนว่าอ่านมาถึงตรงนี้ คงตาโตกันว่า เฮ่ย มันมีจริงเหรอแจกบ้านฟรี เราเลยลองไปค้นดูที่เว็บรวมแห่งหนึ่ง: https://inakanoseikatsu.com/ (จริงๆ มันมีหลายเว็บครับ คือแต่ละจังหวัดในญี่ปุ่นมันก็จะมีเว็บเอาไว้ขายและแจกบ้านร้างของมัน ซึ่งก็ต้องค้นเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า Akiya Bank+[ชื่อจังหวัด] ถึงจะเจอง่าย) ก็ปรากฏว่ามีจริงๆ ครับ แจกบ้านฟรี มีเยอะด้วย แต่ทั่วๆ ไปที่แจกฟรีเลยมักจะเป็นโซนแบบรกร้างกันดารสุดๆ แบบเป็นบ้านร้างบนเกาะบ้าง เป็นบ้านที่รอบๆ มีแต่ทุ่งนาบ้าง (โปรดอย่าถามว่าสถานีรถไฟใกล้สุดเดินไปกี่นาที เพราะเกินระยะเดินแน่ๆ)

ตัวอย่างบ้านร้างที่แจกฟรีจริงๆ ที่จังหวัดนางาซากิ | inakanoseikatsu

ซึ่งเอาจริงๆ ถ้าเป็นเมืองใหญ่ๆ ดังๆ บ้านร้างพวกนี้ก็มีครับ แต่มักจะไม่ฟรี ทว่าจะขายกันถูกสุดๆ แบบไม่กี่แสนบาท เช่นในเว็บด้านบน บ้านในเกียวโตราคา 150,000 บาทก็มี บ้านในโตเกียวราคา 200,000 กว่าบาทก็มี แต่ก็นะครับ มันก็เป็นโซนกันดารในเมืองใหญ่อยู่ดี ทั้งนี้ ก็เรียกได้ว่า “ตามสภาพ” ครับ พวกบ้านราคาหลักล้านบาทใน “ธนาคารบ้านร้าง” ก็มี ซึ่งสภาพและทำเลมันก็จะดีขึ้นตามสเตป

ตัวอย่างบ้านร้างที่เกาะโอชิมะในโตเกียว ราคาประมาณ 1 ล้านบาท | Oshima Akiya

และที่น่าสนคือ ในทางเทคนิคเราคนไทยก็เป็นเจ้าของบ้านพวกนี้ได้นะครับ กฎหมายญี่ปุ่น (และประเทศส่วนใหญ่ในโลกตะวันตก) เขาไม่ได้ห้ามชาวต่างชาติถือครองที่ดินกัน ดังนั้นเราซื้อได้แน่ๆ แต่ถ้าจะไปอยู่จริงๆ เราจะติดปัญหาด้านวีซ่าที่ญี่ปุ่นไม่ให้ยาวๆ และถ้าจะขอสัญชาตินี่ก็ยากสุดๆ ระดับตำนานเลย (บ้านเราสัญชาตินี่ก็ได้ยาก แต่ไม่รู้ยากเท่าญี่ปุ่นมั้ย)

ซึ่งนี่ก็กลับมาสู่แกนกลางของปัญหาว่าทำไมญี่ปุ่นถึงมีบ้านร้างมากขึ้นเรื่อยๆ ประชากรน้อยลงเรื่อยๆ คำตอบคือ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ไม่มีนโยบายรับคนเข้าเลยไงครับ และเป็นมาตลอดด้วย ไม่ใช่เพิ่งมาเป็นแบบอเมริกา และการทำแบบนี้ผล ณ ปัจจุบันมันทำให้ญี่ปุ่นขาดแรงงานสุดๆ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในโรงงานคือคนดูแลคนแก่ที่มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ญี่ปุ่นก็ไม่ยอมแก้ปัญหานี้ด้วยการรับคนเจ้าประเทศเพิ่มแบบที่ประเทศอื่นเขาแก้กัน ดันจะไปพยายามสร้างหุ่นยนต์และนวัตกรรมสารพัดมาทดแทนแรงงานที่ขาดไปแทน

ก็เอาเถอะครับ ก็เป็นวิถีญี่ปุ่นไปถ้าจะแก้ปัญหากันแบบนี้ แต่ที่แน่ๆ ถ้าทำแบบนี้ต่อไป บ้านร้างก็จะขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ แบบที่เขาประเมินกัน และการฮาร์ดเซลล์ระดับแจกบ้านฟรีให้คนไปอยู่ในต่างจังหวัดก็คงจะดำเนินต่อไป

อ้างอิง: