“กลับบ้านเรานะ ตอนนี้เขาปล่อยตัวลื้อแล้ว” ครบรอบ 13 ปี การจากไปของ ‘อากง SMS’ สะท้อนความเปราะบาง ซับซ้อน และความอยุติธรรม กรณีการบังคับใช้ ม.112 ร่วมกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
“กลับบ้านเรานะ ตอนนี้เขาปล่อยตัวลื้อแล้ว
นี่คือคำพูดสุดท้ายที่ ‘รสมาลิน’ ภรรยาของ อำพล ตั้งนพกุล หรือ ‘อากง SMS’ กล่าวกับสามี ที่นอนอยู่ในโลงศพ ขณะที่เธอไปรับร่างนั้นออกจากเรือนจำ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555
‘อากง SMS’ เป็นคำที่สื่อมวลชนใช้เรียกแทนชื่อจริงของ ‘อำพล ตั้งนพกุล’ ชายวัย 61 ปี ผู้ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 นำทีมจับกุมโดย พลตำรวจตรีสุพิศาล ภักดีนฤนาถ อดีตผู้บังคับการกองปราบปราม ด้วยข้อหาส่งข้อความสั้น (SMS) จำนวน 4 ข้อความ ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายแสดงความอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์และพระราชินี ยังโทรศัพท์มือถือของ ‘สมเกียรติ ครองวัฒนสุข’ เลขานุการของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ในเดือนพฤษภาคม ปี 2553 สมเกียรติ ครองวัฒนสุข ได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุว่ามีการส่งข้อความสั้น (SMS) จำนวน 4 ข้อความ ที่มีเนื้อหาพาดพิงและหมิ่นประมาทให้ร้ายต่อ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในขณะนั้น และต่อมากลายเป็นจุดเริ่มต้นของคดีที่ทำให้ อำพล ตั้งนพกุล ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
จากการสืบสวน ตำรวจตรวจพบหมายเลขอีมี่ของโทรศัพท์ที่ใช้ส่งข้อความคือ 3589060000230110 เมื่อขยายผลการตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์ที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีการติดต่อกับหมายเลขของบุคคลใกล้ชิดของอำพล ตั้งนพกุล ได้แก่ ปรวรรณ และ ปิยะมาศ ตั้งนพกุล ซึ่งเป็นบุตรสาวทั้งสองของเขา จากการสอบปากคำพยาน ตำรวจสรุปว่า การติดต่อสื่อสารเหล่านั้นเกิดขึ้นจากโทรศัพท์ที่อยู่ในความครอบครองของนายอำพลเอง
หลังจากถูกจับกุม อำพล ตั้งนพกุล ถูกควบคุมตัวในเรือนจำเป็นเวลา 63 วัน ก่อนจะได้รับอนุญาตให้ประกันตัวชั่วคราวโดยศาลอุทธรณ์ แต่เมื่ออัยการยื่นฟ้องคดีในภายหลัง ศาลก็มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวอีกครั้ง ทำให้นับจากนั้น ชายวัย 61 ผู้นี้ต้องต่อสู้คดีในสถานะของ ‘ผู้ต้องขัง’ ตลอดกระบวนการ
อำพล ตั้งนพกุล ให้การต่อศาลว่า หมายเลขโทรศัพท์ 08-1349-3615 ที่ถูกใช้ส่งข้อความนั้น ตนเองไม่ทราบว่าเป็นของผู้ใด และยืนยันว่าในเดือนเมษายน 2553 ได้เคยนำโทรศัพท์ไปซ่อม แต่ไม่เคยนำซิมการ์ดเบอร์อื่นมาใช้กับเครื่องของตนเลย อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ พบว่าเบอร์โทรศัพท์ดังกล่าวเป็นระบบเติมเงินที่ไม่ได้จดทะเบียน และเคยถูกใช้งานร่วมกับโทรศัพท์ที่มีหมายเลขอีมี่ตรงกับเครื่องของอำพล ตั้งนพกุล นอกจากนี้ ยังตรวจพบว่าโทรศัพท์เครื่องนั้นเคยใช้งานร่วมกับซิมอีกเบอร์หนึ่ง คือ 08-5838-4627 ซึ่งเป็นซิมแบบเติมเงินจากเครือข่ายทรูมูฟ และเป็นเบอร์ที่เชื่อมโยงกับข้อมูลของอำพล ตั้งนพกุล
ข้อเท็จจริงเหล่านี้ ถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการดำเนินคดี แม้จะมีข้อถกเถียงถึงความชัดเจนของเจตนา และระดับความสามารถทางเทคนิคของจำเลยในการใช้งานโทรศัพท์ แต่กระบวนการยุติธรรมก็ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว…สวนทางกับร่างกายของผู้ต้องหาที่ทรุดโทรมลงทุกวัน
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้นายอำพล (จำเลย) จะให้การปฏิเสธว่าไม่เคยส่งข้อความ ไม่รู้จักหมายเลขปลายทาง และไม่เคยนำซิมเบอร์อื่นมาใช้กับโทรศัพท์ของตน แต่คำให้การดังกล่าวเป็นเพียงคำอ้างที่จำเลยเท่านั้นที่รู้เห็น และไม่มีพยานหรือหลักฐานที่น่าเชื่อถือมาสนับสนุน
แม้โจทก์จะไม่สามารถหาพยานที่เห็นเหตุการณ์โดยตรงว่า จำเลยเป็นผู้ส่งข้อความจากเบอร์ 08-1349-3615 ไปยังผู้เสียหาย แต่ศาลเห็นว่า ด้วยความที่เป็นความผิดร้ายแรง ผู้กระทำย่อมพยายามปกปิดการกระทำของตน การจะหาประจักษ์พยานโดยตรงจึงเป็นเรื่องยาก
อย่างไรก็ตาม พยานแวดล้อมและพฤติการณ์ที่โจทก์นำสืบมาโดยรวม มีน้ำหนักเพียงพอที่จะสรุปได้ว่าจำเลยเป็นผู้ส่งข้อความทั้งสี่ข้อความดังกล่าว
ดังนั้น ศาลจึงเห็นว่า การกระทำของจำเลยเข้าข่าย “การนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์” ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ และเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงตามกฎหมาย
ด้านทนายของอำพล ตั้งนพกุล ได้พยายามต่อสู้ในชั้นศาล โดยชี้ให้เห็นข้อจำกัดของการใช้หลักฐานทางเทคนิคเป็นเครื่องยืนยันตัวผู้กระทำผิด จุดอ่อนสำคัญอยู่ที่ ‘หมายเลขอีมี่’ ของโทรศัพท์ ซึ่งแม้จะถูกใช้เชื่อมโยงกับการส่งข้อความ แต่ฝ่ายจำเลยแย้งว่า หมายเลขอีมี่สามารถถูกดัดแปลงได้ และในบางกรณีอาจเกิดการซ้ำกันได้โดยไม่เจตนา ยิ่งไปกว่านั้น ฝ่ายโจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นภาพถ่าย คลิปวิดีโอ หรือพยานบุคคลที่เห็นชัดเจนว่าจำเลยเป็นผู้พิมพ์และส่งข้อความสั้นทั้ง 4 ข้อความด้วยตนเอง
ต่อมาในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ โดยตัดสินลงโทษ อำพล ตั้งนพกุล ใน 4 กรรม รวมโทษจำคุก 20 ปี แบ่งเป็นกรรมละ 5 ปี ตามความผิดตามมาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
โดยผู้สังเกตการณ์ในวันนั้นเล่าว่า อำพลมีปัญหาด้านการได้ยินและต้องหันไปถามทนายความซ้ำหลายครั้งหลังฟังคำพิพากษาเสร็จ เพื่อให้แน่ใจว่าเข้าใจถูกต้องว่าตนเองถูกตัดสินให้รับโทษอย่างไร
หลังจากนั้น อำพล ตั้งนพกุล ยื่นคำร้องขอประกันตัวอีกครั้ง เพื่อใช้สิทธิในการอุทธรณ์คดี แต่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ในสถานการณ์ที่ร่างกายเริ่มทรุดโทรมและความหวังริบหรี่ลงเรื่อยๆ อำพล ตั้งนพกุล จึงตัดสินใจถอนคำอุทธรณ์ ยอมให้คดีถึงที่สุด เพื่อเปิดทางสู่ ‘การยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ’
จนกระทั่ง วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 อำพล ตั้งนพกุล เสียชีวิต ณ โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ศาลมีคำสั่งไต่สวนการตายและสรุปว่า สาเหตุของการเสียชีวิตเกิดจากการล้มเหลวของระบบไหลเวียนโลหิตและระบบหายใจ อันเป็นผลสืบเนื่องจากโรคมะเร็งตับระยะสุดท้าย
อย่างไรก็ตาม คดีของ อำพล ตั้งนพกุล คือหนึ่งในตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาซับซ้อนในการบังคับใช้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ร่วมกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 โดยเฉพาะเมื่อกระบวนการยุติธรรมต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านพยานหลักฐานทางเทคโนโลยี และแรงกดดันจากมิติทางการเมือง โดย BrandThink ได้จำแนกข้อบกพร่องและความอยุติธรรมในกระบวนการของรัฐไทย ที่เกิดขึ้นกับกรณีนี้ ไว้ 4 ประการ ดังนี้
[1. ประเด็นเจตนาและความแน่นอนของหลักฐาน]
ในคดีนี้ จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้ส่งข้อความและไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ เช่น พยานบุคคลหรือภาพที่แสดงว่าเขาเป็นผู้พิมพ์หรือกดส่งข้อความด้วยตนเอง พยานหลักฐานที่ใช้ในการพิพากษาส่วนใหญ่เป็น ‘พยานแวดล้อม’ เช่น หมายเลขอีมี่ของโทรศัพท์มือถือที่พบว่าเคยใช้งานร่วมกับหมายเลขที่เกี่ยวข้องกับจำเลย
แต่ในทางเทคนิค หมายเลขอีมี่สามารถปลอมแปลงหรือซ้ำกันได้ และหมายเลขโทรศัพท์แบบเติมเงินที่ไม่จดทะเบียนยิ่งยากต่อการพิสูจน์ตัวตนของผู้ใช้งานอย่างชัดเจน จุดนี้ทำให้เกิดข้อกังวลว่า การใช้หลักฐานทางเทคนิคเพียงบางส่วนโดยไม่มีความสมบูรณ์เพียงพอ อาจนำไปสู่การตัดสินที่ไม่เป็นธรรมได้
[2. การตีความกฎหมายที่กว้างเกินจำเป็น]
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีบทลงโทษที่หนัก (จำคุก 3–15 ปีต่อกรรม) โดยไม่มีระดับความรุนแรงของการกระทำให้พิจารณาเป็นลำดับขั้น และไม่มีคำจำกัดความชัดเจนของคำว่า ‘หมิ่นประมาท’ หรือ ‘ดูหมิ่น’ ในบริบทของการวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็น ขณะที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก็มักถูกใช้ควบคู่กับ ม.112 โดยอัตโนมัติในคดีลักษณะนี้ แม้ข้อความจะถูกส่งผ่านเพียงแค่ SMS ซึ่งเป็นระบบสื่อสารพื้นฐาน ไม่ใช่แพลตฟอร์มออนไลน์หรือฐานข้อมูลที่สามารถสร้างผลกระทบในวงกว้าง
นอกจากนี้ การตีความว่า ‘ข้อความเท็จที่กระทบต่อความมั่นคง’ สามารถครอบคลุมถึงการพิมพ์ SMS ส่วนบุคคล จึงเป็นการขยายขอบเขตกฎหมายที่เกินขอบเขตของเจตนารมณ์เดิม อาจเปิดช่องให้ใช้เป็นเครื่องมือจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก
[3. การจำกัดสิทธิประกันตัวและการเลือกปฏิบัติ]
แม้จำเลยจะมีอายุมาก (61 ปี) และป่วยด้วยโรคร้ายแรง แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวในหลายครั้ง ทั้งที่กฎหมายรับรองสิทธิในการสันนิษฐานว่า ‘ผู้ต้องหายังเป็นผู้บริสุทธิ์’ จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด การควบคุมตัวเขาตลอดกระบวนการพิจารณาและอุทธรณ์ จึงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพที่อาจไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายมนุษยธรรม และทำให้จำเลยเสียชีวิตในสถานะ ‘นักโทษ’ ทั้งที่คดียังไม่สิ้นสุด
[4. ผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมไทย]
กรณีนี้ได้รับความสนใจจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีองค์กรสิทธิมนุษยชนจำนวนมากออกมาแสดงความกังวลถึงการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่คำนึงถึงความสมดุลระหว่าง ‘ความมั่นคงของรัฐ’ กับ ‘สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน’ การใช้ ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กับผู้สูงอายุที่ไม่มีหลักฐานชัดเจน อาจทำให้ภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมไทยถูกตั้งคำถามในระดับสากล
จากการตั้งข้อสังเกตทั้ง 4 ประการข้างต้น สามารถสะท้อนปัญหาการใช้ มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กับกรณีของ อำพล ตั้งนพกุล ยังมีช่องโหว่และข้อบกพร่องของกระบวนการยุติธรรมในรัฐไทยและการบังคับใช้กฎหมายภายใต้เงื่อนไขที่ซับซ้อนและเปราะบางเช่น แม้กฎหมายจะมีเป้าหมายในการปกป้องสถาบันหลักของชาติ แต่การดำเนินการใช้กฎหมายโดยปราศจากการพิจารณาเจตนา บริบท และหลักฐานอย่างรอบด้าน อาจก่อให้เกิดความอยุติธรรมที่ส่งผลย้อนกลับต่อทั้งประชาชนและตัวบทกฎหมายเอง
และคำถามที่ยังค้างคาในใจสังคมไทยมาจนถึงทุกวันนี้ คือ ‘ความมั่นคงของรัฐ’ ต้องแลกมาด้วยชีวิตของชายชราผู้หนึ่งจริงหรือ?
อ้างอิง
- อำพล: อากงเอสเอ็มเอส จาก ฐานข้อมูลคดีเสรีภาพ https://shorturl.asia/68Upv
- คำพิพากษาศาลอาญา ในคดีหมายเลขแดงที่ อ.4726/2554 https://shorturl.asia/lLM8e
- ThaiPBS รายงานข่าว “อากง 112” เสียชีวิต (8 พ.ค. 55) https://shorturl.asia/4Jx89
- “กลับบ้านเรานะ ตอนนี้เค้าปล่อยตัวลื้อแล้ว” ภรรยาอากง https://shorturl.asia/68Upv