3 Min

AIS เปิดตัวหนังโฆษณาชุดใหม่ ‘มีความรู้ก็อยู่รอด’ ด้วยแนวคิดที่ว่าภัยไซเบอร์เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย

3 Min
916 Views
14 Nov 2022

AIS เปิดตัวแคมเปญสื่อสาร พร้อมหนังโฆษณาชุดใหม่ล่าสุดภายใต้แนวคิด ‘มีความรู้ก็อยู่รอด’

BrandThink ได้ไปร่วมพูดคุยกับ สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS และ พลัช ร่มไทรย์ ผู้กำกับภาพ Phenomena ผู้สร้างสรรค์โฆษณาตัวนี้ ถึงที่มาของแคมเปญและหนังโฆษณา

ที่มาของแคมเปญนี้

สายชล: การทำงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้เรามองเห็นถึงปัญหาที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น สร้างผลกระทบต่อสังคม และในบางกรณีตามมาถึงขั้นสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน การปกป้องสร้างภูมิคุ้มกัน รวมถึงสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องนี้ให้กับคนไทย จึงถือเป็นวาระเร่งด่วน และเป็นที่มาของการเปิดตัวแคมเปญการสื่อสารภายใต้แนวคิด ‘มีความรู้ก็อยู่รอด’ เพราะเชื่อว่าสิ่งที่จะทำให้เราสู้กับทุกภัยไซเบอร์ได้คือ การมีความรู้ ซึ่งจะเป็นการตอกย้ำภารกิจและความมุ่งมั่นตั้งใจของ AIS ในการนำองค์ความรู้มาส่งต่อให้กับคนไทยได้ใช้เป็นอาวุธ เพื่อรับมือกับภัยไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานออนไลน์ในหลากหลายรูปแบบ

หนังโฆษณาชุดใหม่ภายใต้แนวคิด ‘มีความรู้ก็อยู่รอด’ เป็นอย่างไรบ้าง 

พลัช: ถือเป็นโจทย์ที่สนุกและท้าทายสำหรับพวกเรา ในการที่จะสื่อสารเรื่องภัยไซเบอร์ให้ออกมาแล้วสามารถสร้างความเข้าใจให้กับผู้ชมได้ในวงกว้าง โดยเราเลือกที่จะชี้ให้เห็นว่าภัยเหล่านี้ เป็นปัญหาใหญ่แบบคอขาดบาดตาย ที่ทุกคนอาจจะตายได้หากไม่รู้ ไม่เข้าใจ และไม่มีวิธีรับมือ 

ซึ่งสิ่งเดียวที่จะช่วยให้รอดได้ก็คือ ความรู้ โดยเราเลือกใช้วิธีเล่าเรื่องแนวตลก สยองขวัญ ผ่านตัวละครผีที่โดนภัยไซเบอร์ในรูปแบบใกล้ตัวทำร้าย จนถึงขั้นเสียชีวิต เพื่อสื่อให้เห็นว่าทุกคนมีโอกาสตกเป็นเหยื่อจากการใช้งานออนไลน์ หรือแม้แต่สื่อดิจิทัลได้ตลอดเวลา และ ‘ความรู้’ เท่านั้นจะช่วยให้อยู่รอดได้

ที่มาของไอเดียหนังโฆษณา

พลัช: เริ่มจากการค้นหาข้อมูล แล้วก็เลยลองค้นหาสถิติที่เกี่ยวข้อง ในตอนแรกผมเสิร์ชว่าเหยื่อ แต่พอค้นหาไปมา มันมีคําว่าผู้เสียชีวิตเข้ามาในเหยื่อด้วย มีคนที่ฆ่าตัวตายเพราะโดนบูลลี่ คนที่ฆ่าตัวตายเพราะโดนโกงเงิน คนที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว กลายเป็นว่ามันไม่ใช่แค่จนลง แต่มันถึงตายเลย เลยรู้สึกว่าถ้าจะเล่าว่าเรื่องนี้มันถึงตาย คนที่จะอธิบายเรื่องนี้ได้ดีที่สุด ก็น่าจะเป็นคนที่ตายไปแล้ว 

การทำหนังโฆษณาเพื่อสื่อสารกับสังคมยากกว่าการทำหนังโฆษณาทั่วไปอย่างไร

พลัช: ยากกว่าเยอะเลย ในแง่ปกติถ้าทําโฆษณาทั่วไปก็ต้องขายของ ทํายังไงก็ได้ให้คนซื้อของ แต่อันนี้เป็นเรื่องของการทํายังไงให้สังคมดีขึ้น ทุกอย่างที่เราจะทําลงไปในหนังด้วยเจตนาที่ดี ก็จะต้องมานั่งคิดหลายมิติ ว่าหนังจะทําร้ายใครไหม หนังจะไปซ้ำเติมใครหรือเปล่า คือมันต้องคิดหลายมิติมาก

แล้วก็ต้องอยู่บนความจริง ไม่สามารถจินตนาการนั่งคิดสถานการณ์ขึ้นมาเองได้ ก็ต้องไปศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ ต้องไปดูว่าสังคมทุกวันนี้มันเป็นยังไง ซึ่งก็รู้ว่าจริงๆ แล้วหนังของเรา มันอาจจะเป็นส่วนที่น้อยมากที่จะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้ แต่ว่าถ้ามันสะกิดให้คนเป็นเหยื่อน้อยลงสักคนหนึ่ง ผมก็ดีใจแล้ว เพราะว่าปัญหามันคอขาดบาดตายมากจริงๆ 

ในฐานะคนทำงาน ได้อะไรจากงานนี้บ้าง

พลัช: ได้เห็นว่าเรื่องนี้ใหญ่และใกล้ตัวมาก ความรู้เลยเป็นเรื่องที่สําคัญที่สุด ผมรู้สึกว่าคนไทยต้องรู้ตัว รู้ตัวว่าตอนนี้กําลังทําอะไรอยู่ ตอนนี้ใครโทรมา รู้ตัวว่าเราโลภหรือเปล่า รู้ตัวว่าเรากลัวรึเปล่า ถ้าเรามีสติรู้ตัวอย่างแรก เราก็จะมีความรู้ทัน รู้กลโกง แต่รู้อย่างแรกต้องรู้ตัวก่อน 

การทำงานของ AIS 

สายชล: เราบอกกับ Phenomena ว่าเราไม่ได้ขายของ สิ่งที่เรากําลังทําไม่ได้ต้องการให้ AIS มียอดติดตามเพิ่มขึ้น แต่ AIS มองว่าเป็นหน้าที่ เป็นความรับผิดชอบ ที่เราเองก็อยากจะมีส่วนร่วม เป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ ของประเทศไทย 

เมื่อเราสร้างดิจิทัลซูเปอร์ไฮเวย์ขึ้นมา แล้วเราก็เชิญชวนทุกคนขึ้นมาอยู่ ดังนั้นมันเป็นหน้าที่ของเราเหมือนกัน ที่เราจะบอกกับทุกคนว่า เมื่อคุณขึ้นมาอยู่บนดิจิทัลซูเปอร์ไฮเวย์ คุณจะต้องครองตัวยังไง คุณจะต้องใช้มันให้เป็นประโยชน์อย่างไร

เราบอกทีมงานว่า เรากําลังจะติดอาวุธทางปัญญาให้คนไทย เราจะไม่ลุกขึ้นมาทําโฆษณาสวยๆ แล้วเอาเงินไปเผา ซึ่งก่อนที่เราจะมาคุยกับเขา เราไปสร้างหลักสูตรมาแล้ว ก็คือ ‘หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์’ ที่ใช้เวลาเกือบสองปีในการสร้าง หนังโฆษณาตัวนี้ก็มาช่วยกระจายให้คนได้รู้ ได้ทราบ แล้วก็พาทุกคนเข้ามาเรียนด้วยกัน

สามารถรับชมโฆษณาตัวนี้ได้ที่