รบ.อิตาลี ห้ามภาครัฐเปิดแอร์ต่ำกว่า 25 องศา ฝ่าฝืนปรับสูงสุด 1 ล้านบาท

2 Min
535 Views
02 May 2022

ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2022 หน่วยงานภาครัฐและสถานการศึกษาในประเทศอิตาลีจะถูกสั่งห้ามไม่ให้เปิดแอร์ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส เพื่อลดการใช้พลังงาน และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชน

มาตรการนี้เป็นกฎพิเศษที่รัฐบาลอิตาลีเพิ่งกำหนดขึ้นเมื่อราวกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังประเทศร่วมกับสหภาพยุโรป อเมริกา และสหราชอาณาจักร คว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ซึ่งกฎนี้เป็นหนึ่งในหลายๆ ทางที่อิตาลีวางแผนหลีกเลี่ยงวิกฤตด้านพลังงานที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศ

ในรายละเอียด นอกจากกำหนดให้อาคารสาธารณะ สำนักงานต่างๆ ของรัฐ และสถานศึกษา (ยกเว้นโรงพยาบาล) ห้ามเปิดแอร์ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส แล้ว ยังห้ามเปิดเครื่องทำความร้อนสูงกว่า 19 องศาเซลเซียส ในฤดูหนาว และหากพบว่าอาคารสำนักงานใดไม่ปฏิบัติตาม จะมีโทษปรับตั้งแต่ 500-3,000 ยูโร หรือราว 18,000 บาท จนถึง 1 ล้านบาท

โดยจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2022 และสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2023

แม้ข้อบังคับนี้จะไม่ได้กำหนดให้บ้านเรือนทั่วไปต้องทำตาม แต่สื่อท้องถิ่นของประเทศอ้างว่าอาจขยายไปสู่บ้านพักส่วนตัวในที่สุดซึ่งในเบื้องต้นรัฐบาลบอกเพียงว่า กฎนี้จะเป็นแบบอย่างที่ดีในการสร้างความตระหนักต่อประชาชน เพราะถือเป็นวิธีง่ายๆ ในการมีส่วนร่วมและลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ รัฐบาลอิตาลีหวังว่าบริษัทเอกชนและบ้านเรือนทั่วไปจะปฏิบัติตาม

เรนาโต บรูเนตตา (Renato Brunetta) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการบริหารรัฐกิจชี้แจงว่า กฎนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานประมาณ 57 เปอร์เซ็นต์ และประหยัดก๊าซได้ถึง 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเท่ากับปริมาณการใช้ก๊าซเฉลี่ยต่อปีที่ 2.7 ล้านครัวเรือน

ที่ผ่านมา อิตาลีนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศคิดเป็น 95 เปอร์เซ็นต์ และมาจากรัสเซียประมาณ 40-45 เปอร์เซ็นต์

นอกจากแผนประหยัดพลังงานที่ว่ามา นับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครน อิตาลียังมองหาทางเลือกอื่นโดยได้ทำข้อตกลงนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากแองโกลา, แอลจีเรียและสาธารณรัฐคองโกเข้ามาทดแทน

รวมถึงยังใช้โอกาสนี้เริ่มต้นสร้างฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งแห่งแรกของประเทศ เพื่อสร้างฐานการเปลี่ยนแปลงไปสู่พลังงานสะอาดและปลดปล่อยตัวเองออกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งอิตาลียังจำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานจากถ่านหินเป็นจำนวนมากในฤดูหนาว

โดยฟาร์มกังหันลมดังกล่าว ให้กำลังการผลิตได้มากกว่า 58,000 เมกะวัตต์ชั่วโมงต่อชั่วโมง (Mwh) เท่ากับความต้องการพลังงานประจำปีที่ 60,000 คน ในแง่ของสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 730,000 ตัน

อ้างอิง