หลายปีก่อน คำว่า AI เป็น Buzzword สุดๆ ในโลกธุรกิจ เพราะยุคนั้น เอะอะอะไรก็ AI ทุกคนทำราวกับว่า AI แก้ได้ทุกปัญหา
ซึ่งในความเป็นจริง ในระยะยาวมันก็อาจจะแก้ได้แทบทุกปัญหาตามประสา AI อัจฉริยะที่เราเห็นในหนังไซไฟน่ะแหละครับ แต่ในความเป็นจริงเช่นกัน กว่า AI จะฉลาดขนาดนั้น มันอาจจะอีกเป็นร้อยปี ซึ่งคนทุกวันนี้อาจจะอยู่ไม่ทันเห็น
แต่ถามว่า AI มันกระจอกเหรอ? ก็ไม่เชิง เพราะจริงๆ ถึงกระแสมันจะหายไปแล้ว แต่คนก็ยังหาทางประยุกต์ใช้ AI ตลอด ซึ่งก็ต้องเข้าใจก่อนว่าพื้นฐานเลย AI มันคือสิ่งที่ทางวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เรียกว่า Machine Learning System หรือมันคือการที่เราสร้างระบบให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้อะไรบางอย่าง ซึ่งมันจะเรียนรู้ได้แค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราสอนมันได้แค่ไหน
ซึ่ง AI มันมีหลายแขนงมาก แต่แขนงที่พัฒนาการไปเร็วที่สุดมันคือแขนงเกี่ยวกับการ “แยกแยะภาพ” ซึ่งมันพัฒนาเร็ว ก็เพราะเราป้อนข้อมูลให้ AI กลุ่มนี้ตลอด ผ่านการใช้แอปแต่งรูป ใช้ระบบตรวจจับว่าเราเป็น “หุ่นยนต์” หรือไม่ ไปจนถึงใช้ Social Network แล้วถูกเอาข้อมูลไปประมวลผล
และการที่ AI กลุ่มนี้มันพัฒนาเร็ว มันก็มีประโยชน์มากๆ เพราะไอ้เทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับที่เริ่มออกมาใช้แล้ว มันก็วางบนฐานเทคโนโลยีนี้ตรงๆ เลย เพราะมันต้อง “เห็นทาง” และรู้ว่าอะไรคือ “คน” อะไรคือ “รถ” ที่มันต้อง “ห้ามชน
และไม่ใช่แค่มันตระหนักภาพวิวทิวทัศน์ได้เท่านั้น แต่มันยังเอามาใช้ตรวจฟิล์มเอกซเรย์อะไรแบบนี้ก็ได้ ซึ่งเขาก็พัฒนามันจนสามารถวินิจฉัยพวก “เนื้องอก” ว่าเป็น “มะเร็ง” หรือไม่ ได้แม่นยำกว่าสายตาของหมออีก
กล่าวคือพูดง่ายๆ ถ้ามีข้อมูลมาสร้างระบบเรียนรู้พอ จะให้คำถามยากแค่ไหน AI ก็ตอบได้ ซึ่งถูกผิดนี่ไม่รู้ แต่ปกติเขาจะพัฒนาให้มัน “แม่นยำกว่ามนุษย์” ได้เสมอ
หรือพูดอีกแบบ ในขณะที่มนุษย์ผู้เชี่ยวชาญ โอกาสในการประเมินผิดอาจ 20% แต่ AI ที่ประสบความสำเร็จมันไม่ใช่ AI ที่มีโอกาสผิด 0% เพราะแค่โอกาสผิดมันต่ำกว่า 20% ก็ถือว่ามัน “เหนือมนุษย์” แล้ว
และล่าสุด AI มันก็ได้ทำในสิ่งที่น่าทึ่งได้อีกครั้ง คือมันมีคนพัฒนา AI ที่เอาไว้ “ตรวจงานศิลปะ” ว่างานที่ AI เห็นมันเป็นงานที่จริงหรือปลอม
ตรงนี้ต้องย้อนก่อนว่า จริงๆ AI มันเอาไปทำอะไรได้สารพัด แต่มันมี “ต้นทุนการพัฒนา” ที่สูงไม่ใช่เล่น ดังนั้นคนก็เลยไม่พัฒนามันไปทำหลายๆ อย่างที่มันไม่ก่อมูลค่าทางเศรษฐกิจ อย่างไรในกรณีของพวกงานศิลปะ มันเป็นตลาดที่ใหญ่โต มูลค่าไหลเวียนเป็นพันล้านทั่วโลก คนเลยมีแรงจูงจะจะพัฒนา AI มาทางนี้
ซึ่ง “ปัญหาใหญ่ของโลกศิลปะ” ในเชิงการค้า หลักๆ มันคือปัญหาที่ว่า “ภาพๆ นี้เป็นภาพของจิตรกรคนนี้จริงๆ หรือไม่? ” ซึ่งปัญหาแบบนี้มันมีตลอดเวลา ไม่ใช่เฉพาะเวลาที่มีการโอนผ่านมือแล้วมีคนสงสัยว่ามีคนเอา “ภาพปลอม” มาย้อมแมวขายเป็นภาพจริงหรือไม่ แต่ปัญหามันมีมากในเวลาที่มันมี “ภาพที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” ของศิลปินคนดังในอดีตโผล่มา ซึ่งภาพพวกนี้ก็มักจะเป็นภาพที่วาดขายตั้งแต่ตอนไม่ดังบ้าง หรือถูกเก็บซ่อนเอาไว้บ้าง
เคสพวกนี้พวกผู้เชี่ยวชาญมันสามารถเถียงกันจะเป็นจะตายได้ว่าภาพจริงหรือไม่ แต่ทั้งหมดมันจะเรียกว่า “ใช้ความรู้สึก” ก็พอได้ ซึ่งนั่นต่างจากการใช้ AI แยกแยะ
ซึ่งโดยทั่วๆ ไป เราทำให้ AI เรียนรู้พวก การใช้สี ฝีแปรง ฯลฯ อันเป็นเอกลักษณ์ของจิตรกรแต่ละคนได้ คือมันเรียนรู้แพตเทิร์นได้แน่นอนว่าจิตรกรคนนี้จะสร้างงานต่างจากคนอื่นอย่างไร และถ้างานมัน “ผิดแพตเทิร์น” ขึ้นมา มันก็จะรับรู้ได้ และบอกมาเป็นตัวเลขได้เลยว่าผิดแพตเทิร์นไปกี่% และการ “ผิดแพตเทิร์นมากเกินไป” นั้นก็น่าจะเป็น “ตัวบ่งชี้” ที่สำคัญกว่าภาพนั้นๆ ไม่ใช่ของจิตรกรดังคำกล่าวอ้างจริง หรือเป็น “ภาพปลอม” นั่นเอง
และก็นี่แหละครับ ประโยชน์ใช้สอยล่าสุดของ AI ที่อยากจะมาอัปเดตให้ฟังกันว่ามันทำได้แล้ว
ทั้งนี้ ก็ตลกดีเหมือนกันที่เราต้องมายุ่งยากสร้าง AI มาตรวจว่าภาพอะไรจริงอะไรปลอม ในยุคของ NFT ที่คนไม่สนอีกแล้วว่าอะไรจริงหรือปลอม อะไรของก๊อปหรือไม่ เพราะสุดท้าย “เจ้าของ” และตัวเองมันก็ถูกบันทึกไว้บน “บล็อกเชน” และงานส่วนใหญ่มันก็ไม่มี “ของจริง” ด้วยซ้ำ เพราะเป็นงานดิจิทัลกันหมด
อ้างอิง
- IEEE. This AI Can Spot An Art Forgery. https://bit.ly/3BTFl7t