อายุเป็นเพียงตัวเลขของจริง! เมื่อในประเทศญี่ปุ่นมีลีกฟุตบอลของกลุ่มผู้สูงอายุ สำหรับการแข่งขันฟุตบอลของทีมผู้สูงอายุในกรุงโตเกียว ที่เหล่านักเตะทุกคน ‘มีอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป’ ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นกระแส และเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยองค์กรดังกล่าวใช้ชื่อว่า ‘ซ็อกเกอร์ ฟอร์ ไลฟ์’ หรือ ‘Soccer For Life’ (SFL) ได้ก่อตั้งลีกฟุตบอลของผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เมื่อปี 2002 ขณะที่เมื่อไม่นานมานี้ ช่วงปีที่แล้วได้สร้างลีกของผู้เล่นที่อายุ 80 ปีขึ้นไป โดยปัจจุบันมีด้วยกัน 3 ทีม อายุเฉลี่ยของผู้เล่นจะอยู่ระหว่าง 82-83 ปี ส่วนอายุมากที่สุดอยู่ที่ 93 ปี
มัตสึฮิโกะ โนมูระ (Mutsuhiko Nomura) อดีตนักฟุตบอลทีมชาติของญี่ปุ่น วัย 83 ปี ที่ได้ผ่านการแข่งขันฟุตบอลโลกมากว่า 18 ครั้ง และอยู่ในวงการนี้มานานถึง 70 ปี กำลังจะได้เข้ามาเป็นสมาชิกในทีม ซึ่งจะได้ลงเล่นนัดแรกในเดือนเมษายนนี้ กล่าวว่า “ปกติแล้วตอนที่เรายังเป็นเด็ก ผู้สูงอายุจะเริ่มต้นที่อายุราว 50-60 ปีเท่านั้น แต่พอตอนนี้กลายเป็นอายุ 80 ปี มันช่างน่าตกใจ”
เนื่องจากอายุเฉลี่ยของชาวญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น โดยคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีจำนวนเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดราว 126 ล้านคน ขณะที่ปัจจุบันมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 85 ปี (จึงกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่คนมีอายุเฉลี่ยมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก)
ทั้งนี้พอคนมีอายุเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น ย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เนื่องจาก 1 ใน 5 ของคนญี่ปุ่นที่มีอายุมากกว่า 70 ปี ยังคงได้รับการจ้างงาน ทางรัฐบาลเองก็สนับสนุนให้คนรับบำนาญเริ่มรับเงินบำนาญช้าขึ้น โดยรับประกันว่าจะให้เงินบำนาญในจำนวนที่มากกว่าเดิม จึงไม่แปลกที่จะเห็นเหล่าพนักงานรักษาความปลอดภัย หรือพนักงานในร้านค้าส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย
ด้าน ชิงโกะ ชิโอซาวะ (Shingo Shiozawa) หนึ่งในสมาชิกทีมเดียวกัน ก็ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า
“การเล่นฟุตบอล ทำให้ได้รับแรงจูงใจในการเลิกสูบบุหรี่ และช่วยให้ฟื้นตัวจากโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบได้เร็วขึ้น”
ทว่าด้วยอายุที่มากขึ้น ข้อจำกัดในการเล่นกีฬาก็มีมากตามไปด้วย ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ในทีมมักมีอาการหลังแข็ง เข่าลั่น และหายใจเหนื่อยหอบ โดยในการแข่งขันของ SFL ในหลายนัดที่ผ่านมา ก็เป็นไปด้วยการเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ บางคนถึงขั้นสะดุดในสนามก็มี
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของลีกฟุตบอลผู้สูงอายุในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นที่มี ‘อายุมากขึ้น’ เรื่อยๆ เพราะการเล่นกีฬาฟุตบอลนี้ นอกจากจะเป็นการออกกำลังกาย ส่งผลดีต่อสุขภาพแล้ว ยังถือเป็นการเปิดโอกาสให้บรรดาผู้สูงอายุได้พบปะเพื่อนฝูงใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น
ที่สำคัญ นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันขอบเขตอายุ เพื่อพร้อมรับมือกับการใช้ชีวิตของสังคมผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย
บ้านเราก็น่าลองดูบ้างนะ
อ้างอิง
- reuters. For Japan’s ageing soccer players, 80 is the new 50. https://reut.rs/41yUhVy