4 Min

เข้าใจธรรมชาติของ ‘รักต่างวัย’ เมื่อ ‘อายุ’ ส่งผลต่ออำนาจในความสัมพันธ์ ช่องว่างระหว่างวัยอาจกลายเป็นช่องโหว่ให้กับการ ‘Grooming’

4 Min
184 Views
06 May 2025

ความสัมพันธ์ต่างวัย (Age-Gap relationships) ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่า และในช่วงหลัง TikTok กลายเป็นแหล่งที่ผู้คนกล้าเล่าประสบการณ์ของตนเองแบบเปิดเผยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่เริ่มต้นตั้งแต่วัยยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไปจนถึงคู่รักที่โตเป็นผู้ใหญ่กันทั้งคู่แต่มีช่องว่างระหว่างวัยถึงหลักสิบปี

คำถามคลาสสิกจึงกลับมาอีกครั้ง “รักต่างวัยเวิร์กจริงไหม?”

แต่ก่อนจะไปถึงคำถามนั้น เราอาจจะต้องทำความเข้าใจจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ลักษณะนี้กันก่อน

มนุษย์ในยุคก่อนเคยเชื่อกันว่า ผู้ชายมักมองหาผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยที่เหมาะสมกับการมีลูก เป็นแนวคิดที่อิงกับธรรมชาติและการสืบพันธุ์ แต่ถ้ามองจากปัจจุบัน แนวคิดนี้ก็มีข้อบกพร่องหลายอย่าง เช่น มันตีกรอบแค่ความสัมพันธ์ชาย-หญิง ทั้งที่ในความจริง คู่รัก LGBTQ+ เองก็มีความสัมพันธ์ต่างวัยเหมือนกัน และที่สำคัญคือ การเลือกคบใครเพราะเขาอายุน้อยกว่าและดูเหมาะกับการมีลูก มันออกจะเข้าข่ายการล่าเหยื่อด้วยซ้ำ

แล้วทำไมบางคนถึงชอบคนอายุมากกว่า?

งานวิจัยหนึ่งพบความเชื่อมโยงระหว่าง ‘อายุ’ กับ ‘ความมั่นใจในตนเอง’ คนที่อายุน้อยกว่ามักจะรู้สึกว่า คนที่โตกว่ามีความมั่นใจ มีความนิ่ง และมีวุฒิภาวะมากกว่า ซึ่งก็เป็นสิ่งที่หลายคนมองว่าน่าดึงดูด ในขณะเดียวกัน คนที่อายุมากกว่าก็มักจะเปิดใจและพร้อมยอมรับคนที่เด็กกว่าเช่นกัน

แค่ความต่างของอายุ ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้ความสัมพันธ์เดินต่อได้หรือไม่ได้ มันยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่ต้องคิด

งานวิจัยในคู่รักเกาหลีพบว่า แค่มีช่องว่างของอายุห่างกันมากกว่า 3 ปีขึ้นไป ก็เริ่มเห็นความเสี่ยงเรื่องภาวะซึมเศร้าในความสัมพันธ์แล้ว และยิ่งอายุห่างกันมาก ความเสี่ยงก็ยิ่งเพิ่ม

จริงอยู่ที่รักต่างวัยหลายคู่อาจไปกันได้อย่างราบรื่น แต่ความสัมพันธ์แบบนี้มักมีเรื่องต้องคิดเยอะกว่า เช่น เราจะมีลูกตอนไหน ใครจะดูแลใครตอนแก่ หรือไลฟ์สไตล์ในช่วงวัยที่ต่างกันจะไปด้วยกันได้จริงไหม

และอีกเรื่องที่สำคัญมากคือ ‘อำนาจในความสัมพันธ์’ 

ในหลายๆ คู่ โดยเฉพาะเวลาที่อีกฝ่ายอายุน้อยกว่ามากๆ หรือเพิ่งเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ยังไม่ค่อยมีประสบการณ์ชีวิตมากนัก ขณะที่อีกคนอายุมากกว่า มีทั้งเงิน มีอาชีพมั่นคง หรือผ่านเรื่องชีวิตมาเยอะกว่า นั่นทำให้ความสัมพันธ์เริ่มไม่เท่ากันตั้งแต่ต้น

บางครั้ง ฝ่ายที่อายุน้อยกว่าอาจรู้สึกไม่กล้าตัดสินใจอะไรเอง หรือรู้สึกว่าต้องตามอีกฝ่ายตลอดเวลา เพราะกลัวโดนมองว่ายังเด็ก หรือเชื่อว่าอีกฝ่ายอายุมากกว่า น่าจะมีประสบการณ์มากกว่า เรายังไม่รู้เรื่อง และสิ่งนี้อาจกลายเป็นพื้นที่ที่อีกฝ่ายใช้เพื่อ ‘grooming’ โดยที่ตัวเราเองก็ไม่รู้ตัว

แล้ว Grooming คืออะไร?

‘Grooming’ คือการที่คนที่อายุมากกว่าค่อยๆ สร้างความสัมพันธ์ ความไว้วางใจ และความผูกพันกับคนที่อายุน้อยกว่าหรือยังไม่บรรลุนิติภาวะ เพื่อค่อยๆ ควบคุมหรือชักนำให้อีกฝ่ายทำตามสิ่งที่ตัวเองต้องการ พูดง่ายๆ คือ ไม่ได้บังคับ แต่ใช้ความใกล้ชิด หรือคำพูดหวานๆ เพื่อให้เด็กไว้วางใจ และยอมเปิดใจมากขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจทำให้เด็กเสียเปรียบหรือหมดสิทธิ์ในการเลือก

หลายคนมองว่าความสัมพันธ์ต่างวัยที่เริ่มตั้งแต่ฝ่ายหนึ่งยังไม่เติบโตพอ อาจมีโอกาสเข้าข่ายเคสนี้ได้โดยไม่ตั้งใจ โดยเฉพาะถ้าคนที่โตไม่รู้จักเบรกหรือไม่เข้าใจว่าตัวเองกำลังมีอำนาจเหนือกว่าอีกฝ่ายอยู่ และถึงแม้ความสัมพันธ์จะเริ่มในช่วงที่อีกฝ่ายบรรลุนิติภาวะแล้วก็ตาม ถ้าระยะเวลาที่คุยกันหรือสร้างความไว้วางใจนั้นเริ่มตั้งแต่ยังเด็ก ก็ยังถือว่าเสี่ยงอยู่ดี

เว็บไซต์ Psych Central ยังเคยพูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า พออายุห่างกันมากก็มีโอกาสที่พลังอำนาจในความสัมพันธ์จะไม่เท่ากัน เช่นคนหนึ่งอยากจริงจัง แต่อีกฝ่ายยังอยากใช้ชีวิต หรือคนหนึ่งเริ่มเข้าสู่ช่วงวางแผนเกษียณ แต่อีกคนเพิ่งเริ่มต้นชีวิตการทำงาน และฝ่ายที่อายุน้อยกว่ามักจะโดนโน้มน้าวให้ตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ ในชีวิตไปทางอีกฝ่ายเสมอ และถ้ามีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวด้วย เช่นฝ่ายที่อายุมากกว่าเป็นคนเลี้ยงดูอีกคนทั้งหมด อำนาจในการตัดสินใจก็ยิ่งไม่เท่ากันไปอีก

นอกจากเรื่องความสัมพันธ์แล้ว สิ่งที่หลายคู่ต้องเจอก็คือ ‘สายตาจากสังคม’ ต้องพูดให้ชัดก่อนว่าบางความสัมพันธ์ต่างวัยอาจไม่เหมาะสมหรือเข้าข่ายล่วงละเมิด โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายหนึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือถึงแม้จะบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่อีกฝ่ายมีอายุมากกว่ามาก ก็อาจก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันอย่างมากในเรื่องอำนาจ และนั่นคือเหตุผลที่หลายคนตั้งคำถามหรือมองด้วยสายตาไม่สบายใจเมื่อเห็นคู่รักที่อายุห่างกันมาก แม้ทั้งสองคนจะเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม

จริงอยู่ที่ว่า ถ้ารักกันจริง อายุก็เป็นเพียงตัวเลข แต่ถ้ามันเข้าข่ายผิดกฎหมาย หรืออีกฝ่ายยังเด็กเกินกว่าจะตัดสินใจอะไรได้เอง ฝ่ายที่โตกว่าควรเป็นคนเบรกและรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ผลักไปให้เป็นเรื่องของ ‘ความรู้สึก’

และในความสัมพันธ์นี้ หากคุณรู้สึกว่าอีกฝ่ายพยายามควบคุม ตัดขาดจากคนรอบข้าง หรือใช้ประสบการณ์ชีวิตมาเป็นเครื่องมือเหนือกว่า นั่นคือสัญญาณอันตราย ไม่ว่าฝ่ายใดจะอายุมากหรือน้อยกว่าก็ตาม

สิ่งสำคัญคือ ต้องสื่อสารกันตรงๆ พูดความต้องการของตนเองให้ชัด และหมั่นตรวจสอบว่าเรายังรู้สึกเท่าเทียมในความสัมพันธ์นี้อยู่ไหม รู้สึกว่ามีสิทธิ์มีเสียงเท่ากันหรือเปล่า นักจิตวิทยาเรียกกระบวนการนี้ว่า ‘การสร้างแผนที่ความรัก’ หรือ Love Maps คือการทำความเข้าใจอีกฝ่ายอย่างลึกซึ้ง ทั้งความคิด อารมณ์ ร่างกาย ไปจนถึงโลกที่เขาหรือเธอเติบโตมา

อายุอาจจะมีผลต่อประสบการณ์ชีวิต แต่อายุไม่ได้เป็นตัวตัดสินว่าความรักจะดีหรือไม่ดี หากคุณอยู่กับใครสักคนที่ทำให้คุณรู้สึกเป็นทีมเดียวกัน เคารพกัน ไม่ควบคุมกัน แม้อายุจะต่างกันหลายปี แต่หากทั้งสองฝ่ายเปิดใจเรียนรู้กันและกันได้ นั่นเองคือความสัมพันธ์ที่น่ารักษาไว้

อ้างอิง