คุยกับ 5 นักแสดง ‘After Dark’ กับบทบาทที่ ‘ดาร์ก’ ขั้นกว่าของซีรีส์สยองขวัญไทย

9 Min
9965 Views
10 Jun 2021

Select Paragraph To Read

  • ‘พิกเล็ท’ กับบท ‘ลดา’ พยาบาลสาวดูแลผู้ป่วยติดเตียง
  • ‘ณ’ กับบท ‘คิว’ ปีศาจที่ถอดแบบจากฝั่งตะวันตก .
  • ‘เบนจมิน’ กับบท ‘ออฟ’ เจ้าของเพจข่าวตกอับ
  • ‘นัท’ กับบท ‘ชัย’ มนุษย์กล้องแอบถ่าย
  • ‘เจน รมิดา’ กับบทสาวลึกลับ ‘ดาว’
  • ‘ครูวุ้น’ ทีม Acting coach

หากใครคิดว่าอาทิตย์อัสดง หรือ ‘After Dark’ จะเหมือนกับซีรีส์สยองขวัญทั่วๆไปบอกเลยว่าคิดผิดเพราะนี่คือซีรีส์ที่ดาร์กสมชื่อ

แน่นอนว่าเป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นสาวน่ารักสดใสอย่างพิกเล็ทมารับบทเป็นพยาบาลสาวดูแลผู้ป่วยติดเตียง หรือนัทพระเอกจากหนังโฆษณาและภาพยนตร์ฟีลกู้ด App War มารับบทเป็นมนุษย์แอบถ่ายที่ชอบล่อลวงสาวไปทำร้ายร่างกาย

วันนี้ BrandThink House จึงชวนนักแสดงทั้ง 5 คน พิกเล็ทชาราฎา อิมราพร, ณภัทร วิกัยรุ่งโรจน์, เบนจมิน-โจเซฟ วาร์นี, นัท-ณัฏฐ์ กิจจริต และเจน-รมิดา จีรนรภัทร มาพูดคุยถึงความท้าทายของบทบาทที่แปลกใหม่ที่พวกเขาเองก็คาดไม่ถึงเหมือนกัน

‘พิกเล็ท’ กับบท ‘ลดา’ พยาบาลสาวดูแลผู้ป่วยติดเตียง

หากเรียงตามไทม์ไลน์ของเรื่องราวทั้งหมด บทสวดศพของผู้เยาว์วัยคือลำดับแรกที่ทำให้เรื่องราวในอาทิตย์อัสดงเกิดขึ้น

นี่คือพาร์ทที่เล่าเรื่องของลดาหญิงสาววัยรุ่นคนหนึ่งที่จับพลัดจับผลูได้ไปทำงานเป็นพยาบาลดูแลหม่อมเจ้าศรีสอางค์ที่คฤหาสน์ลึกลับ ซึ่งทำให้เธอพบกับความลับอันดำมืดของหญิงชราที่นอนป่วยติดเตียง เมื่อวันหนึ่ง ร่างซูบผอมไร้เรี่ยวแรงลุกยืนได้ และผิวพรรณที่เหี่ยวคล้อยไปตามวัยกลับเต่งตึง

แม้เราจะได้เห็นผลงานการแสดงของพิกเล็ทชาราฎา อิมราพรมาแล้วหลายเรื่องด้วยกันแต่เจ้าตัวก็ช่วยยืนยันว่านี่เป็นซีรีส์เรื่องแรกที่เธอได้ฉีกกรอบบทสาวนักเรียนวัยใสมาเป็นเด็กจบใหม่หางานทำที่ฐานะทางบ้านยังไม่สู้ดีนักแถมยังต้องมาดูแลผู้ป่วยที่นอนรอความตาย

ลดา คือตัวแทนวัยรุ่นทั่วๆ ไป เป็นเด็กจบใหม่ที่ต้องการหางานทำ เธอตัดสินใจไปสมัครงานดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่เป็นหม่อมเจ้า เพราะคิดว่ามันน่าจะง่าย ได้อยู่ในวังสวยๆ รวยๆ แต่พอเข้าไปทำงานจริง กลับเป็นวังร้างๆ และได้เจอกับหม่อมเจ้าศรีสอางค์ซึ่งหัวโบราณมาก

สิ่งที่มันสะท้อนสังคมซึ่งจะได้เห็นในตอนนี้เลยคือ เราจะได้เห็นมุมของคนสูงอายุที่ยังยึดติดกับอะไรบางอย่าง และไม่มูฟออนสักที มันมีเรื่องชนชั้นวรรณะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แล้วก็เป็นเรื่องช่องว่างระหว่างวัย เหมือนคนยุคเก่ากับคนยุคใหม่ ที่คุยเท่าไรก็จูนกันไม่ติดพิกเล็ทเล่า

แม้เบื้องหน้าเราจะเห็นพิกเล็ทแสดงออกมาอย่างไหลลื่น แต่เธอเล่าเสริมว่าเบื้องหลังต้องทำการบ้านหนักมากในเรื่องการเข้าถึงบทบาท

การแอ๊คติงของเรื่องนี้แตกต่างจากเรื่องอื่นๆ มันต้องอัพสกิลการแสดงมากขึ้น เพราะพี่นุชี่ (อนุชา บุญยวรรธนะ) ผู้กำกับเป็นคนละเอียดมาก แต่เขาก็ฟรีสไตล์กับการเล่นของนักแสดงเช่นกัน เราสามารถออกแบบได้เลยว่าตัวละครอยากทำอะไร อยากรู้สึกยังไง แต่พอเป็นคนดูแลผู้ป่วยติดเตียงก็เลยต้องไปเรียนรู้การดูแลผู้ป่วยติดเตียงจริงๆ 2 วัน พี่นุชี่ พาไปที่บ้านพักคนชราให้เช็ดฉี่ เช็ดอึจริงๆ เพื่อให้เราคุ้นเคย ถึงแม้ว่าในบทมันไม่ต้องทำขนาดนั้น

หลังเวิร์คช็อปยังกลับมาพูดกับคุณยายเลยว่า หนูดูแลคุณยายได้แล้วนะ เหมือนเราได้อยู่กับคนแก่จริงๆ รู้ว่าเราต้องดูแลเขายังไง เปลี่ยนผ้าอ้อมยังไง ปกติเวลาไปบ้านพักคนชรา อาจจะไปเยี่ยมบ้านเฉยๆ แต่อันนี้มันลงลึกกว่านั้น ผู้สูงอายุบางคนเขาจะมีอัลไซเมอร์ บางคนเขาจะป่วยมากๆ ลุกไม่ไหว มีผู้ป่วยคนชราติดเตียงที่โดนทิ้งจริงๆ หรือบางคนก็ร่าเริงมากเลย

พิกเล็ท เล่าต่อว่า ซีนที่ประทับใจที่สุดคือตอนที่ลดากลายเป็นหม่อมเจ้าศรีสอางค์ ซึ่งเธอต้องสวมบทบาทและถ่ายทอดการแสดงให้เหมือนนักแสดงรุ่นใหญ่อย่างเม้าท์ซี่แถมยังต้องท่องมนต์ร่ายคาถาเป็นภาษาฮิบรูไปด้วยในเทคเดียว ขณะที่ซีนยากสำหรับเจ้าตัวกลับเป็นซีนทะเลาะกับแม่ เพราะเธอแทบจะไม่เคยขึ้นเสียงกับแม่เลยในชีวิตจริง

นอกจากการแสดงที่ท้าทาย พิกเล็ทยังเม้าท์มอยให้เราฟังต่อ

เราอาบน้ำกันตลอดเลยในกองพิกเล็ทพูดพร้อมหัวเราะ

เราถ่ายกันแบบเลอะแล้วเปลี่ยน แล้วก็เลอะแล้วก็เปลี่ยน มันไม่ใช่แค่เลือดอย่างเดียว มันมีหนอน มีแมลงวัน มีอึปลอมด้วย จะจดจำไปตลอดว่าเป็นซีรีส์ที่ได้เลอะที่สุด” (หัวเราะ)

‘ณ’ กับบท ‘คิว’ ปีศาจที่ถอดแบบจากฝั่งตะวันตก .

อีกหนึ่งตัวละครที่ไปสุดทาง และไม่พูดถึงไม่ได้คือคิวปีศาจที่นำพาโรคระบาดมาสู่มนุษย์ ซึ่งได้หนุ่มหล่ออย่างณ ณภัทร วิกัยรุ่งโรจน์มาแสดง

คิวคือตัวละครที่โผล่มาทั้งในเชื้อหลอนออนไลน์และบทสวดศพแห่งผู้เยาว์วัยเขาเป็นวัยรุ่นธรรมดา ค่อนข้างปล่อยตัว บุคลิกเซอร์ๆ คิวมีแฟนเป็นพยาบาลคือลดา ทำให้ต้องเข้าไปพัวพันกับเรื่องทั้งหมด จนตัวละครมันพัฒนาไปเป็นปีศาจ

จริงๆ ต้นแบบของตัวปีศาจตัวนี้ ที่ได้รับข้อมูลมาจากทางผู้กำกับ (พี่อู๋) จะเป็นปีศาจที่พัฒนามาจาก ‘Beelzebub’ เทพแห่งโรคระบาด ซึ่งเป็นเทพฝั่งซาตาน ที่มองว่าโรคระบาดมันคือของขวัญ ทําให้จำนวนมนุษย์ลดลง เพราะมนุษย์นี่แหละคือสิ่งที่ทําลายโลก ทำลายธรรมชาติณ เล่า

ความโดดเด่นของคาแรกเตอร์คิวคือการพลิกบทบาทระหว่างมนุษย์และปีศาจซึ่งต้องถ่ายทอดผ่านสายตาท่าทางและการกระทำ

ณ เสริมว่าตอนที่เป็นปีศาจก็จะมีบุคลิกและเล่ห์เหลี่ยมอีกแบบ

ตอนที่เวิร์คช็อปเราก็สร้างตัวละครนี้ขึ้นมาจากตัวเอง ทําให้ตัวเองรู้สึกตัวใหญ่ เวลาเดินไปไหนก็ไม่กลัวอะไร และอยู่บนโลกนี้มาเป็นพันๆ ปีแล้ว เป็นสิ่งที่รู้สึกไม่ชินเลย ไม่รู้เหมือนกันว่าใส่อะไรเข้าไป แล้วจะออกมาเป็นยังไง

นอกเหนือจากการแสดงแล้ว ณ ยังแชร์ประสบการณ์ในกองถ่ายซีนที่ถือว่าพีคมากๆ ของเรื่องให้ฟัง

ตอนจบของบทสวดศพผู้เยาว์วัย มันจะมีซีนที่เราต้องโดนโรยหนอนแมลงวันทั่วตัว แต่ฉายออกมาไม่เห็นนะ อยู่ไกลๆ เป็นวุ้นอยู่ข้างหลัง (หัวเราะ) แล้วหนอนพวกนี้มันชอบกัด ตอนถ่ายเลยรู้สึกเหมือนโดนมดกัดตลอดเวลา แต่แล้วต้องอยู่นิ่งๆ  ทรมานมาก ตอนแรกๆ ก็ขยะแขยงอยู่ สักพักก็ เทค / เอาใหม่ / อีกรอบหนึ่ง หลังจากนั้นเริ่มหยิบจับอะไรเองได้ กลายเป็นสนิทกับหนอนแมลงวันไปเลย

‘เบนจมิน’ กับบท ‘ออฟ’ เจ้าของเพจข่าวตกอับ

ย้อนกลับไปเมื่อปีก่อน ข่าวสะเทือนขวัญที่ใครๆ ต่างต้องหวาดผวาคือเหตุกราดยิงที่โคราช ในครั้งนั้นการทำงานของสื่อกลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง

จากเหตุการณ์กราดยิงหลายๆ คนก็ใช้โอกาสนั้นในการเรียกยอด Engagement ให้เพจหรือยูทูบช่องตัวเอง หรือต่อยอดอีโก้ของตัวเองที่คิดว่าทำเพื่อช่วยเหลือสังคม แต่ท้ายที่สุดกลับทำให้เหตุการณ์มันแย่กว่าเดิม ตัวละครออฟเองก็มีความคิดแบบนั้นคือหวังดีกับทุกอย่าง แต่บางทีมันเป็นดาบสองคมเบนจมินเล่า

ออฟคือตัวละครหลักของตอนที่ชื่อว่าช่องส่องตายเขาเป็นตัวแทนของอินฟลูเอนเซอร์ที่มียอดผู้ติดตามจำนวนมากอยู่ในกำมือ แต่แล้วเมื่อการไลฟ์สดแบบไม่ระวังของออฟนำไปสู่ความตายของใครอีกคน เขาจึงต้องเข้าสู่วังวนที่หันหลังกลับไม่ได้

ได้ยินชื่อเบนจมิน โจเซฟ วาร์นีก็มั่นใจได้กับการแสดงที่เข้มข้นสมบทบาทแถมก่อนหน้านี้เบนจมินเคยมีผลงานแสดงหนังและซีรีส์สยองขวัญมาก่อนแล้ว

รอบนี้เรารู้สึกว่ามันค่อนข้างหยิบเหตุการณ์จริงมาหลายประเด็นแล้วเอามารวมกันในนั้น ความแตกต่างก็จะมีเหตุการณ์ base on true story เยอะกว่าเรื่องอื่นที่เคยทำมาแล้ว พอมาทำการบ้านมันก็สนุกตื่นเต้นดี

เราถามเพิ่มว่าในฐานะนักแสดงที่เคยเล่นหนังและซีรีส์สยองขวัญมาแล้ว ว่าเห็นความแตกต่างของซีรีส์อาทิตย์อัสดง และทำการบ้านเพื่อเข้าถึงบทบาทออฟให้สมบูรณ์ที่สุดอย่างไร

บทบาทออฟมันก็มีความเหมือนเราตรงที่เป็นลูกคนเดียว เมื่อก่อนเราก็เป็นคนดื้อๆ หน่อย มั่นใจในความคิดตัวเอง แต่ความแตกต่างน่าจะเป็นความสุดโต่งของตัวออฟ ซึ่งเราก็ต้องไปทำการบ้านเราก็ต้องไปดูว่ามนุษย์เราจริงๆ แล้วถ้ามันจะไปด้านใดด้านหนึ่ง มันไปสุดได้แค่ไหน แล้วถ้ามันเป็นเรื่องจริง ตัวละครมันน่าจะรู้สึกแบบไหน อย่างเหตุการณ์บางอย่างที่มันเกิดขึ้นกับออฟ บางทีเราก็รู้สึกว่ามันไม่เมคเซนส์ แต่พอเราไปรู้จักคนที่เขาแบบอาจจะเป็นเจออะไรมาจำเป็นต้องทำหรือมีอะไรผิดพลาดกับสมองเป็นบ้าเป็นอะไรแบบนี้ แล้วเขาก่อวีรกรรมหรือฆ่าใคร ก็เลยทำให้เข้าใจตัวละครออฟมากขึ้น เพราะออฟมันค่อนข้างแบบหลุดแบบสุดโต่งอยู่เหมือนกัน

รู้สึกโชคดีที่ได้เวิร์คช็อปกับพี่วุ้น ซึ่งรู้จักกันมาก่อนอยู่แล้ว เขาค่อนข้างเป็น acting coach ที่ลึกและละเอียดด้วย สิ่งที่ได้เรียนรู้มากๆ อีกอย่างเลยน่าจะเป็นสกิลการจำบท เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องจำบทเยอะที่สุดจริงๆ มีวันออกกองที่ไม่ได้คุยกับใครเลย ซึ่งก็ดีแหละมันมีสมาธิ แต่บางทีคือการที่เข้ากองแล้วไม่ได้คุยกับใครมันจะดีกว่าถ้าเราจำบทได้หมดแล้ว แล้วเราอยู่เงียบๆ แต่อันนี้คือได้อยู่เงียบคอยนั่งทวนบทอยู่ตลอดเวลานั่งถือกระดาษเขาเล่า

เบนจมิน กล่าวปิดท้ายว่าเรารู้สึกว่าเรื่องนี้ค่อนข้างขยี้เรื่องประเด็นต่างๆของสังคมไทยค่อนข้างแบบตรงไปตรงมาดี ดูไม่ค่อยแคร์ คิดว่าคนไทยหลายๆ คนก็หิวอะไรแบบนี้อยู่เหมือนกัน

‘นัท’ กับบท ‘ชัย’ มนุษย์กล้องแอบถ่าย

อาทิตย์อัสดงเป็นซีรีส์สยองขวัญเรื่องแรก แล้วก็ว่าจะไม่เล่นแล้วล่ะ มันหลอนนัทเล่าพร้อมหัวเราะ

เราเคยเห็นณัฏฐ์ กิจจริตในบทพระเอกจากภาพยนตร์เรื่อง App War หรือหนังโฆษณาชื่อดังอีกหลายเรื่อง แต่ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกสำหรับนัทในการเล่นซีรีส์สยองขวัญ

ตอนรูมรณะ มันจะเล่าผ่านตัวละครชื่อชัยเหมือนตอนที่เวิร์คช็อปเนี่ย พี่เขาก็อยากให้ชัยทำตัวเองเป็นเหมือนกับศาลเตี้ยในการทำโทษ เขาจะเข้าใจว่าตัวเองมีหน้าที่ทำโทษผู้หญิงที่คิดว่าทำตัวไม่เหมาะสม ผมว่ามันเป็นโมเดลของคดีไอซ์หีบเหล็กด้วย แค่ว่าซีรีส์มันไม่ได้พูดแบบโจ่งแจ้ง
.

การที่ชัยเขาตัดสินผู้หญิง มันเกิดจากตอนเด็กเขาเห็นพ่อทำร้ายแม่ ซึ่งแม่ไปเป็นชู้กับคนขับรถของพ่อ แล้วชัยก็จะถูกปลูกฝังจากพ่อมาโดยตลอดว่า ถ้าเกิดผู้หญิงไม่ดี ผิดศีลธรรมเราจะทำไรกับเขาก็ได้ ชัยก็เลยโตมากับความเข้าใจตรงนี้ และเริ่มจากการแอบถ่ายคลิป จนเริ่มเอาไปอัพโหลด หาเงินจากการทำร้ายผู้หญิง คือกลายเป็นธุรกิจไปเลย นัทเล่า

เขาเสริมประเด็นต่อว่า ตัวละครอย่าง ชัย ต้องการสะท้อนสังคมว่าการโตมาจากครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ มันไม่จำเป็นต้องกลายเป็นปัญหาเสมอไปก็ได้ ต่อให้โดนปลูกฝังความเข้าใจแบบนี้มา โดนทำร้ายมา แต่เขาเลือกไม่ส่งต่อให้ผู้หญิงได้ ส่วนอีกประเด็นคือ การตีความผู้หญิงว่าดีหรือไม่ดีมันตีความได้หลายบรรทัดฐานมาก บางคนเขาทำแบบนี้เพราะเขามีความจำเป็นหรือไม่ หรือว่าตัวเราก็ไม่มีสิทธิ์ตัดสินใคร.

ยังจำคำถามตอนเวิร์คช็อปของตัวเองได้ว่า เราอยากหาความชอบธรรมให้การกระทำของเรา เพราะเราไม่อยากแสดงเป็นชัยแล้วเราไปทำร้ายผู้หญิง เราอยากรู้สึกว่าเราทำในสิ่งที่ถูก เหมือนคนไปขโมยของเขา คงไม่ได้คิดว่าฉันจะขโมยของ แต่เขาอาจจะคิดว่ากูต้องขโมยของ เพราะโลกแม่งไม่ยุติธรรม หรือว่าลูกฉันจะอดตายแล้ว เรารู้สึกว่าต้องการแรงผลักตรงนั้น ตอนเวิร์คช็อปมันเลยต้องย้อนกลับไปหาว่าอะไรทำให้เขามีตรรกะแบบนี้ แล้วก็เริ่มแกะออกมานัทเล่า

สำหรับความท้าทายในการแสดงอาทิตย์อัสดง นัทเผยว่า

ด้วยความที่มันไม่เคยมาก่อน มันจะไปเทียบเคียงกับชีวิตจริงเราก็ไม่เคย เราก็เลยไม่มี reference อะไรเท่าไหร่ หนังผีเราก็ไม่ค่อยดู เราก็เลยกระโจนลงไปทำเลย มากไปน้อยไปพี่อู๋ (ชยันต์ เล้ายอดตระกูล) กับพี่นุชี่ก็ทยอยปรับให้ แต่ส่วนมากจะน้อยไป (หัวเราะ) คือสิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกว่าแตกต่างคือว่า เรื่องนี้อนุญาตให้เราใช้กายภาพได้เยอะมาก แต่พอใช้กายภาพเยอะ บางครั้งเราก็ลืมเรื่องเบสิก

จริงๆ บรรยากาศในกองถ่ายมันสนุก เราก็รู้สึกว่าเราได้ทำอะไรหลายอย่างดี ได้โหวกเหวกโวยวาย ได้ทรมาน เราไม่เคยโดนติดเอฟเฟ็กต์เยอะแยะขนาดนั้น ทั้งตัว ก็สนุกดี

‘เจน รมิดา’ กับบทสาวลึกลับ ‘ดาว’

บทบาทของดาวถือว่าเป็นตัวละครสำคัญเลยก็ว่าได้ เพราะเธอเปรียบเสมือนปีศาจในร่างมนุษย์ที่คอยควบคุม และทำหน้าที่เหมือนบาปกรรมที่คอยติดตาม นี่จึงถือเป็นความท้าทายของเจนรมิดา จีรนรภัทรที่ต้องมารับบทบาทหญิงสาวที่จินตนาการยาก

เวิร์คช็อปไปหลายรอบมาก เพราะครั้งแรกยังไม่เข้าใจว่าผู้กำกับอยากได้แบบไหน เพราะมันค่อนข้างยากตรงที่ มันไม่ได้เล่นเป็นมนุษย์ซะทีเดียว เล่นเป็นตัวเองไม่ได้เลย ผู้กำกับก็จะให้เราจินตนาการว่าเราเป็นสัตว์อะไร แล้วก็ลองไปดูหนังที่ผู้กำกับแนะนำมาว่าเล่นประมาณไหน อย่างสัตว์ที่เรานึกถึงจะเป็นงูเจนเล่า

แม้จะเป็นบทบาทที่ไม่คุ้นเคยมาก่อนแต่เจนเล่าว่าเธอตั้งใจฝึกฝนอย่างดี แม้ตอนแรกจะแอบกังวลว่าจะแสดงออกมาได้ไม่ดี เพราะบทที่ไกลตัว ที่ต้องทำให้คนเชื่อว่าตัวเราโรคจิต เราน่ากลัว เราลึกลับ

ครั้งแรกก็นั่งคุยกันอ่านบท ครั้งต่อไปก็เริ่มหาตัวตนของตัวละคร ครูวุ้นก็ให้ทำ excercise ให้เราโฟกัสที่หน้าผาก เพราะอยากได้คาแรกเตอร์ฟีลแบบนั้น เหมือนเป็นคนที่ชอบจ้องเข้าไปลึกๆ ให้มันดูน่ากลัว ดูมีอะไรในสายตา เขาเลยให้โฟกัสไปที่หน้าผาก เหมือนเรามีไฟอยู่ที่หน้าผากแล้วเราส่องไปตรงไหน เราก็มองแค่ตรงนั้น เพ่งแค่ตรงนั้น

เจน เล่าถึง ซีนที่ประทับใจอย่างตอนที่ดาวกำลังทรมานชัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ค่อนข้างน่ากลัว ต้องเอาเข็มฉีดยาไปปัก เอากรรไกรมาตัดเสื้อ ตัดหัวนมชัย และถ่ายทำด้วย long take อีกต่างหากแต่ถึงแม้ว่าจะยากเจนก็แสดงออกมาได้ดี

นอกจากความดาร์กที่ต้องส่งออกมาผ่านการแสดง เจนเสริมต่อว่า พาร์ทการทำงานกับเอฟเฟกต์ก็ถือเป็นเรื่องที่แปลกใหม่ และสนุกสำหรับเธอ

เจนได้เรียนรู้การทำงานกับเอฟเฟ็กต์ มันเป็นครั้งแรกที่มีประสบการณ์ตรงนี้ด้วย ว่าทำเอฟเฟ็กต์มันทำงานยังไง แล้วเราจะเล่นยังไง แล้วก็ได้เล่นแนวนี้ด้วยก็เป็นอีกแนวนึงเลย ได้ทำอะไรที่เราไม่ได้ทำ ก็ถือว่าสนุกมากเจนทิ้งท้าย

‘ครูวุ้น’ ทีม Acting coach

นอกจากนักแสดงที่สำคัญแล้ว อีกหนึ่งตำแหน่งที่สำคัญมากๆ คือ ‘Acting coach’ หรือครูสอนการแสดงที่จะมาช่วยเนรมิตให้นักแสดงทุกคนสามารถเข้าถึงบทบาทได้อย่างสมจริง ซึ่งสำหรับครูวุ้นเธอทำหน้าที่ดูแลนักแสดงที่หน้ากองถ่าย

ทุกครั้งจะแซวกับพวกนักแสดงว่า เป็นไงโดนหลอกให้มาเล่นใช่ไหม (หัวเราะ)

เพราะว่ามันไม่ใช่ซีรีส์ที่ใช้ชีวิตกันปกติ คือสมมุติเป็นแบบคลับฟรายเดย์ ซีนมันก็แบบนั่งคุยหรือมีกิจกรรมบ้าง แต่ว่าความท้าทายของอาทิตย์อัสดงมันค่อนข้างเป็นแฟนตาซี ระทึกขวัญ และสยองขวัญ มันไม่ได้อยู่บนโลกความเป็นจริงเลย  ดังนั้น มันท้าทายกับนักแสดงในการเทียบเคียงกับสิ่งที่เราไม่รู้จัก และใช้จินตนาการ เราจะเชื่อโลกที่มันสมมติขึ้นในหนังนี้ยังไงให้มันจริงกับตัวละครมากที่สุด

ครูวุ้นเล่าต่อว่าเราต้องพาให้นักแสดงเขาไปเจอในพาร์ทที่เหมือนไปแตะอารมณ์นั้นๆ ของตัวละครเป็นการซ้อมไว้ก่อน รวมไปถึงบางคนก็จะมีปัญหาในเรื่องเช่น เล่นค่อนข้างเรียล ก็ต้องพยายามปรับจูน ส่วนในพาร์ทของวุ้นคือถ้าไปโค้ชหน้างานเราก็ต้องดูว่าจะใช้วิธีการอะไรในการช่วยเหลือนักแสดง อย่างเช่น นักแสดงบางคนต้องจินตนาการเขาไม่มีปัญหาอยู่แล้ว เราก็จะดูว่า โอเค สมาธิของเขาอยู่กับตัวละครนั้นสุดไหม หรือบางคนที่สมาธิดีแต่คาแรกเตอร์ยังไม่ค่อยแน่น เราก็ต้องตบๆ ให้เขาอยู่ในมู้ดแอนด์โทนและเอเนอร์จี้นั้นให้ได้

ในมุมมองของผู้สอนการแสดงครูวุ้นเสริมว่า อาทิตย์อัสดง ถือเป็นซีรีส์ที่มีความทะเยอทะยาน และเล่นกับเรื่องราวที่ค่อนข้างไกลตัว อย่างในเชิงเทพเจ้า ก็จะเล่าด้วยเทพฝั่งซาตาน ฝั่งตะวันตก ซึ่งอีกมุมหนึ่งก็ถือเป็นเสน่ห์ของเรื่องนี้

สไตล์หรือสิ่งที่เขาอยากนำเสนอมันจะอยู่ในรูปแบบค่อยๆ ร้อยเรียงตัวละคร ความเชื่อมโยงตัวละครมันดูน่าสนใจ มันไม่ได้เล่าจาก a ไป b c d e ไปจน z อันนี้มันมีแบบย้อนกลับไปแฟลชแบ็ก คือคนดูเองก็ต้องทำงาน ต้องตั้งใจดู สำหรับคนที่อินมากๆ เราว่าน่าจะแบบตีความว่าอันนี้คืออะไร อันนี้หมายความว่าอะไร มันไม่ได้ดูง่ายเหมือนซีรีส์หรือละครเรื่องอื่นที่ย่อยง่ายๆ คนดูต้องตีความเยอะครูวุ้น เล่า

นอกจากการแสดงที่ชวนมาติดตามอาทิตย์อัสดงยังสอดแทรกประเด็นทางสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Generation gap, การมีเพศสัมพันธ์แบบป้องกัน, การทำงานของสื่อ และการล่วงละเมิดทางเพศ

ที่จะชวนคุณมาตั้งคำถามว่าคนหรือผีที่น่ากลัวกว่ากัน?