4 Min

รู้ไหมว่า “ช้างแอฟริกา” ใกล้สูญพันธุ์แล้ว

4 Min
2440 Views
01 Apr 2021

ช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองเรา และในอดีตมีแค่สองทวีปในโลกเท่านั้นที่มีช้าง

ย้อนเวลากลับไป เราจะจำกันว่า ช้างที่มีเยอะคือช้างแอฟริกา ช้างที่ใกล้สูญพันธุ์คือช้างเอเชียของบ้านเรา

อย่างไรก็ดี ล่าสุดนี้ มีการประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่า “ช้างแอฟริกา” นั้นก็ใกล้สูญพันธุ์ ดังนั้นก็เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะพูดถึงสัตว์ใกล้สูญพันธุ์

รู้จักช้างแอฟริกา

คนไทยคงไม่มีใครคุ้นเคยกับช้าง ซึ่งช้างบ้านเราคือช้างเอเชีย ดังนั้นคำถามตรงนี้จึงเป็นว่า ช้างแอฟริกามีลักษณะต่างจากช้างเอเชียอย่างไร?

หลักๆ แล้ว ลักษณะที่ดูง่ายที่สุดคือ ช้างแอฟริกาจะตัวใหญ่กว่า และหูกว้างกว่า นอกจากนั้นรายละเอียดก็จะมีอีกเพียบอย่างเช่น ช้างแอฟริกาจะมีหัวโหนกเดียว ในขณะที่ช้างเอเชียจะมีสองโหนก ไปจนถึงลักษณะของปลายงวงและฟันของช้างทั้งสองแบบนั้นไม่เหมือนกัน

ทั้งหมดนี้ จำไปก็ไม่ผิด แต่สิ่งที่อาจผิดไปจากที่เราเคยจำตอนเด็กๆ ก็คือการที่ช้างมีแค่ 2 สายพันธุ์ เพราะในช่วง 10 ปีหลังเขายืนยันตรงกันแล้วว่าที่เราเรียกรวมๆ ว่า “ช้างแอฟริกา” น่ะ จริงๆ ช้างแอฟริกายังแบ่งได้อีก 2 สายพันธุ์

ช้างแอฟริกา (ซ้าย) และช้างเอเชีย (ขวา)

ช้างแอฟริกา (ซ้าย) และช้างเอเชีย (ขวา) | Science Made Simple

สายพันธุ์ซ่อนเร้น

ในทางชีววิทยา จะมีศัพท์ว่า “สายพันธุ์ซ่อนเร้น” (cryptic species) ซึ่งหลักๆ ก็คือภาวะที่สัตว์ที่มีลักษณะภายนอกเหมือนกันจนมนุษย์คิดว่าเป็นสัตว์ชนิดเดียวกัน แต่จริงๆ เป็นสัตว์ต่างชนิด ซึ่งมันสามารถ “พิสูจน์” ได้จากการเอาตัวอย่างรหัสพันธุกรรมมาเทียบกัน และนี่เพิ่งจะเป็นไปได้ในช่วงหลังๆ ที่การทดสอบเหล่านี้แพร่หลายและราคาถูกลง

ช้างแอฟริกาก็เช่นกัน ในตอนแรก มนุษย์เข้าใจว่าช้างในทวีปนี้มีสปีชีส์เดียว แต่พอเริ่มเอาตัวอย่างมาวิเคราะห์พันธุกรรมมากขึ้น ผลมันออกมาชัดเจนมากว่ามี 2 สปีชีส์ โดยเขาประเมินกันว่าสองสปีชีส์นี้วิวัฒนาการแยกกันมายาวนานถึง 5-6 ล้านปีแล้ว หรือพูดอีกแบบคือ มันไม่ใช่สิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันมาตั้งแต่ที่บรรพบุรุษมนุษย์วิวัฒนาการแยกออกมาจากลิมชิมแปนซีอันเป็นสิ่งที่เกิดช่วง 5-6 ล้านปีที่แล้วเหมือนกันนั่นแหละ

2 สปีชีส์ที่ว่านี้ ถ้าจะเรียกง่ายๆ ก็ต้องเรียกว่า “ช้างแอฟริกาทุ่ง” (savannah elephant หรือ bush elephant) กับ “ช้างแอฟริกาป่า” (forest elephant) ซึ่งหลักๆ แล้วลักษณะภายนอกคล้ายกันมาก แต่รายละเอียดจะต่างกัน เช่น ช้างแอฟริกาป่าจะตัวใหญ่กว่านิดหน่อยและเวลาแก่ไปงาจะเป็นสีเหลือง ส่วนช้างแอฟริกาทุ่งจะตัวเล็กกว่าและงาจะสีค่อนข้างขาวตลอดชีวิต นอกจากนี้ สิ่งที่จะเห็นได้ก็คือกะโหลกพวกมันไม่เหมือนกัน แม้ว่าจะดูภายนอกไม่ออกก็ตาม

ช้างแอฟริกาทุ่ง

ช้างแอฟริกาทุ่ง | Wikipedia

การแยกช้างแอฟริกันออกเป็น 2 สายพันธุ์เป็นที่ยอมรับชัดๆ ในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งผลก็คือต้องมีการประเมินสถานการณ์สูญพันธุ์ใหม่หมด และผลก็ออกมาว่า จากเดิม “ช้างแอฟริกา” ที่เป็นแค่ระดับ “เกือบ” ใกล้สูญพันธุ์ พอแยกเป็นสองสายพันธุ์ก็แน่นอนทำให้ปริมาณลดลง ผลคือ “ช้างแอฟริกาทุ่ง” ก็เลยกลายเป็น “สัตว์ใกล้สูญพันธุ์” ส่วน “ช้างแอฟริกาป่า” ก็กลายเป็น “สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ระดับวิกฤติ”

ช้างแอฟริกาป่า

ช้างแอฟริกาป่า | Wikipedia

พูดอีกแบบ ช้างแอฟริกาป่าที่เป็นสายพันธุ์ที่แยกมาใหม่ มีสถานะใกล้สูญพันธุ์ยิ่งกว่าช้างเอเชียเสียอีก และมันกลายเป็นช้างที่ใกล้สูญพันธุ์ที่สุดในโลกไปแล้ว โดยปัจจุบันเหลือน่าจะไม่ถึง 30,000 ตัว ในขณะที่ช้างเอเชียตามธรรมชาติจะเหลือประมาณ 50,000 ตัว

ปัญหาไม่ใช่การล่า

ในเมื่อมันใกล้สูญพันธุ์ ปัญหาที่ทุกคนถามแน่ๆ คือทำไม? และหลายคนก็คงจะเดาว่าเพราะการลักลอบล่าสัตว์เอางาช้าง

ในความเป็นจริง การป้องกันการลักลอบล่าสัตว์ การค้าของป่า ไปจนถึงการแบนการซื้อขายสินค้าที่ทำจากงาช้างทั่วโลกได้ผลดีมากๆ และช้างนั้นตายจากการลักลอบล่ามหาศาลในช่วงหลายปีหลัง อันนี้ต้องให้เครดิตการร่วมทำแคมเปญระดับโลกต่างๆ ของสารพัดองค์กร

แต่สิ่งที่เป็นปัญหาจริงๆ ก็คือ การขยายตัวของถิ่นที่พักอาศัยของมนุษย์ที่ไปเบียดบังที่ทำกินของช้าง และเราก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ช้างนั้นไม่ใช่สัตว์ตัวเล็กๆ แต่มันเป็นสัตว์บกที่ใหญ่ที่สุด มันกินเยอะมาก และป่าที่เล็กลงก็คือการที่พวกมันไม่มีอาหาร

ถามว่าทำไมเป็นเช่นนี้ อธิบายง่ายสุดคือ แอฟริกาตอนนี้เป็นทวีปที่ประชากรขยายตัวรวดเร็วที่สุดในโลก ดังนั้นพื้นที่ที่ประชากรขยายตัวอย่างรวดเร็วแบบนี้ ส่งผลต่อการถางป่า ขยายเมืองกันอย่างมหาศาล จนทำให้ช้างลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่มีคนล่าพวกมันน้อยลง

และแน่นอน เรื่องนี้คือ “ปัญหาโลกแตก” แท้ๆ เพราะถ้าเราไปห้ามคนแอฟริกา “ขยายเมือง” ก็เหมือนไปปฏิเสธความจำเป็นของพวกเขาที่ประชากรขยายตัวไปเรื่อยๆ แต่ในทางกลับกัน ก็ชัดเจนแล้วเช่นกันว่าการขยายเมืองและลดพื้นที่ป่าในแอฟริกานั้นส่งผลลบต่อประชากรช้างในทวีปมาก

ถ้าถามว่าจะ “แก้ปัญหา” นี้ยังไง ตอบง่ายสุดเลยก็คือต้องทำอะไรที่ทำให้แอฟริกาลดการขยายตัวของประชากรทางอ้อม ซึ่งถ้าแบบนี้ฟังดูเหมือนยาก แต่จริงๆ นั้นง่ายมาก เพราะเขาวิจัยกันมาทั่วโลกแล้วว่าการขยายตัวของการศึกษาของผู้หญิงในแทบทุกประเทศ จะทำให้การขยายตัวของประชากรลดลง เพราะผู้หญิงยิ่งเรียนสูง ยิ่งมีแนวโน้มจะมีลูกช้าและน้อยลง ดังนั้นในแง่นี้ การ “ช่วยช้างแอฟริกา” นั้นเราสามารถทำได้ผ่านการสนับสนุนการศึกษากับผู้หญิงในแอฟริกานั่นเอง

และนี่ก็เป็นสิ่งที่ทำไปเถิดครับ เพราะเขาถือว่าเป็นการสนับสนุนสิทธิพื้นฐาน แม้ว่า “ปลายทาง” ของการลดประชากรจะทำให้เกิดปัญหาอีกแบบอย่าง “สังคมผู้สูงอายุ” ก็ตาม

การแบ่งระดับการใกล้สูญพันธุ์ของสัตว์ที่ใช้เป็นมาตรฐานปัจจุบันคือขององค์กรชื่อ IUCN (International Union for Conservation of Nature) ซึ่งแบ่งเป็น 9 ระดับ ดังนี้

  1. สิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการสูญพันธุ์ (LC – Least Concern)
  2. สิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (NT – Near Threatened)
  3. สิ่งมีชีวิตที่จำเป็นต่อการอนุรักษ์ (LR/cd – Conservation Dependent)
  4. สิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Threatened species)
  5. สิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (VU – Vulnerable species)
  6. สิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์ (EN – Endangered species)
  7. สิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (CR – Critically endangered species)
  8. สิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์จากธรรมชาติ (EW – Extinct in the Wild)
  9. สิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปแล้ว (EX – Extinction)

อ้างอิง: