เรามักจะมองว่าสิ่งที่ “อยู่สูงสุดของห่วงโซ่อาหาร” คือสิ่งที่เก่งกาจที่สุด แข็งแกร่งที่สุด อย่างไรก็ดี ถ้าจะว่ากัน “ตามธรรมชาติ” แล้ว “นักล่า” ที่เก่งที่สุดไม่ใช่สัตว์ที่แข็งแกร่งที่สุด แต่เป็นสัตว์ที่มีอัตราการ “ล่าสำเร็จ” สูงสุด
หรือหมายความว่าสัตว์ที่รู้ว่าตัวเองจะล่าอะไรและล่าอย่างไร นั่นคือสัตว์ที่ประเมินกำลังและความสามารถตัวเองได้ดีด้วย ไม่ใช่มีแต่แรง
ในแง่นี้ถ้าดูในพื้นที่อย่างแอฟริกา เราจะเห็นเลยว่าสัตว์ที่ดูยิ่งใหญ่และดูอยู่สูงสุดในห่วงโซ่อาหารแบบ ‘สิงโต’ หรือ ‘เสือ’ นั้นจริงๆ เป็น “นักล่าที่ห่วยแตกมาก” เพราะสัตว์พวกนี้โอกาสล่าสำเร็จไม่ถึง 50% โดยสิงโตนี่ประเมินกันว่าโอกาสล่าสำเร็จอาจจะแค่ 1 ใน 4 ครั้งด้วยซ้ำ
แล้วสัตว์อะไรเป็น “นักล่า” ที่เก่งที่สุดในแอฟริกา คำตอบคือหมาป่าแอฟริกาที่ล่ากวางแอนติโลปและวิลเดอบีสเป็นอาหาร โดยพวกมันเป็นสัตว์ชนิดเดียวในแอฟริกาที่โอกาสล่าสำเร็จสูงถึง 80%
หมาป่าแอฟริกาเป็นญาติห่างมากๆ ของหมาบ้านที่อยู่ในคนละวงศ์ เพราะพวกมันวิวัฒนาการแยกมาหลายล้านปีแล้ว แม้ว่าจะมีความต่าง แต่ความเหมือนกันก็คือความฉลาดเฉลียวและความสามารถในการร่วมกันล่าเป็นฝูง
แน่นอนสัตว์หลายชนิดก็ล่าร่วมกันเป็นฝูง แต่เอาจริงๆ สัตว์พวกนี้ก็สู้หมาป่าแอฟริกาไม่ได้เลย เพราะหมาป่าแอฟริกามีความสามารถในการสื่อสารกันอย่างซับซ้อน หรือพูดง่ายๆ คือพวกมันไม่ได้เป็น “นักล่าอันดับ 1” เพราะความแข็งแกร่งทางกายภาพ เท่ากับความสามารถทางการสื่อสารและทีมเวิร์ค
หรือพูดให้ง่ายกว่านั้น พวกมัน “ฉลาด” นั่นเอง แต่ฉลาดแค่ไหนกันนะ?
มีงานวิจัยพบว่าพวกมันมีความสามารถในการสื่อสารระดับ “โหวต” กันได้ด้วย โดยที่พวกมันจะใช้การ “จาม” ในการออกความเห็นว่า “เคลื่อนที่ไปจากตรงนี้กันเถอะ” ซึ่งถ้า “จาม” กันเกินครึ่งฝูง ทั้งฝูงก็จะเคลื่อนที่ตามหลักประชาธิปไตย
แม้ว่าพวกมันจะฉลาดขนาดนี้ แต่ทุกวันนี้พวกมันมีจำนวนเหลือน้อยมาก ทั้งโลกเหลือ 6,000 กว่าตัว เรียกว่าเป็นแรร์ไอเทมของนักส่องสัตว์เลย
เหตุผลก็คือ “พื้นที่หาอาหาร” ของพวกมันเล็กลง เทียบให้เห็นภาพ พื้นที่ใหญ่ๆ เท่ากรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่หาอาหารของหมาป่าแอฟริกาได้เพียง 2 ฝูงเท่านั้น
พวกมันต้องใช้พื้นที่หาอาหารมาก ทว่าพอเมืองขยายไปเรื่อยๆ ก็ไม่แปลกที่ประชากรของพวกมันจะลดจากการขาดพื้นที่ทำกิน
ซึ่งนี่ยังไม่นับว่ามนุษย์ไปฆ่าพวกมัน และพวกมันก็ติดโรคบางอย่างได้จากญาติห่างๆ ของมันอย่างหมาบ้านอีกด้วย
อ้างอิง
- National Geographic. Leaders of the Pack: Facts About African Wild Dogs. http://on.natgeo.com/2KxaXKV
- NPR. Democracy By Sneeze: When Wild Dogs Must Decide, They Vote With Their Noses. http://n.pr/3aMj1BY