ป่าแห่งความหวัง เมื่อ ‘ป่าฝนแอฟริกา’ ทนความแล้ง เก็บกักคาร์บอนฯ ได้ดีกว่าแอมะซอน
เป็นเวลาหลายปีที่เราเฝ้านิยามว่าป่าฝนแอมะซอนเป็นปอดของโลก แต่สุดท้าย เมื่อมนุษย์ไม่ยอมรักษาดูแล ปล่อยให้มะเร็งลุกลามกัดกิน สถานะปอดของโลกก็สูญสิ้นลงไปอย่างน่าเศร้า
ตามรายงานที่ BrandThink เพิ่งนำเสนอไปเมื่อเร็วๆ นี้ ปัจจุบันผืนป่าแอมะซอนในอาณาเขตประเทศบราซิลได้กลายเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าเก็บกักเข้าเสียแล้ว
ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา แอมะซอนมีส่วนร่วมในการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเกือบ 20% โดยพบการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ออกไปประมาณ 16.6 พันล้านตัน แต่สามารถกักเก็บได้เพียง 13.9 พันล้านตัน
ปอดใหม่ของโลก
ท่ามกลางข่าวร้าย เรายังพบความหวัง ตามข้อมูลของงานวิจัยใหม่บอกว่า ป่าฝนทางฝั่งแอฟริกายังคงทำหน้าที่ดูดซับคาร์บอนฯ ได้ดีอยู่
ป่าฝนในแอฟริกา เป็นผืนป่าขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ 6 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก กาบอง แคเมอรูน กานา ไลบีเรีย และสาธารณรัฐคองโก
การวิจัยพบว่าป่าไม้ทั่วแอฟริกาสามารถกำจัดก๊าซคาร์บอนฯ ได้ 1.1 พันล้านตันต่อปี แม้ในช่วงที่โลกเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (ปี 2015 – 2016) หรือมากกว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนฯ ที่สหราชอาณาจักรปล่อยออกมาในปี 2019 ถึง 3 เท่า
และนับตั้งแต่วันเปลี่ยนผ่านศตวรรษเป็นต้นมา ป่าฝนแอฟริกายังสามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนฯ จากชั้นบรรยากาศได้ถึง 1.7 พันล้านตันต่อปี
ไม่เพียงเท่านั้น ในปีที่โลกร้อนแล้งด้วยอิทธิพลจากเอลนีโญ ป่าฝนที่ใหญ่เป็นรองแอมะซอนก็ยังสามารถยืนเด่นโดยท้าทายดูดซับคาร์บอนฯ ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
แถมยังทำหน้าที่ได้ดีกว่าป่าแอมะซอนหรือป่าฝนที่ใหญ่รองลงมาเป็นอันดับสามในประเทศอินโดนีเซีย
นั่นหมายความว่าป่าฝนแอฟริกามีความทนทานต่อสภาวะอากาศร้อน และความแห้งแล้งได้ดีกว่าป่าใหญ่ของโลกอีกสองแห่ง ที่ไม่สามารถดึงศักยภาพการดูดซับก๊าซคาร์บอนฯ ได้อย่างเต็มที่เมื่อเปรียบเทียบกับปีเดียวกัน
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่าความแข็งแกร่งเหล่านี้ อาจมีที่มาจากระบบรากของต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรงและลึก ทำให้สามารถเข้าถึงน้ำได้อย่างมีเสถียรภาพ ทนทานได้แม้แต่ในช่วงแห้งแล้งแบบผิดปกติ
ป่าแห่งความหวัง?
ต่อผลลัพธ์ของเรื่องราวนี้ ถือเป็นประกายความหวัง (อีกทาง) ในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลังระฆังยกต่อไปดัง แต่จะชนะหรือไม่ ก็คงขึ้นอยู่กับพี่เลี้ยงอย่างเราๆ ว่าจะดูแลผืนป่าให้ยังดีอยู่ได้อีกยาวนานแค่ไหน
ในปี 2020 ที่ผ่านมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก สูญเสียป่าไป 490,613 เฮกตาร์ เป็นอันดับสองรองจากบราซิลที่เสียป่าแอมะซอนไป 1.7 ล้านเฮกตาร์
และที่สำคัญกว่าการหวังพึ่งพิงการทำงานของระบบนิเวศที่เหลืออยู่ คือการหาทางทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ลดลงตามเป้าหมายการประชุม COP21 ที่เราตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะไม่ทำให้โลกร้อนเกิน 1.5 องศา
ในวันที่สมดุลค่อยๆ เปลี่ยนแปลงและสมรรถภาพที่คอยคัดค้านถดถอยลง การแก้ปัญหาร่วมกันหลายๆ ทางต่างหาก ที่นำพาเราผ่านพ้นวิกฤตนี้ได้สำเร็จ มากกว่าการฝากความหวังไว้กับ “วัคซีน” ที่เรียกว่า “ป่า” เพียงอย่างเดียว
อ้างอิง
- Eurekalert. African rainforests still slowed climate change despite record heat and drought. https://bit.ly/3465UXW
- The Guardian. Brazilian Amazon released more carbon than it absorbed over past 10 years. https://bit.ly/3xDMPtw
- World Resources Institute. Forest Pulse: The Latest on the World’ s Forests. https://bit.ly/2TG5AgA