อย่าแย่งปลาน้อง! เพนกวินแอฟริกันเสี่ยงสูญพันธุ์ เพราะคนจับปลาซาร์ดีนไปกินไม่แบ่ง

3 Min
749 Views
07 Mar 2022

‘เพนกวินแอฟริกัน’ หรือ ‘เพนกวินตีนดำ’ เป็นสิ่งมีชีวิตอีกสายพันธุ์ที่ถูกประเมินว่าอยู่ในกลุ่ม ‘สิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์’ (EN – Endangered species) ตามรายงานสถานะการอนุรักษ์ตามบัญชีแดงของ IUCN พูดง่ายๆ ว่า เสี่ยงสูญพันธุ์ไวกว่าสายพันธุ์เพนกวินที่เหลืออยู่บนโลกทั้ง 17 สายพันธุ์

ตามรายงานคาดว่าตอนนี้เหลืออยู่ราวๆ 40,000 ตัว กระจายกลุ่มประชากรอยู่ทั้งชายฝั่งของประเทศแอฟริกาใต้ นามิเมีย โมซัมบิก เท่านั้น

African penguin skeleton l wikipedia

อะไรทำให้เพนกวินแอฟริกันสูญพันธุ์

‘เพนกวินแอฟริกัน’ ถือได้ว่าเป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในช่วงวิบากกรรมแห่งการเอาตัวรอดมาไม่ต่ำกว่า 500 ปี ภัยคุกคามแรกเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ ‘วาสโก ดา กามา’ นักสำรวจชาวโปรตุเกสผู้พบอินเดีย เดินทางมาแวะพักที่แหลมกู๊ดโฮป และท่องสำรวจแอฟริกาจนมาพบเข้ากับสิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยรู้จัก นั่นคือ ‘นกที่บินไม่ได้’ เข้าก็เกิดความสนใจ

ซึ่งในบันทึกการเดินทางระบุเพียงว่า คณะของวาสโก ดา กามา ได้ฆ่าเพนกวินเป็นจำนวนมาก แล้วออกเดินทางต่อ (ไม่ได้บอกว่าฆ่าไปมากแค่ไหน และเพราะอะไร)

แต่ชีวิต ‘เพนกวินแอฟริกัน’ ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงในวันที่กะลาสีเรือและผู้คนเริ่มมาตั้งถิ่นฐานในยุคแรก มนุษย์ได้ฆ่าเพนกวินไปเป็นจำนวนมากสำหรับใช้เป็นอาหาร ตลอดจนเก็บไข่เพนกวินมากิน ถือเป็นภัยคุกคามที่รุนแรง สะเทือนต่อเพิ่มจำนวนเพนกวินเป็นอย่างมาก

บันทึกที่มีหลักฐานเหลืออยู่ ระบุว่าเฉพาะปี ค.ศ. 1900 – 1930 มีการเก็บไข่มากถึง 13 ล้านฟอง บริเวณเกาะแดซเซน (Dassen Island) ที่เดียว

ในช่วงเวลานั้น มนุษย์เราชั่วร้ายขนาดที่ว่า แค่เก็บไข่กินอย่างเดียวยังไม่พอ แต่ทำลายไข่นกที่เริ่มจะฟักเป็นตัวอย่างไม่แยแสสิ่งใด เพียงเพื่อกระตุ้นให้พ่อแม่เพนกวินผสมพันธุ์กันและออกไข่ใบใหม่มาทดแทน

ไข่เพนกวินถือเป็นอาหารโอชาของคนแอฟริกาใต้อยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง มีบันทึกว่าปี 1960 ได้มีการเสิร์ฟไข่เพนกวินในเมนูอาหารของรัฐสภาแอฟริกาใต้

African penguin l wikipedia

ขโมยขี้นก เท่ากับฆ่านก

นอกจากคนเราจะทำร้ายนกที่บินไม่ได้เหล่านี้โดยตรงแล้ว เรายังมีส่วนทำลายระบบนิเวศของเพนกวินอย่างรุนแรงจากการเก็บเอามูลสัตว์ที่ทับถมอยู่ตามเกาะจำนวนมากมาใช้ประโยชน์ในฐานะของปุ๋ย ไม่ว่าจะเป็นมูลค้างคาว นกทะเล หรือเพนกวินก็ตาม

ปุ๋ยหรืออึนกที่สะสมทับถมมานมนานกาเลนั้น จะมีชั้นความหนาหลายเมตร ให้สารที่อ่อนนุ่มแต่มีความเสถียร ทำให้เพนกวินสามารถขุดลงไปทำรังวางไข่ได้ หากไม่มีชั้นปุ๋ยเหล่านั้น เพนกวินต้องวางไข่ในที่โล่ง ไร้สิ่งปกป้องจากความร้อนและพายุ เสี่ยงต่อการถูกขโมยโดยนกนางนวลได้ง่าย

คนเราเพียรขโมยขุดปุ๋ยชนิดนั้นอยู่หลายปี จนมาถึงบางอ้อกันในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งรัฐบาลแอฟริกาใต้ได้ออกกฎหมายห้ามการเก็บไข่และปุ๋ยในอาณานิคมที่เพนกวินอาศัย เพื่อปล่อยไว้ให้พวกสัตว์ได้ทำรัง

ประมงขโมยปลาซาร์ดีน

แต่ชีวิตที่เหมือนจะกลับมาปกติสุขอีกครั้งก็ต้องพบภัยคุกคามใหม่ จากการทำประมงแย่งปลาซาร์ดีน ซึ่งเป็นอาหารที่ดีที่สุดของเพนกวิน และเรื่องนี้กลายเป็นปัญหาคาราคาซังที่ยังหาทางแก้ไขไม่ได้ในปัจจุบัน

อุตสาหกรรมประมงที่ทำให้ปลาซาร์ดีนลดลงอย่างมาก สอดคล้องกับจำนวนเพนกวินที่ลดลงในช่วงพักทำประมงเพราะปลาลดน้อยเอามากๆ จนจำนวนปลากลับมามากอีกหนก็เป็นเวลาเดียวกับที่เพนกวินเพิ่มจำนวนขึ้น

มีความพยายามอย่างมากจากนักอนุรักษ์ที่ได้ทักท้วงในประเด็นนี้ เช่น การขอความร่วมมืองดทำประมงในบริเวณถิ่นที่อยู่อาศัย แต่ผลตอบรับก็ยังไม่เป็นดังหวังสักเท่าไหร่

ในปี 2008 กรมกิจการสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว ได้ทำการวิจัยครั้งใหญ่ โดยปิดพื้นที่ทำประมงรอบๆ หมู่เกาะแดซเซนสลับกับเกาะร็อบเบน ถิ่นที่อยู่อาศัยของเพนกวิน เป็นเวลา 3 ปี เพื่อตรวจสอบว่าการทำประมงมีผลกระทบต่อเพนกวินมากน้อยแค่ไหน

ผลสรุปจากฟากนักอนุรักษ์ระบุว่า สุขภาพของเพนกวินดีขึ้น 48 เปอร์เซ็นต์ และอัตราการรอดชีวิตของเด็กๆ เพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ แต่เจ้าหน้าที่ประมงของรัฐบาลกล่าวว่าภาพดังกล่าวยังห่างไกลจากความชัดเจน บางความเห็นยังอธิบายไว้ว่า การทำประมงช่วยต้อนปลามาให้เพนกวินล่าง่ายขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันมาถึงปัจจุบัน

african-penguins hunting sardine l Aurélie Marrier d’Unienville

นอกจากเรื่องที่กล่าวแล้ว เพนกวินยังต้องเผชิญกับภัยคุกคามอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการรั่วไหลของน้ำมัน โรคระบาดต่างๆ เช่น ไข้หวัดนกและโรคมาลาเรียในนก การปล้นสะดมตามธรรมชาติโดยนกนางนวล แมวน้ำ และลิงซ์เปอร์เซีย อุณหภูมิที่สูงขึ้นเพราะวิกฤตโลกร้อนทำให้พ่อแม่เพนกวินควบคุมภูมิรังสำหรับฟักไข่ได้ยากขึ้น หรือบางครั้งก็อาจเกิดเหตุการณ์ประหลาด เช่น ในเดือนกันยายน 2021 เพนกวินกว่า 60 ตัวถูกฝูงผึ้งบินมาต่อยจนตาย

จากการศึกษาที่ได้ประเมินปัจจัยคุกคามต่างๆ ที่ว่ามาทั้งหมด ได้ข้อสรุปว่า สปีชีส์นี้อาจสูญพันธุ์ตามหน้าที่ภายในปี 2035 ซึ่งหมายความว่าจำนวนของเพนกวินแอฟริกันจะลดลงต่ำมากจนไม่สามารถมีบทบาทอย่างแข็งขันในระบบนิเวศได้อีกต่อไป

อ้างอิง