3 Min

รู้จัก ‘รัฐสวัสดิการแห่งแอฟริกา’ ที่เศรษฐกิจการเมืองดีกว่าไทยในทุกด้าน

3 Min
1223 Views
26 Jul 2022

ว่ากันว่าศตวรรษที่ 21 คือศตวรรษของแอฟริกา เพราะทวีปนี้คือทวีปที่ยังไม่มีโอกาสได้เติบโตทางเศรษฐกิจจริงๆ ขณะเดียวกันก็ยังมีการขยายประชากรเร็วที่สุดในโลก ดังนั้นมันเลยเป็นความหวังของโลก เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ในโลก เศรษฐกิจไม่ค่อยโตแล้ว สังคมก็เริ่มเป็นสังคมผู้สูงอายุกันหมด

อย่างไรก็ดี การที่แอฟริกาเป็นความหวังก็เพราะปัจจุบันมันแย่มาก ทวีปนี้เป็นตัวอย่างของการที่ถ้าประเทศไม่เป็นเผด็จการก็จะเป็นประชาธิปไตยแบบคอร์รัปชันจัดๆ และทั้งหมดทำไปเพื่อดูดรายได้จากการขายทรัพยากรธรรมชาติเข้ากระเป๋า ไม่ว่านั่นจะเป็นน้ำมันหรือสารพัดแร่ต่างๆ

นี่ทำให้เศรษฐกิจแอฟริกาในหลายประเทศก็ไม่ได้ถือว่ายากจนอะไรนัก แต่ระดับความเหลื่อมล้ำก็มหาโหดชนิดที่ไม่ต้องพยายามเอาไทยไปเทียบเลย พวกนี้แย่กว่าเยอะ เพราะอย่างน้อยประเทศที่ถือว่ารวยกว่าชาวบ้านระดับรายได้พอๆ กับไทยอย่างแอฟริกาใต้ และบอตสวานา การกระจายรายได้ก็ยังแย่กว่าไทยเยอะ หรือเอาจริงๆ แม้แต่ประเทศที่รวยกว่าไทยอย่างเซเชลส์ การกระจายรายได้ก็ยังแย่กว่าไทย

ดังนั้นดูเผินๆ ไทยก็คงจะไม่มีอะไรให้เรียนรู้จากแอฟริกา เพราะทวีปนี้ทั้งเศรษฐกิจและการเมืองล้วนพังกว่าไทยแทบทั้งนั้น

แต่นั่นก็ไม่จริงเสมอไป เพราะมันมีประเทศหนึ่งที่น่าจะเหนือกว่าไทยในทุกด้าน กล่าวคือรายได้ต่อหัวมากกว่า การกระจายรายได้ก็ดีกว่า และการเมืองก็ดีกว่าด้วย เลือกตั้งโปร่งใสสม่ำเสมอ และแน่นอนว่าไม่มีรัฐประหารบ่อยๆ เหมือนบ้านเราด้วย

ประเทศที่ว่าคือ มอริเชียส ประเทศเกาะในมหาสมุทรอินเดีย ที่มีประชากรประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งคนในประเทศกว่า 2 ใน 3 หน้าตาคล้ายคนอินเดียเลย คนที่หน้าตาออกไปทางแอฟริกันนั้นมีเป็นส่วนน้อย เพราะประเทศนี้คนอินเดียมาทำงานด้านการเกษตรเยอะมากในยุคอาณานิคม หรือจะบอกว่าประเทศนี้ดูเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียมากกว่าแอฟริกาก็ยังได้

ถามว่าประเทศนี้เจ๋งแค่ไหน ทำไมเขาเรียกประเทศนี้ว่าประชาธิปไตยเต็มใบหนึ่งเดียวในแอฟริกา ระบบการเมืองเทียบเท่าโลกตะวันตก และที่โหดกว่านั้นคือประเทศมอริเชียสนี้เป็นรัฐสวัสดิการด้วย การรักษาพยาบาลฟรีหมด เรียนหนังสือก็ฟรีถึงระดับมหาวิทยาลัย

ใช่แล้ว นี่คือรัฐสวัสดิการสไตล์ยุโรปเลย ซึ่งที่น่าสนใจคือ เขาไม่ได้เก็บภาษีเงินได้สูงด้วย ขั้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเริ่มที่ 10 เปอร์เซ็นต์ สูงสุดที่ 25 เปอร์เซ็นต์ ส่วนภาษีนิติบุคคลเริ่มเก็บที่ 15 เปอร์เซ็นต์ และไปสูงสุดที่ 17 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องไปเทียบกับรัฐสวัสดิการยุโรปหรอก เพราะเขาเก็บภาษีเงินได้น้อยกว่าไทยด้วยซ้ำ

ด้านภาษีมูลค่าเพิ่มของเขาคือ 15 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าไทยที่เก็บ 7 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังต่ำกว่าพวกยุโรปที่เก็บกันประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นก็ไม่แปลกที่รัฐสวัสดิการของเขาจะไม่ได้ครอบคลุมเท่าพวกยุโรปเหนือ

แต่ประเด็นคือ มันเป็นไปได้ยังไงที่จะเก็บภาษีเท่านี้ แล้วสร้างรัฐสวัสดิการได้? ก็เพราะเนื่องจากมีอัตราภาษีต่ำกว่าชาวบ้าน พร้อมทั้งมีระบบการเมืองที่นิ่งพอ ทำให้นักลงทุนนานาชาติแห่กันไปจดทะเบียนบริษัทกันที่มอริเชียส ซึ่งหลักๆ ก็คือพวกต่างชาติที่ต้องการไปลงทุนในแอฟริกานั่นเอง หรือถ้าจะอธิบายอีกแบบ สถานะของมอริเชียสก็คล้ายๆ สิงคโปร์และฮ่องกงในยุคก่อน หรือจะบอกว่าคล้ายๆ ดูไบก็ได้ คือวางตัวเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค

ประเทศที่ได้สถานะนี้ในภูมิภาค ไม่รวยก็แปลกแล้ว เพราะเงินมันไปกองกันที่นั่นหมด แต่ที่นี่อาจต่างจากที่อื่นๆ ก็คือ ตอนแรกมอริเชียสหากินด้วยการเกษตรกับการท่องเที่ยว พอหันมาเอาดีทางการเงินก็ไม่ได้ละทิ้งมิติเหล่านี้ การท่องเที่ยวก็ยังมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจน้องๆ ภาคการเงินอยู่ (คนไปเที่ยวมอริเชียสเยอะเพราะหาดทรายสวยมาก)

ถ้าจะกล่าวโดยรวมๆ เศรษฐกิจของมอริเชียสไม่ได้ขี้เหร่เลย เรียกได้ว่าดีงามตามสภาพ แต่สิ่งที่น่าจะเป็นไฮไลต์จริงๆ ของประเทศนี้คือ ระบบการเมืองที่ดีมาตลอด ไม่ทำให้เกิดการรวมศูนย์ทรัพยากร และไม่ทำให้เกิดวังวนความเหลื่อมล้ำดังที่เกิดในแอฟริกาภาคพื้นทวีป

ซึ่งจะบอกว่ามันตลกร้ายสุดๆ เลยก็ได้ เพราะจริงๆ ประเทศในทวีปแอฟริกานั้นมีทรัพยากรเยอะกว่ามอริเชียสเยอะ มอริเชียสที่ไม่มีแร่ ไม่มีน้ำมันอะไรเลย แต่กลับรวยกว่าประเทศเหล่านั้น 

ประเทศที่มั่งมีทรัพยากรมันก็เลยเชิญชวนให้ทั้งต่างชาติและผู้มีอำนาจในท้องถิ่นเข้ามาตักตวงและแย่งชิงทรัพยากร ต่างชาติแย่งกันขอสัมปทานทำเหมือง เงินที่จ่ายใต้โต๊ะมหาศาลก็ไปกองๆ กันที่พวกนายพลไม่ก็นักการเมืองระดับสูง ซึ่งผลสุดท้ายก็กลายเป็นประเทศที่มีทรัพยากรเยอะๆ และไม่ได้ร่ำรวยเลย เพราะสุดท้ายทรัพยากรพวกนี้มันถูกสูบเข้าส่วนกลางเข้าไปหล่อเลี้ยงระบอบเผด็จการ หรือกระทั่งประชาธิปไตยที่เต็มไปด้วยคอร์รัปชัน

ก็คงไม่ต้องยกตัวอย่างอะไร เพราะเรามีชีวิตอยู่ในสภาพที่ว่านี้อยู่แล้ว

อ้างอิง