3 Min

เศร้าก็ยอมรับว่าเศร้า ไม่ต้องฝืนทำเป็นไหว ไม่ต้องเก็บกดเกินไปจนใจมีปัญหา

3 Min
712 Views
12 Jan 2022

บางคนชอบพูดคำว่า ‘ไม่เป็นไร’ ทั้งๆ ที่มันเป็น

บางคนฝืนยิ้มทั้ง ๆ ที่ในใจกำลังร้องไห้

บางคนชอบหลอกตัวเอง เพื่อความสบายใจของตัวเองและคนรอบข้าง

‘อย่าแสดงความรู้สึกของตัวเองให้คนอื่นรู้’ เป็นคำพูดที่เราได้ยินมาทั้งชีวิต เราถูกสอนมาตลอดว่าต้องเป็นคนเข้มแข็ง มีแต่คนอ่อนแอเท่านั้น ที่แสดงความรู้สึกของตัวเองออกมาให้คนอื่นรู้ ห้ามร้องไห้ให้ใครรู้ว่าเรากำลังเสียใจ ห้ามหัวเราะให้ใครรู้ว่าเรากำลังมีความสุข เพราะถ้าคนอื่นรู้ มันจะเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เขามาเอาเปรียบเราได้

การเก็บความรู้สึกทำให้เราเป็นคนเข้มแข็งขึ้นจริงหรือ?

ไม่มีใครสามารถ ‘ห้าม’ ความรู้สึกของตัวเองไม่ให้เกิดขึ้นในหัวสมองของเราได้ สิ่งที่เราทำได้มีเพียง ‘ควบคุมความรู้สึกของตัวเอง’ กับ ‘หลอกตัวเองผ่านการกระทำและคำพูด’ เพราะฉะนั้น คำตอบของคำถามข้อนี้ก็อาจจริงในระยะสั้น เพราะเราต้องใช้ความอดทนอย่างมากในการบังคับตัวเอง แต่ในระยะยาวนั้นไม่ดีแน่ คุณคริสตัล ฮอชอว์ (Crystal Hoshaw) บรรณาธิการเว็บไซต์ Healthline กล่าวว่า “เมื่อไหร่ก็ตามที่เราปฏิเสธความรู้สึกอ่อนไหว (Sensitivity) ของตัวเอง เท่ากับว่าความเห็นอกเห็นใจต่อคนอื่น (Compassion) ของเราก็จะลดลงหรือหายไปด้วย” ซึ่งนั่นหมายความว่าหากเราปิดบังความรู้สึกของตัวเองนานวันเข้า เราจะกลายเป็นคนเย็นชาไร้หัวใจ ไม่ใช่คนเข้มแข็งอย่างที่เข้าใจผิด

ความเชื่อผิดๆ เหล่านี้ทำให้เราเติบโตมาด้วยความหวาดกลัวในใจ อีกทั้งยังบั่นทอนให้เราไม่กล้าแสดงความรู้สึกของตัวเองออกไป ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเป็นมนุษย์อย่างไรเราก็หลีกเลี่ยงมันไม่ได้ ดังนั้นมันยังไม่สายเกินไปที่เราควรเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับความรู้สึกตัวเองให้ได้

วันนี้เราจึงอยากชวนทุกคนมาทำความเข้าใจ ‘การซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกตัวเอง’ ให้ลึกขึ้นกันอีกหน่อย

‘การซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกตัวเอง’ หมายความว่าเราเข้าใจและยอมรับว่าเรากำลังรู้สึกหรือคิดอะไรอยู่ และแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ไม่หลอกตัวเองเพื่อความสบายใจของใคร ซึ่งเรื่องนี้สามารถเรียนรู้ได้และเป็นหนึ่งในเทคนิคของการพัฒนาตนเอง (Self-improvement) ที่ทำให้เราเข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้น

ใส่ใจความรู้สึกของตัวเองให้มากขึ้น

ความซื่อสัตย์ควรเริ่มจากการเข้าใจและแสดงออกในสิ่งที่ตัวรู้สึก เช่น ถ้าหิวเราก็กิน ถ้าเรามีความสุขก็หัวเราะออกมา และถ้าเราไม่โอเคก็ไม่จำเป็นต้องโกหกว่า ‘ไม่เป็นไร’ ก็ได้ การใส่ใจความรู้สึกของตัวเองเป็นการฝึกฝนความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) ที่ผู้ใหญ่ก็สามารถทำได้เช่นกัน

ยอมรับทั้งด้านดีและไม่ดีของตัวเอง

ความรู้สึกของคนเรามีทั้งด้านดีและไม่ดี บางวันเราก็เราก็อาจจะหงุดหงิด หรือโมโหกับสิ่งที่ตัวเองทำลงไปบ้าง แต่นั่นก็เป็นเรื่องปกติของชีวิตคนเรา เราควรอนุญาตให้ตัวเองเผชิญกับความรู้สึกหลากหลายรูปแบบ เพื่อเราจะได้เข้าใจสาเหตุของความรู้สึกต่างๆ ว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้เราเข้าใจตัวเองได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น และเราก็จะเข้าใจและเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้น

ยอมรับว่าตัวเองไม่รู้บ้าง

คนเราไม่มีทางรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ได้ การยอมรับว่าไม่รู้จึงไม่ได้แปลว่าโง่ แต่เป็นการปรับตัวและเปิดรับตัวเองให้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงออกถึงความถ่อมตนและความจริงใจอีกด้วย

ยิ่งซื่อสัตย์กับตัวเอง ยิ่งสนิทกับคนรอบข้าง

ความสัมพันธ์คงไปไม่รอด ถ้าแต่ละคนไม่ยอมเปิดเผยความรู้สึกของตัวเองออกมาตรงๆ การซื่อสัตย์ต่อตัวเองจึงนับว่าเป็นการเปิดใจต่อกัน ทำให้ทุกคนกล้าคุยกันมากขึ้นและสนิทกันมากขึ้น อีกทั้งการเปิดใจต่อคนรอบข้าง ทำให้เราเห็นจุดบอดในใจเราที่ไม่เคยสังเกตมาก่อนอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หากเรารับรู้ความรู้สึกของตัวเองมากเกินไป ก็อาจทำให้คิดมากจนหาเรื่องโทษตัวเองได้ อย่างที่กล่าวไปในตอนต้นว่าชีวิตของเรามีทั้งเรื่องดีและไม่ดีเป็นเรื่องปกติ ฉะนั้น การซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกตัวเองไม่ได้แปลว่า เราจำเป็นต้องหาความหมายของทุกอย่างในชีวิตเราก็ได้ ปล่อยผ่านไปบ้างแล้วเราจะมีความสุขขึ้น

ถ้าคุณเป็นที่เก็บความรู้สึกของตัวเองมาโดยตลอด พออ่านบทความนี้ก็อาจสับสนอยู่เหมือนกัน ไม่เป็นไรนะ เราเข้าใจว่าการเปลี่ยนมุมมองความคิดของตัวเองมันต้องใช้เวลา เราแค่อยากแนะนำให้คุณรู้จักกับมันก่อนเท่านั้นเอง แต่ถ้าคุณมองว่ามันอาจทำให้คุณมีความสุขขึ้นมาได้ จะลองเอามันไปปรับใช้ก็ไม่สายนะ

อ้างอิง