สงสัยไหมว่าตัวเอง ‘สมาธิสั้น’ ? โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ ภัยร้ายที่คุณอาจมองข้าม
ใครเคยมีอาการหลงๆ ลืมๆ ใจลอย หรือควบคุมตัวเองไม่ค่อยได้บ้าง? แม้อาการเหล่านี้จะคล้ายกับคนที่ทำงานหนักจนเบลอ แต่จริงๆ แล้วนี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของ ‘โรคสมาธิสั้น’ ในผู้ใหญ่ที่หลายคนอาจมองข้ามกัน
สมาธิสั้น ใครๆ ก็เป็นได้
โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder) หรือโรค ADHD เป็นหนึ่งในโรคทางจิตวิทยาที่พบได้ทั่วไป จากข้อมูลของสหพันธ์โรคสมาธิสั้น (World Federation of ADHD) ระบุว่า มีผู้ใหญ่ที่เป็นโรคสมาธิสั้นถึง 6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยเมื่อเทียบกับประชากรโลกทั้งหมด
เมื่อได้ยินอย่างนี้หลายคนอาจตกใจเพราะหลงผิดคิดว่าโรคสมาธิสั้นพบได้ในเด็กเท่านั้น พอโตขึ้นอาการก็จะค่อยๆ หายไป แต่จริงๆ แล้วมีงานวิจัยที่ค้นพบว่า ผู้ใหญ่ก็สามารถเป็นโรคสมาธิสั้นได้เช่นกัน และ 60 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นก็จะเป็นโรคนี้ต่อเนื่องจนถึงวัยผู้ใหญ่
สังเกตตัวเอง
ดร.ลิเดีย ซิโลสกา (Lidia Zylowska) จิตแพทย์จากโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยมินนิโซตากล่าวว่า อาการสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ไม่ได้แสดงออกมาชัดเจนเหมือนในเด็ก แต่แท้จริงแล้วคนที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะขาดทักษะการจัดการตัวเอง (Executive function skills) และประสบปัญหากับการจัดการอารมณ์
ปัญหาดังกล่าวแสดงออกมาในรูปแบบต่างๆ เช่นมีปัญหากับการจดจ่อและการจัดระเบียบความคิด ไม่สามารถวางแผนและจัดการเวลาได้ ส่วนในแง่ของอารมณ์ก็จะมีอาการหัวร้อนง่าย ความอดทนต่ำ ไม่มั่นใจในตัวเอง และควบคุมความเครียดไม่ได้ ซึ่งอาจเรียกรวมๆ ได้ว่าคนที่เป็นโรคนี้จะ ‘ขาดความเป็นผู้ใหญ่’ และแน่นอนว่ามันก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ในชีวิตประจำวันตามมา
โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่จะพบได้ในผู้ชายมากกว่า และจะตรวจพบได้ก็ต่อเมื่อคนคนนั้นมีประวัติเป็นโรคนี้มาก่อน อธิบายง่ายๆ ก็คือต้องมีอาการตั้งแต่เด็กถึงจะตรวจเจอ ซึ่งโรคสมาธิสั้นมีหลายระดับและอาการก็ค่อนข้างต่างกันไปในแต่ละบุคคล
นอกจากนี้ หากคนในครอบครัวคุณมีประวัติเป็นโรคสมาธิสั้นมาก่อน คุณก็จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคนี้เช่นเดียวกัน เนื่องจากสถิติพบว่าเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นก็มักจะมีพ่อหรือแม่ที่เคยเป็นโรคนี้มาก่อนอีกทั้งคนที่เป็นโรคสมาธิสั้นมักจะมีความเสี่ยงโรคทางจิตวิทยาอื่นๆ ด้วย เช่น โรควิตกกังวล (Anxiety disorder) ฉะนั้นการตรวจพบโรคให้เร็วจึงสำคัญ
สมาธิสั้น เป็นได้ก็หายได้ และไม่ใช่เรื่องน่าอาย
อาการสมาธิสั้นสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการบำบัด การฝึกสติและจิตใจ (Mindfulness-based training) โภชนาการบำบัด (Nutrition intervention) และการออกกำลังกายเพื่อรักษาอาการเหล่านี้
โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่คือโรคที่ใครๆ ก็สามารถเป็นได้ ถ้าคุณสำรวจตัวเองแล้วสงสัยว่ามีอาการเข้าข่าย คุณสามารถทำแบบทดสอบเบื้องต้น และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาต่อไป
จงใจจำไว้ว่าการพบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องน่าอาย และการที่คุณค้นพบอาการแต่เนิ่นๆ คุณก็จะยิ่งรักษาได้ไว หายได้ไวมากขึ้น และเป็นผลดีต่อตัวคุณเอง
อ้างอิง
- The New York Times. How Do I Know if I Have Adult A.D.H.D.? https://nyti.ms/33CAN9R
- Clinical Partners. ADHD Test Online. https://bit.ly/3p5tUFk