ต้องมีสักครั้งในชีวิตที่เราจะได้เจอกับคนที่ไม่ว่าเรื่องจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม แต่พวกเขาจะต้องทำให้เป็นเรื่องใหญ่ ทำให้ดูเหมือนว่ามีผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตมากๆ จนถึงขั้นบีบน้ำตาเรียกคะแนนความสงสารเลยก็มี แต่ขอย้ำไว้ก่อนว่า คนเซนซิทีฟ ไม่เท่ากับ ดราม่าควีนทั้งหมด เพราะพวกเขาแค่อ่อนไหว และมีประสาทสัมผัสที่ไวต่อการรับรู้เท่านั้นเอง
สกอตต์ ไลออนส์ (Scott Lyons) ผู้เขียนบทความ เขาเป็นนักจิตวิทยาและนักจิตบำบัดที่ใช้เวลา 20 ปี ในการเฝ้าสังเกตและศึกษาพฤติกรรม ‘เฮเลน’ คนไข้ของเขาที่มีพฤติกรรมดราม่าควีน ซึ่งเฮเลนเล่าให้เขาฟังว่า
“ฉันมักจะสร้างสถานการณ์ขึ้นมาเพื่อให้ตัวเองมีปัญหากับคนรอบข้างได้เสมอ”
คำถามคือ แล้วคนที่เป็นดราม่าควีนเขาทำแบบนั้นไปทำไม? หากจะพูดให้เข้าใจง่ายเลยเพราะพวกเขา ‘ต้องการให้คนอื่นสนใจ’ เนื่องจากรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่างในชีวิตที่กระทบทั้งจิตใจ บุคลิกภาพ การมีปฏิสัมพันธ์ รวมถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง จึงทำให้เกิดการแสดงพฤติกรรมนี้ออกมา ซึ่งมีลักษณะดังนี้
1. พวกเขาจะรู้สึกว่าชีวิตนี้ต้องเจอกับความลำบากเหนือคนอื่นเสมอ คิดว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อของละครชีวิต และเพื่อทำให้ชีวิตดูโกลาหลขึ้นไปอีกเลยใช้ชีวิตให้ยุ่งยากตลอดเวลา คนอื่นจะได้รู้สึกว่าชีวิตของดราม่าควีนช่างน่าเห็นใจ
2. ดราม่าควีนมักติดอยู่กับความดราม่าของชีวิต โดยที่พวกเขาจะคิดว่าตัวเองคือ นักแสดงนำ เพราะอยากได้รับความสำคัญ และหวังว่าผู้คนรอบข้างจะเป็นไปตามบทที่เขาวางเอาไว้
3. มักเลือกใช้คำขยายเพื่อแสดงถึงระดับความหนักหนาสาหัสในชีวิต เช่น ช่วงนี้ชีวิตฉัน “แย่มาก” หรือพูดเปรียบให้ตัวเองดูน่าสงสาร เช่น สำหรับเขาฉันคงกลายเป็นอากาศธาตุไปแล้ว แทนการพูดว่า
“เขาไม่สนใจฟังที่ฉันพูด”
4. เล่าเรื่องเดิมเติมข้อมูล ใส่อารมณ์เพิ่มอรรถรส หมายถึง พวกเขามักจะเล่าเรื่องเดิมให้หลายคนฟังแต่จะเพิ่มระดับความเข้มข้นของอารมณ์ หรือบางคนอาจตีไข่ใส่สีลงไปด้วย เพื่อระบายความคับข้องใจส่วนตัว และทำให้คนฟังรู้สึกเห็นใจ รู้สึกประหลาดใจว่าดราม่าควีนกำลังเผชิญกับความท้าทายในชีวิตขนาดนี้เลยเหรอ
5. แต่ไม่ใช่แค่เรื่องตัวเอง สำหรับดราม่าควีนบางคนด้วยความที่ไม่ค่อยมีใครสนใจ พวกเขาเลยให้ความสนใจกับปัญหาและความท้าทายในชีวิตคนอื่นอยู่เสมอ อาจเป็นการเก็บข้อมูล หรือเพื่อเปรียบเทียบกับชีวิตตัวเองก็เป็นได้
ทีนี้สิ่งสำคัญถัดมาคือ เราจะรับมือกับเหล่าจอมดราม่านี้ได้อย่างไร?
คงต้องกล่าวอย่างจริงใจว่า ขั้นแรก ให้พยายามเข้าใจพวกเขาว่าการกระทำเช่นนี้ อาจเพราะเป็นกลไกป้องกันตัวจากความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น เมื่อเราเข้าใจแล้วก็จะรับมือกับพวกเขาได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น
ต่อมาคือ การพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา และกำหนดขอบเขตในการรับฟังให้ชัดเจนว่า คุณพร้อมที่จะฟังประเด็นอะไร หรือไม่สะดวกฟังอะไรบ้าง เพื่อเป็นการประนีประนอม แต่ถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็แค่เดินออกมาจากความ toxic นั้น
เพราะสุดท้ายแล้วเราไม่สามารถช่วยเยียวยาใครได้ หากพวกเขาไม่ได้ยินยอมพร้อมใจ โดยเฉพาะกับคนที่มักมีพฤติกรรม toxic ใส่คนอื่นมากๆ แต่สำหรับเหล่าดราม่าควีนนั้น ลองตั้งใจฟังสิ่งที่พวกเขาต้องการ แล้วชวนกันคุยถึงแก่นของปัญหาจริงๆ สักครั้ง พวกเขาอาจจะมองเห็นในมุมอื่นเพิ่มมากขึ้น
อ้างอิง
- 7 toxic signs of someone who is ‘addicted to drama,’ according to a psychologist—and how to respond
https://bit.ly/3P3pRr9