‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’ แบบไทยๆ อาจไม่ได้เก่าแก่อย่างที่คิด และเคยเกิดขึ้นใน 3 รัชสมัยเท่านั้น
นักประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์สมัยใหม่ระบุว่าระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งกษัตริย์มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการปกครอง ไม่ได้เป็นสิ่งเก่าแก่โบราณอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นระบบที่เกิดขึ้นในสมัย ร.5 เพื่อรับมือกับการล่าอาณานิคม และการเมืองภายใน ที่ต้องการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ยกเลิกหัวเมืองประเทศราชและระบบราชการแบบเดิม แต่ระบอบถูกใช้ในไทยเพียง 3 รัชสมัยเท่านั้น ก่อนไทยจะเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ประชาธิปไตย โดยหนึ่งในผู้เสนอทฤษฎีนี้คือ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ สมาชิกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปัจจุบัน
ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คืออะไร?
มันคือชื่อเรียกระบอบการปกครองที่ให้กษัตริย์มีอำนาจเบ็ดเสร็จมีสิทธิขาดในการบริหาร หรือกล่าวอย่างง่ายก็คือ กษัตริย์คือกฎหมายและที่มาของกฎหมายทั้งปวง ที่ไม่สามารถถูกจำกัดด้วยสภาหรือขนบธรรมเนียม ปัจจุบันมีประเทศที่ปกครองด้วยระบอบนี้เพียงแค่ 7 ประเทศ คือ ซาอุดีอาระเบีย บรูไน โอมาน เอสวาตินี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และนครรัฐวาติกัน
ที่ผ่านมาหลายคนเชื่อว่าประเทศไทยเองก็ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มายาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัย และเพิ่งปฏิวัติเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย โดยที่กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ.2475 แต่นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ระบุว่าความจริงแล้วประเทศไทยไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มายาวนานขนาดนั้น ถ้าหากเรามานับสมัยการปกครองกันอย่างจริงๆ จังๆ มันเป็นระบบที่เพิ่งเกิดขึ้นในสมัย ร.5 และถูกใช้เพียง 3 รัชสมัยในรัตนโกสินทร์เท่านั้นเอง
ทฤษฎีนี้ขัดแย้งกับความเชื่อที่ว่าไทยปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาตั้งแต่โบราณ แต่อย่าลืมว่า ‘ไทย’ เป็นพื้นที่ที่มีมิติซับซ้อนหลากหลาย อย่างน้อยที่สุดประเทศไทยไม่ได้มีเพียงแค่กรุงเทพฯ และภาคกลาง ในช่วงอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยปกครองด้วยระบบหัวเมืองประเทศราชมาโดยตลอด โดยที่มีหัวเมืองใหญ่ๆ ที่มีผู้คน การปกครอง และวัฒนธรรมของตัวเอง ตั้งแต่ล้านนา นครราชสีมา ปัตตานี และเพชรบุรี เป็นต้น
เข้าใจง่ายๆ คือในแต่ละหัวเมืองมีการปกครองแยกเป็นของตัวเอง มีระบบการปกครองโดยขุนนางท้องถิ่น แต่มีส่งส่วยบรรณาการและแรงงานเข้าศูนย์กลางการปกครองบ้างเมื่อถึงเวลาที่จำเป็น จนกระทั่งเข้าช่วงยุคสมัยล่าอาณานิคมจากโลกตะวันตกเมื่อทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัย ร.5 ได้ปฏิรูปการปกครองขึ้นเพื่อรับมือกับการล่าอาณานิคม โดยการยกเลิกระบบหัวเมืองประเทศราชส่งคนจากกรุงเทพฯ ศูนย์กลางเข้าไปปกครองแทน มีการจัดทำแผนที่เขตแดน เวลานั้นประเทศไทยถึงได้กลายเป็นระบบรวมศูนย์เป็นครั้งแรก
หนึ่งในผู้เสนอทฤษฎีคือนาย นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ระบุว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ใช่ระบบที่มีมายาวนาน หลังจากการปฏิรูปสมัย ร.5 ที่วังหลวงมีอำนาจปกครองแบบเบ็ดเสร็จ ควบคุมอำนาจจากขุนนางศูนย์กลาง และข้าราชการ รวมถึงระบบจัดเก็บภาษี ทำให้ฐานะของกษัตริย์เป็นทั้งประมุขของรัฐและประมุขฝั่งบริหาร ประเทศไทยปกครองต่อเนื่องจนถึงปฏิรูปการปกครองเป็นรูปแบบประชาธิปไตยในปี พ.ศ.2475 ทำให้ หากอ้างอิงจากทฤษฎีนี้จะพบว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกปกครองแค่เพียง 3 รัชสมัยเท่านั้น
โดยนครินทร์ได้ระบุว่าในงานวิจัยและหนังสือ “การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475” ว่าการมองประวัติศาสตร์ไทยแบบดั้งเดิมนั้นเป็นการละเลยเพิกเฉยต่อข้อเท็จจริง และไม่สนใจกลุ่มคนและพลังงานทางสังคมอื่นๆ ที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับชนชั้น
นอกจากการยกเลิกหัวเมืองประเทศราช ยังมีการปฏิรูประบบราชการ และการจัดภาษีเข้าสู่ศูนย์กลาง อ.ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ นอกเหนือจากการ ‘รักษาเอกราช’ ไว้แล้วการปฏิรูปรวมศูนย์ในสมัย ร.5 ยังซ่อนเร้นการเมืองภายในเอาไว้ หนึ่งในนั้นคือการจัดเก็บภาษีรวมศูนย์ ทดแทนการจัดแบบกระจายท้องถิ่นและศักดินาซึ่งทำให้ภาษีอยู่ในมือขุนนางจำนวนมาก ซึ่งสร้างความขัดแย้งภายใน รวมถึงมีการกำเนิดกองทัพประจำการ แทนกองทัพไพร่ราบทหารเกณฑ์แบบศักดินา
ดังนั้นจากทฤษฎีของนักประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์สมัยใหม่ การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ใช่ของเก่าแก่โบราณอะไรอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะเป็นระบอบที่เพิ่งเกิดขึ้นสมัย ร.5 เพื่อรวมศูนย์อำนาจและถูกใช้ต่อเพียงแค่ 3 รัชสมัยเท่านั้นเอง
อ้างอิง:
- ศราวุฒิ วิสาพรม. วารสารการเมืองการปกครอง. “อ่าน” ผลงานนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ “ถอด” วิธีวิทยาและการสร้างองค์ความรู้ ด้านประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองไทย
ไชยันต์ รัชชกูล. อาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ประชาไท. ปฏิรูปสมัย ร.5 ไม่ใช่เพื่อเอกราช ‘ธงชัย’ ชำแหละตัวอย่างแต่ละด้าน ชี้เพื่อ ‘การเมืองภายใน’. https://bit.ly/3oAtqGv - Wikipedia. สมบูรณาญาสิทธิราชย์. https://bit.ly/3qoj0Mw