4 Min

ABLE BANGKOK เอเจนซีที่หยิบ อาร์ต และ Commercial มาเจอกัน เพื่อสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับงานโฆษณา

4 Min
2616 Views
24 Jan 2023

ทุกวันนี้มีครีเอทีฟเอเจนซีหน้าใหม่เกิดขึ้นเยอะมากในบ้านเรา ซึ่งแต่ละเจ้าก็มีความแตกต่างกันไปในแต่ละด้าน ไม่ว่าจะเป็นสไตล์งาน วิธีการในการทำงาน แนวทางไอเดีย หรือแม้แต่ลายเส้นในการสร้างสรรค์ผลงาน

แต่จะเป็นอย่างไรถ้าสมาชิกในทีมเอเจนซีทุกคนเป็นอาร์ติสท์ ?

BrandThink จึงอยากชวนทุกคนไปทำความรู้จักกับครีเอทีฟเอเจนซีของคนรุ่นใหม่ที่อินกับงานอาร์ต และนำความชอบในอาร์ตมาผสานเข้ากับงานในโลก Commercial ที่มีแนวคิดและผลงานที่น่าสนใจอย่าง ABLE BANGKOK

 

มาทำความรู้จักพวกเขาให้มากขึ้น ผ่านบทสัมภาษณ์ของ ‘มาร์ช’ หรือ ‘มาร์ชรูม’ จิวายุทธ จิวาลักษณางกูร Creative Director และผู้ร่วมก่อตั้ง ABLE BANGKOK

ABLE BANGKOK คืออะไร

ถ้าแปลตรงตัว จริงๆ ABLE มันคือ suffix หรือคำที่ใช้ต่อท้ายคำอื่นๆ เพื่อเปลี่ยนความหมายให้สิ่งๆ นั้นเป็นไปได้ เพราะคอนเซ็ปต์ของเรา เราเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรเราก็สามารถสร้างสรรค์ความเป็นไปได้ใหม่ๆ และเราไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่กับการทำโฆษณาอย่างเดียว

จุดเริ่มต้นของการก่อตั้ง ABLE BANGKOK

เราสนิทกันตั้งแต่ที่ทำงานเก่า ทำงานเข้าขากัน มีความคิดคล้ายกัน ต่างคนต่างมาแชร์สิ่งที่ชอบจนรู้ว่าทุกคนมีสิ่งที่ชอบตรงกัน และเราเชื่อว่าเราสามารถทำอะไรได้ ก็เลยเป็นที่มาของการมาเปิดด้วยกัน

 

ช่วงแรกตอนที่เปิด ABLE มันเหมือนเราเปิดโลกใหม่ มีความท้าทายหลายอย่างที่เราต้องพิสูจน์ ทำให้เราผ่านโปรเจกต์ที่มีความหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็น The MUVE คอนโดของคนรุ่นใหม่ของแสนสิริ ที่เราทำร่วมกันกับ CHQ ซึ่ง ABLE รับหน้าที่ฝั่ง Creative เรา Develop ตั้งแต่ Concept ชื่อ Brand ทำ Branding ทำ CI (Corporate identity) ไปจนถึง Communication หรือโปรเจกต์แบรนด์ดิ้งของแสนสิริ คอนโดมิเนียม ที่เราเล่าแนวคิดของแบรนด์ โดยใช้อาร์ต เป็น symbolic ในการเล่าเรื่อง หรือแคมเปญ Rebranding ของศศิ ที่มาปลุกพลัง Girls Powers ผ่านทั้ง Online และ On ground ที่สร้างแลนด์มาร์กให้กลุ่มเป้าหมายมาเช็คอินถ่ายรูป หรือเรื่องล้ำๆ อย่างโซลาร์เซลล์ ของ SCG ไปจนถึงแบรนด์แอลกอฮอล์อย่าง MERIDIAN Brandy ซึ่งแต่ละงานเราก็ใส่ความอาร์ต แอบหยอดสไตล์เข้าไป ให้แบรนด์ยังคงเอกลักษณ์เดิม แต่สดใหม่ขึ้น ทำให้วันนี้เหมือนเราตกผลึกแล้วว่าเราชอบวิธีการทำงานแบบนี้ และใช้ความเป็นอาร์ติสท์ในตัวของทีม สร้างสรรค์ความเป็นไปได้ใหม่ๆ กับทุกโจทย์ที่เราได้รับ

ทำไมการทำโฆษณากับตัวตนความชอบของเราถึงไปด้วยกันได้

รูปแบบการทำโฆษณาในปัจจุบัน มันไม่ได้มีรูปแบบตายตัวเหมือนเดิมอีกต่อไป ทุกอย่างเป็นคอนเทนท์ เราอินกับงานสร้างสรรค์ และเชื่อว่าอาร์ตมันคือเครื่องมืออันทรงพลังที่สามารถเชื่อมโยงคนถึงกันได้ ทั้งในแง่รสนิยมหรือเรื่องราว ที่เมื่อได้เห็น ได้ฟัง ได้อ่าน ได้สัมผัสแล้วจะสร้างความรู้สึกบางอย่าง เราอยากสร้างประสบการณ์ หรือความรู้สึกแบบนี้ให้เกิดขึ้น ระหว่าง Brand และ Consumer เชื่อมโยงทั้งคู่ไว้ด้วยกัน โดยมีอาร์ตเป็น Device หรือคอนเทนท์ เลยเป็นที่มาของการจัด Exhibition LOST+FOUND ที่เป็นงานกึ่งทดลอง หาวิธีใหม่ๆ ที่เอาเรื่องที่พวกเราชอบ มาต่อยอดในงานที่ทำ

 

ที่มาของการทำ LOST+FOUND Art Exhibition คืออะไร

คอนเซ็ปต์ของ Lost and Found : ค้นพบความสวยงามผ่านการสูญเสีย มันเกิดขึ้นจากว่ายิ่งเราโตขึ้นเรายิ่งพบว่าเราสูญเสียอะไรหลายๆ อย่างในชีวิตไป ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องผิดเรื่องถูก แต่มันเป็นเรื่องปกติที่มันเกิดขึ้นได้ เราไม่อยากจะมาโรแมนติไซส์ความสูญเสีย แต่เราอยากทำให้เห็นว่าการสูญเสียบางอย่างมันไม่จำเป็นต้องเศร้าโศก มันเป็นเรื่องราวที่ทุกคน Relate ได้ อย่างการสูญเสียความรัก ความสัมพันธ์ สูญเสียแพสชั่น สูญเสียตัวตน สูญเสียความฝัน หรือความกล้าที่เราเคยมี การมองเห็นความสูญเสียนี้ช่วยทำให้เราเติบโต และสามารถค้นพบความสวยงามของการมีชีวิตได้ เราอยากให้ศิลปินถ่ายทอดเรื่องราวแบบนี้ผ่านภาพวาดที่สะท้อนเรื่องราวของตัวเองได้ดี ตอนเราเลือกอาร์ติสท์ เราเลยเลือกจากคนที่มีความสนใจที่หลากหลาย คาแรกเตอร์ของแต่ละคนก็เลยชัดเจนมาก ทำให้เรื่องราวของแต่ละคนจะมีความเป็นเอกลักษณ์มากๆ มันช่วยให้เรารู้จักตัวเองได้ดีขึ้น

นอกจากตัวศิลปินแล้ว ภายในงานเรายังแอบซ่อนกิมมิกซ์ต่างๆ ไว้โดยคิด Journey จาก Touchpoint ต่างๆ ที่เราอยากให้ทุกคนสามารถสัมผัสประสบการณ์ Lost+Found ไปด้วยกัน เริ่มจากขั้นบันไดที่พร้อมพาคุณก้าวเข้าสู่ 10 สเต็ปของการ Lost ที่คิดมาจากสเต็ปของนักจิตวิทยาจริงๆ

หรือ ตู้กาชาปอง Lost Item ที่ให้คนมาสุ่มค้นพบอะไรที่เคยทำหายไป ของข้างในจะเป็น 3D Print Art Toy ที่เราอินสไปร์มาจาก 10 เรื่องราวของการสูญเสีย นำมาดีไซน์ให้เป็น Symbolic หรือสเปเชียลค็อกเทล 2 รสชาติที่เราได้สปอนเซอร์จาก Sangsom นำมาดีไซน์จากเรื่องความขมของ Lost เป็นเครื่องดื่มสีดำแทนความสูญเสีย และ Found เครื่องดื่มสีทองแทนความหวังของการค้นพบ

 

เรายังมีกล่องจดหมาย Lost Letter ให้คนมาร่วมงานสามารถหย่อนข้อความถึงคนที่เคย Lost อะไรบางอย่างพร้อมกำลังใจ ก่อนจะหยิบข้อความดีๆ ของคนอื่นติดมือกลับบ้าน

 

สุดท้ายแล้วเราอยากให้คนที่มาร่วมงานได้สัมผัสประสบการณ์ต่างๆ ที่เราดีไซน์ไว้เพื่อกระตุ้นให้ลองตั้งคำถามกับเรื่อง Lost+Found ของตัวเองดู และหวังว่าทุกคนจะได้ค้นพบความรู้สึกอะไรบางอย่างติดตัวกลับไป

อนาคตของ ABLE BANGKOK จะเป็นอย่างไรต่อไป จะไปในทิศทางไหน

ในอนาคต (ปี 2023) ABLE ตั้งใจจะใช้ ‘อาร์ต’ เป็นตัวกลางในการดึงแบรนด์กับ Consumer มาเจอกัน เพื่อสร้างอะไรสนุกๆ ใหม่ๆ โดยทำเป็นบริการใหม่ 2 อย่าง ที่เราคาดหวังว่าจะใช้เป็น Flagship ของคอนเทนต์ของเรา

อย่างแรกก็คือ เราอยากทำให้แบรนด์กับลูกค้าได้เชื่อมเข้าหากันด้วยศิลปะ โดยใช้คอนเนกชั่นที่มีเพื่อเชื่อมศิลปินที่มีสไตล์ที่เข้ากับโจทย์ของแบรนด์นั้นๆ เอามาผสมเข้ากับวิธีคิดงานที่ต่อยอดจากเอเจนซี่ เพื่อสร้างประสบการณ์เป็นงานอีเวนต์ หรืออีเวนต์ออนไลน์ที่ตอบโจทย์การตลาดได้ดีที่สุด

 

อีกอย่างหนึ่งคือ มันอาจจะไม่ได้เป็นประสบการณ์ในแง่ของอีเวนต์ แต่เป็นสิ่งที่สามารถจับต้องได้ ก็จะเป็น Art Collectable ซึ่งจริงๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร แต่เราเชื่อว่าความอินของเราจะ ABLE ในการสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่น่าสนุก ตื่นเต้น กับทุกๆ โจทย์ได้