น้ำตาล ‘ครองโลก’ ได้ยังไง? ประวัติศาสตร์ความหวานล้ำค่าในยุโรปที่นำไปสู่การค้าทาส

2 Min
1204 Views
25 Nov 2021

‘น้ำตาล’ จากอ้อยที่เรารู้จักกันคงบอกว่ามันไม่ใช่สารที่ดีนัก สุขภาพของเราไม่ได้ต้องการมัน ในขณะเดียวกันสมองและหัวใจของเรากลับหลงรักมันหัวปักหัวปำจนทำให้อ้อยเป็นพืชที่มีมูลค่ามากเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากธัญพืชและข้าว การผลิตน้ำตาลเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มูลค่ามหาศาลที่ครองผลกำไรมาหลายศตวรรษ

แม้ว่ามันจะนำไปสู่ปัญหาอย่างเช่นโรคอ้วน หัวใจ เบาหวาน แต่ดูเหมือนเราก็ไม่ได้เห็นมันเป็นของอันตรายมากนัก และน้ำตาลก็แพร่ไปตามวัฒนธรรมทั่วโลกอย่างไม่หยุดยั้ง

มนุษย์รักความหวาน และน้ำตาลอ้อยเป็นสิ่งที่เกิดมาเพื่อตอบสนองความรักนั้นของเรา แต่รู้ไหมว่าก่อนที่น้ำตาลจะครองโลกความหวานในปัจจุบัน มันเคยเป็นพืชที่อยู่เฉพาะถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และคนขาวเพิ่งรู้จักสิ่งนี้ไม่นานนัก

เชื่อกันว่าอ้อยกลายเป็นอาหารของมนุษย์โดยบังเอิญ ก่อนหน้านี้มันเป็นพืชที่เอาไว้เลี้ยงสัตว์อย่างเช่นหมูหรือวัวที่สามารถเคี้ยวไปได้นานๆ และมันเป็นพืชที่ขึ้นทั่วไปในสิ่งแวดล้อม ไม่ได้มีการทำเกษตรจริงจังในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่จากหลักฐานการปลูกอ้อยที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ในปาปัวนิวกินี

ก้าวแรกในการครองโลกของน้ำตาลเกิดขึ้นเมื่อมันค่อยๆ เดินทางไปกับนักเดินเรือเมื่อราว 2,000 ปีก่อนเข้าสู่อินเดีย ความหวานอันน่าอัศจรรย์นี้แพร่กระจายออกไปยังตะวันออก เข้าสู่ประเทศจีน และค่อยๆ เข้าไปในเปอร์เซียและโลกอิสลาม กว่าน้ำตาลอ้อยจะเดินทางไปถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียนก็ปาเข้าไปศตวรรษที่ 13 แล้ว

ก่อนหน้านั้นในยุโรปรู้จักความหวานจากเพียงแค่น้ำผึ้ง ผลไม้และหัวหอม แต่ทันทีที่พวกเขารู้จักน้ำตาลไม่น่าแปลกใจที่พวกเขาหลงรักมันในทันที ไซปรัสและเมืองซิซิลีได้กลายเป็นศูนย์กลางน้ำตาลของยุโรปตลอดช่วงยุคกลาง ในสมัยนั้นน้ำตาลไม่ใช่ของที่หาได้ง่าย ความหวานเป็นรสชาติราคาแพงล้ำค่า ถึงขนาดที่มีการเปรียบเปรยว่ามันคือ ‘ทองคำสีขาว’

ชาวยุโรปรักน้ำตาลมาก ขนาดที่มีการสร้างพื้นที่ปลูกไร่อ้อยและมีการผลิตน้ำตาลอย่างจริงจังครั้งแรกที่เกาะชื่อมาเดรา (Madeira) ในมหาสมุทรแอตแลนติกช่วยปลายศตวรรษที่ 15 แต่นั่นยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก ตอนนั้นเองที่ชาวโปรตุเกสตระหนักได้ว่าพวกเขาควรหาสถานที่ปลูกอ้อยที่เหมาะสม และพวกเขาคิดว่าบราซิลมีศักยภาพมากที่สุด นั่นเองคือจุดเริ่มต้นของแรงงานทาสในไร่อ้อยของอเมริกา เพื่อตอบสนองความติดหวานของคนยุโรปในเวลานั้น เมื่อโปรตุเกสได้พื้นที่โลกใหม่ พวกเขาส่งทาสมามากขึ้นเรื่อยๆ จนปลายศตวรรษที่ 16 อุตสาหกรรมน้ำตาลก็หายไปจากเมดิเตอร์เรเนียนย้ายไปสู่อเมริกา

ความหวานที่ทุกคนโหยหาถูกปลูกในไร่อ้อยขนาดมหึมาในบราซิลและบางส่วนของแคริบเบียน พวกเขาต้องการน้ำตาลอย่างมหาศาล โดยเฉพาะเมื่อความนิยมชา กาแฟ พุ่งขึ้นสูงในยุโรป เพื่อปลูกอ้อยรวมถึงพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ตลอดช่วงปี 1501-1867 มีแรงงานทาสที่ถูกจับส่งจากแอฟริกาไปทำงานในทวีปอเมริการาว 12 ล้านคน ซึ่ง 25 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานที่ถูกจับมาเสียชีวิตระหว่างการเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก

การปลูกอ้อยด้วยแรงงานมหาศาลในอเมริกาทำให้ราคาน้ำตาลถูกลงและเริ่มเข้าถึงได้สำหรับคนทั่วไป สำหรับชีวิตแรงงานทาสแอฟริกันเป็นอย่างไรต่อจากนั้น เราเชื่อว่าทุกคนทราบกันดี ส่วนโลกของน้ำตาลเริ่มเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมที่สร้างโรงกลั่นขนาดใหญ่ด้วยเทคโนโลยีก้าวหน้าเพื่อให้ได้น้ำตาลที่มีปริมาณมากที่สุด ตอบสนองความหิวโหยของหวานของผู้คนจนมันกลายเป็นของราคาถูกที่ใครก็เข้าถึง

คราวนี้น้ำตาลจึงได้ก้าวเข้ามาครองโลกผ่านอุตสาหกรรมได้สำเร็จ จนปัจจุบันคนทั่วโลกเสพติดรสชาติความหวานและเริ่มจะยากต่อการควบคุม แม้หลายชาติจะเริ่มมีการเก็บ ‘ภาษีน้ำตาล’ เพื่อลดความหวานและดูแลสุขภาพของประชาชนกันบ้างแล้ว แต่ดูเหมือนว่าคนทั่วไปก็ยังรักน้ำตาลอย่างที่ไม่อยากจะเลิกกันอยู่ดี

อ้างอิง: